posttoday

อ.ปณิธาน แนะยกระดับคุมอาวุธปืน-สื่อปรับวิธีนำเสนอในช่วงวิกฤต

10 กุมภาพันธ์ 2563

รศ.ปณิธาน ถอดบทเรียนประเด็นทางรอดกรณีสังหารหมู่ แนะเร่งยกระดับคุมอาวุธปืน-สื่อปรับแนวทางการนำเสนอ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง โพสต์เฟซบุ๊กแนะนำการถอดบทเรียนในประเด็น "ทางเลือกและทางรอดหลังกรณีสังหารหมู่" เพื่อเป็นความรู้ หลังเกิดเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความมั่นคง เริ่มต้นอธิบายว่า “การก่อเหตุร้ายเป็นวงกว้าง” หรือ “การสังหารหมู่” หรือ การสังหารผู้คนเป็นจำนวนมากๆ ในครั้งเดียวกัน นอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวผู้ที่สูญเสียแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นของประชาชนโดยทั่วไปด้วย อีกทั้งยังอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศในระยะยาว จึงจำเป็นจะต้องมีมาตราการที่เหมาะสมมาป้องกันหรือรองรับ

ในสหรัฐอเมริกา การสังหารหมู่โดยการใช้อาวุธปืน ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกิดขึ้นทุกๆ 12-13 วันจากการศึกษาของ Lankford ที่ไปศึกษาเหตุการณ์ใน 171 ประเทศ เมื่อปี 2016 ซึ่งของอเมริกานับเป็นสัดส่วนกว่า 30% เมื่อเทียบกับของทั้งโลก

ในประเทศไทย ยังไม่มีการรวบรวมสถิติแบบเดียวกัน และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นที่โคราช ก็ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย แต่เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องถอดบทเรียนของเราเองและนำเอาบทเรียนของประเทศอื่นๆ ที่คล้ายกับเรามาปรับใช้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันขึ้นอีก

มาตรการของหลายๆ ประเทศที่น่าสนใจ ก็คือ

1.เร่งรัดยกระดับมาตรการการรักษาความปลอดภัย การควบคุมอาวุธปืน ทั้งในเมือง ในศูนย์การค้า และในชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย หรือเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ

2.เยียวยาผู้ที่สูญเสียและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรวดเร็ว

3.บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยาของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

4.เริ่มดำเนินการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รวมทั้งการปรับแนวทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และการสื่อสารสมัยใหม่ของบุคคล

สิ่งที่พูดกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเวลานี้ ก็คือการสื่อสารในยามวิกฤต ซึ่ง James Meindl และ Jonathan Ivy (ในวารสาร American Journal of Public Health เมื่อสามปีก่อน) ได้ชี้ให้เห็นว่าองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ได้ศึกษาเรื่องนี้มากว่า 50 ปีแล้ว และก็มีข้อแนะนำที่น่าสนใจว่า

1.ไม่ควรใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในการรายงานข่าว

2.ไม่ควรพาดหัวข่าวใหญ่โตเกินไป

3.ไม่ควรด่วนสรุปว่าเป็นเพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เพราะในความเป็นจริง จะมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน

4.ไม่ควรจะรายงานซ้ำ ๆ หรือย้ำบ่อย ๆ

5.ไม่ควรจะนำเสนอขั้นตอนการสังหารโดยละเอียด อันจะนำไปสู่การลอกเลียนแบบ หรือการเรียนรู้ได้ง่าย

6.จำกัดการนำเสนอของรูปภาพและคลิปวีดิโอให้น้อย เพื่อลดผลกระทบลง

7.ระมัดระวังในการนำเสนอ ไม่ให้ผู้กระทำผิดถูกยกย่องชื่นชมหรือเป็นแบบอย่าง รวมทั้งเรื่องการสังหารตัวเอง

ซึ่งข้อแนะนำดังกล่าว ทางรัฐบาลอเมริกัน โดย FBI ได้นำไปเป็นนโยบายในการสื่อสารชื่อว่า “อย่าไปเอ่ยชื่อเขา” (Don’t Name Them) และได้นำไปใช้ในกรณีที่อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเรือนจำชาวอเมริกันที่มีพ่อแม่อพยพมาจากอัฟกานิสถานได้สังหารคนที่มาเที่ยวไนต์คลับไป 49 คนและบาดเจ็บอีก 53 คน ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา เมื่อหลายปีก่อน

นอกจากนี้ James Meindl และ Jonathan Ivy ยังได้มีข้อเสนอที่น่าสนใจในการสื่อสารอีก 5 ประการ คือ

1.สื่อสารให้เห็นถึงความน่าละอาย การละเมิดศีลธรรม จรรยาบรรณ ความขลาดกลัวของมือสังหาร ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ผู้ทำผิดถูกชื่นชมหรือยกย่อง

2. หลีกเลี่ยงการอธิบายเหตุผลของมือสังหาร เพราะซับซ้อน และจะทำให้คนอื่นที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน อาจเลือกแนวทางรุนแรงเป็นทางออกได้

3.ลดเวลาออกอากาศให้สั้นหรือให้พื้นที่การสื่อสารให้น้อย เพราะการให้เวลาหรือให้พื้นที่สื่อมาก ๆ จะเป็นการให้รางวัลและเพิ่มสถานะทางสังคมของผู้ทำผิด

4.ควบคุมการให้ข่าวและการแถลงข่าวสดหลังเหตุการณ์ ถึงแม้ว่าอาจจะมีความต้องการบริโภคข้อมูลเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้เกิดความน่าสนใจหรือ “ความตื่นเต้น” เกินความจำเป็น

5.นำเสนอแต่ข้อเท็จจริงสั้น ๆ อย่าผลิตหรือทำซ้ำอะไรที่เป็น “ดราม่า” โดยเฉพาะไม่ควรพาดหัวว่า “Breaking News” เพื่อสร้างความเร้าใจเพิ่มขึ้น

6.ไม่ควรลำดับเหตุการณ์โดยละเอียดทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการสังหาร เพราะรายละเอียดเหล่านี้จะถูกนำไปลอกเลียนแบบได้ง่าย

ทั้งหมดนี้ สังคมไทยก็คงจะต้องพิจารณากันว่า อะไรจะเป็นทางเลือก อะไรจะเป็นทางรอดของเรา จากความรุนแรงที่น่ารังเกียจและสมควรได้รับการประณามเช่นนี้