posttoday

มท.-ทส. เตรียมถกแก้ปัญหา PM 2.5 พรุ่งนี้

22 มกราคม 2563

ประวิตร นำทีม มท.-ทส. ถกแก้ปัญหา PM 2.5 พรุ่งนี้ "บิ๊กป๊อก" พร้อมหาแนวทางที่ดีที่สุด ด้าน "วราวุธ" ขออภัยในความไม่สะดวกบางมาตรการกระทบประชาชน มอบการบ้านกรมควบคุมมลพิษ ปรับปรุงแอพฯ วัดค่าฝุ่น หลังนักวิชาการ-แพทย์ท้วงไม่เรียลไทม์

ประวิตร นำทีม มท.-ทส. ถกแก้ปัญหา PM 2.5 พรุ่งนี้ "บิ๊กป๊อก" พร้อมหาแนวทางที่ดีที่สุด ด้าน "วราวุธ" ขออภัยในความไม่สะดวกบางมาตรการกระทบประชาชน  มอบการบ้านกรมควบคุมมลพิษ ปรับปรุงแอพฯ วัดค่าฝุ่น หลังนักวิชาการ-แพทย์ท้วงไม่เรียลไทม์

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า เดิมมีแนวทางของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ที่วางไว้อยู่แล้วว่าถ้าระดับฝุ่น PM 2.5 ความเข้มข้นไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆที่จะดำเนินการในภาวะปกติ แต่หากเกิน 50 -75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้ามากวดขันสาเหตุ และถ้าเกิน 76-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีมาตรการกำจัดแหล่งกำเนิดฝุ่นเช่นการใช้กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายจราจร แต่ถ้าเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าเรื่องผลกระทบต่อประชาชนนั้นต้องให้แพทย์มีคำยืนยันชัดเจนว่าค่าฝุ่นละอองหนาแน่นเท่าไรประชาชนอยู่ในพื้นที่นั้นๆเท่าไร จนจะเกิดปัญหาต่อสุขภาพและต้องใช้ยาแรง อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (23 ม.ค.) ที่จะมีการประชุมแก้ปัญหา pm 2.5 ก็จะมีการหารือให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด เช่น การห้ามใช้รถนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก เราจึงต้องคิดแก้ปัญหาให้ตรงจุดเกาให้ถูกที่คันและที่สำคัญต้องให้คนยอมรับ ทั้งนี้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดในประเทศไทยคนไทยเป็นคนทำให้เกิดและคนไทยเองที่ได้รับผลกระทบดังนั้นเราจึงต้องไปแก้ปัญหาที่สาเหตุ
      
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการหยุดเรียนเป็นสิ่งที่นักเรียนไม่พึงประสงค์ แต่การลดการจราจรบนท้องถนนในระยะสั้นได้ ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยได้อย่างมาก เพราะตัวเลขบ่งชี้ชัดเจนว่าปริมาณ pm 2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯนั้น 76% มาจากยานพาหนะบนท้องถนน ซึ่งหมายถึงรถทุกชนิด อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าทุกแอพพลิเคชั่นที่ทุกๆ คนใช้ดูอยู่นั้นตนเองก็ติดตามอยู่เช่นกัน แต่ขอแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับการใช้แอพพลิเคชั่นที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศที่บางแอพพลิเคชั่นมีค่าตัวเลขที่น่ากลัว ซึ่งเป็นการวัดค่าหลายส่วน ทั้ง pm10 pm15 pm20 และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ แต่หากดูตัวเลขpm2.5 จะเป็นตัวเลขสีเทาและไม่ได้เกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นักวิชาการและแพทย์ระบุว่า แอพพลิเคชั่น ที่กรมควบคุมมลพิษใช้ดูเป็นหลักอยู่นั้นไม่สามารถตรวจวัดได้แบบเรียลไทม์นั้น  นายวราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นการบ้านที่กรมควบคุมมลพิษต้องไปเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูล แต่ตนเชื่อว่าประชาชนชาวกทม. มีความตื่นตัวเรื่องคุณภาพอากาศ สุขภาพ เพราะห็นว่าหลายคนได้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งตนก็ต้องกราบขออภัยในความไม่สะดวก โดยทางทส.กำลังพยายามทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งการประสานงานข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในวันพรุ่งนี้(23 ม.ค.) จะเป็นประเด็นที่นำเข้าหารือในที่ประชุมที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมา เพราะเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมย้ำเสมอว่าการจะทำอะไรต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนด้วย ดังนั้นแต่ละมาตรการที่จะออกมานายกฯ ให้คำนึงถึงข้อกังวลต่อประชาชนให้มากที่สุด ทั้งเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะปอด ดังนั้นบางมาตรการที่ออกมาอาจจะกระทบต่อประชาชนทำให้เกิดความไม่สะดวกบ้างก็ต้องขออภัย

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ไว้ในเมืองหลวงเหมือนที่ประเทศจีนมีมาตรการนี้แล้วนั้น  รมว.ทส. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาที่รัฐบาลพิจารณา แต่หลายคนอาจมองว่าเป็นการแก้ปลายเหตุ ทั้งนี้สิ่งที่ทุกคนต้องการเห็นคือพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นในกทม. ถ้าประชาชนปลูกกันคนละต้นทั้งหน้าบ้านและพื้นที่สาธารณะก็จะช่วยลดปริมาณมลภาวะได้ แต่การมีเครื่องฟอกอากาศตามจุดต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยงในกทม.ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะมีการหารือกัน