posttoday

"ธนพร"ชี้เศรษฐกิจซบเซา จี้ให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ

13 พฤศจิกายน 2562

"ธนพร"ชี้เศรษฐกิจซบเซา โรงงานแห่ปิดตัว บางแห่งลดเวลาทำงาน เซ่นพิษเศรษฐกิจ ส่งออกวูบ คำสั่งซื้อลดฮวบ กระทบปัญหาปากท้องประชาชน ลอยแพแรงงาน จี้ให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ธนพร"ชี้เศรษฐกิจซบเซา โรงงานแห่ปิดตัว บางแห่งลดเวลาทำงาน เซ่นพิษเศรษฐกิจ ส่งออกวูบ คำสั่งซื้อลดฮวบ กระทบปัญหาปากท้องประชาชน ลอยแพแรงงาน จี้ให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ

นางสาวธนพร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจชะลอตัว ซบเซา ต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตเซ่นพิษเศรษฐกิจ ส่งออกวูบ นิคมอุตสาหกรรม โรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ กลาง อีสานเจอปัญหาไม่น้อยหน้ากัน คำสั่งซื้อสินค้าหด แห่ลดกำลังการผลิต ลดเวลาทำงานจาก 6 วันเหลือ 4วัน/สัปดาห์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องประดับเริ่มออกอาการ หลายโรงงานน่าห่วง จากการสำรวจในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม พบว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามานาน ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ล่าสุดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายโรงงานทั่วทุกภาคอุตสาหกรรมมีการประกาศหยุดเวลาทำงานเพิ่ม ลดกำลังการผลิต ปลดพนักงาน รวมทั้งปิดกิจการ จากก่อนหน้านี้โรงงานผลิตและขายส่งกระเป๋าเดินทางใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประกาศหยุดกิจการ ขณะที่บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโตพาร์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ประกาศให้มีการหยุดงานชั่วคราวบางส่วน ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม ถึง 25 ธันวาคม 2562 โดยยังจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับพนักงาน ในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 นอกจากนี้หลายโรงงานทะยอยปิดและลอยแพลูกจ้างจากทยอยปิดโรงงานปัญจากเศรษฐกิจตกต่ำ

นางสาวธนพร กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์แรงงานด้านอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีนิคมใหญ่ อยู่ 2 แห่ง ได้แก่ นิคมบางปะอิน นิคมบ้านหว้า (ไฮเทค) ยังทรง ๆ ไม่มีการประกาศปิดกิจการ แต่ใช้วิธีปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจด้วยการลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ จากที่เคยผลิต 100% ลดเหลือ 70% ขณะเดียวกันก็ลดเวลาการทำงาน จากเดิม 6 วัน/สัปดาห์ เหลือ 4 วัน โรงงานที่น่าเป็นห่วงมากสุดอยู่นิคมบ้านหว้า (ไฮเทค) โดยเฉพาะโรงงานผลิตกล้องถ่ายภาพ และเครื่องถ่ายเอกสาร รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใม่ใช่ปัจจัย 4 ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน จึงมีแนวโน้มจะกระทบก่อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละโรงงานพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด โดยเน้นขอความร่วมมือจากพนักงานให้มีการปรับตัวในการทำงาน

นอกจากนี้ยังสำรวจในพื้นที่ต่างๆ เช่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบว่า โรงงานอุตสาหกรรมในโคราชที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายในประเทศถือว่ายังเป็นปกติ ไม่มีโรงงานใดมีปัญหาต้องเลิกจ้างหรือลดจำนวนแรงงาน แต่โรงงานที่ผลิตและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตสินค้าไปประเทศจีนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก บางแห่งต้องลดวันทำงานของลูกจ้างลงจาก 6 วัน/สัปดาห์ เหลือ 4 วัน เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าลดลง ต้องให้ลูกจ้างหยุดงานชั่วคราว แต่โรงงานที่ผลิตและส่งไปสหรัฐอเมริกายังมีคำสั่งซื้อเป็นปกติ จากการสำรวจสถานการณ์แรงงานจังหวัดนครราชสีมายังปกติไม่ถือว่ารุนแรง แม้จะมีผู้ประกอบการที่ใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้พนักงานหยุดงาน แต่มีเพียงรายเดียวและเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ หรือออโต้พาร์ท มีลูกจ้าง 102 คน สาเหตุมาจากคำสั่งซื้อลดลง จึงขอให้พนักงานหยุดทำงาน 7 วัน หลังจาก 7 วันก็ดำเนินกิจการตามปกติ และผู้ประกอบการทำตามเงื่อนไขของกฎหมายแรงงานถูกต้อง จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 75% ของค่าแรงรายวัน ก่อนหน้านี้ก็มีโรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลังที่ใช้มาตรา 75 เช่นกัน เนื่องจากขาดแคลนมันสำปะหลังเข้าโรงงานจากที่เกิดโรคใบด่าง ต้องหยุดกิจการชั่วคราว 1 เดือน แต่จ่ายค่าจ้าง 75% ให้ลูกจ้างเช่นกัน แต่ยังมีอีก 2 รายที่น่าเป็นห่วงและแนวโน้มจะปิดกิจการ เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลง โดยนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย เร่งขายเครื่องจักรต่อให้กับโรงงานอื่น พร้อมทั้งหางานใหม่ให้ลูกจ้าง ภาคราชการก็เข้าไปดูแล และเยียวยาลูกจ้างที่เดือดร้อน

นางสาวธนพร กล่าวว่า สาเหตุเศรษฐกิจชะลอตัว แม้เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สาเหตุหลัก เป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายในและระหว่างประเทศผิดพลาด ไม่เป็นมืออาชีพ กระทบต่อปัญหาปากท้องประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ เป็นห่วงว่า หากเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ต่อไป คนว่างงานสูง ปัญหาอาชญากรรมจะตามมา แม้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยย่ำแย่ลงและทำให้ความท้าทายทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจการปิดกิจการในภาคตะวันออก โรงงานเทคนิคสิ่งทอ(ผ้าใบยางรถยนต์) ในจังหวัดระยอง จากสาเหตุแหล่งพึ่งพาแหล่งใหญ่ของโรงงาน ได้ตัดสินใจที่จะไม่ซื้อวัสดุที่ใช้ในการผลิตของโรงงานอีกต่อไป และไม่มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เชื่อได้ว่า จะเปลี่ยนการตัดสินใจนั้นด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เหลือทางเลือกอื่นอีกนอกจากจะต้องปิดกิจการ การปิดกิจการเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ซึ่งน่าเป็นห่วงรายเล็กที่สายป่านสั้นกระทบโดยตรง ขณะเดียวกันภาพรวมภายในประเทศเองก็ยังไม่เห็นการลงทุนใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นการใช้ช่วงจังหวะค่าเงินบาทแข็ง นำเข้าเครื่องจักรเพื่อมาปรับปรุงเทคโนโลยีลดต้นทุนมากกว่า เป็นการปรับตัวที่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมต้องทำเพื่อให้อยู่รอด

นางสาวธนพร กล่าวว่า จากการสำรวจในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม พบว่า ในธุรกิจขนาดกลางหรือ SMEs แม้ภาคอุตสาหกรรมไทยขาดแคลนแรงงานไทย ต้องจ้างแรงงานต่างด้าว เช่น พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรม SMEs ที่ต้องผลิตออร์เดอร์ส่งโรงงานขนาดใหญ่ทั้งหมด เมื่อบริษัทใหญ่ออร์เดอร์น้อยลง ทำให้บริษัท SMEs มีปัญหาตามไปด้วย ภาคการผลิตใน จ.สมุทรสงคราม ออร์เดอร์ลดลงกว่า 50% หลายโรงงานจึงลดกำลังการผลิตเหลือเพียง 60% หรือต่ำกว่านั้น และมีแนวโน้มจะลดลงอีก จะเห็นว่า โรงงานอุตสาหกรรมลดเวลาทำงานลงและลดการจ้างงาน เป็นผลจากตัวเลขการส่งออกที่ลดลงและอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวหันมาใช้ AI แทนแรงงานคน ซึ่งในอนาคตภาครัฐและเอกชนควรตั้งรับประเด็นนี้ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เรื่องนี้ สหรัฐอเมริกาเคยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยเผชิญมาแล้วและตั้งรับไม่ทัน ประเทศไทยควรหันมามองเรื่องการรีเทรนนิ่งบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนอุตสาหกรรม 4.0

นางสาวธนพรฯ กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร รัฐบาลสอบตก เรื่องการแก้โจทย์เศรษฐกิจ ผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันยังมีน้อยอย่างแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่หว่านเงินแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปลุกกำลังซื้อคนจน ผู้สูงอายุ “ชิม ช้อป ใช้” กระตุ้นการท่องเที่ยวช่วยเหลือเกษตรกร เอสเอ็มอี ฯลฯ ก็เป็นโมเดลซ้ำ ๆ ในยุครัฐบาล คสช. ทั้งที่ สภาพปัญหาขณะนี้หนักหน่วงรุนแรงกว่าเนื่องจากหลายปัญหาถูกสะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ ค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสวนทางรายได้ ฯลฯ แถมเจอภัยธรรมชาติ ทั้งร้อนแล้งขาดแคลนน้ำ ที่ถูกซ้ำเติมจากอุทกภัยโดยเฉพาะภาคอีสาน จึงไม่แปลกที่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจหลายสำนักจะออกมาคล้าย ๆ กัน สะท้อนความวิตกกังวลไม่เชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่า ผลงานทางด้านเศรษฐกิจไม่เข้าตาสาธารณชน การปิดตัวโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆขยายวงกว้าง กระทบต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาวในไตรมาสสุดท้ายของปี หากรัฐบาลไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกลอยแพ จะเกิดปัญหาเป็นวัฎจักรลูกโซ่ปัญหาปากท้องประชาชนตามมา