posttoday

"พิธา" ชี้ 3 เหตุผล ไม่รับร่างพรบ.งบ

19 ตุลาคม 2562

"พิธา" กางงบประมาณ "จัดการทรัพยากรน้ำ" ชี้ 3 เหตุผล ไม่รับหลักการ "บริหารขาดประสิทธิภาพ- รวมศูนย์ - ไม่ใช้ป้องเหตุแต่ทุ่มให้หลังวิกฤต"

"พิธา" กางงบประมาณ "จัดการทรัพยากรน้ำ" ชี้ 3 เหตุผล ไม่รับหลักการ "บริหารขาดประสิทธิภาพ- รวมศูนย์ - ไม่ใช้ป้องเหตุแต่ทุ่มให้หลังวิกฤต"

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่รัฐสภานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ร่วมอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล โดยระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมน้ำแล้งที่ผ่านมา ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ประเทศไทยไม่ได้ขาดน้ำ หากแต่มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการจัดการ ทำให้มีพื้นที่ชลประทานน้อยและพื้นที่แล้งซ้ำซาก ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับน้ำมีการจัดการเกี่ยวข้องใน 7 กระทรวง 30 กรม และกฎหมาย กว่า 50 ฉบับ ทำงานบูรณาการผ่านคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งแผนงานบูรณาการบริหารจัดการน้ำปี 2563 ทั้งหมดเกือบ 6 หมื่นล้านบาท สูงสุดใน 3-4 กรม กรมชลประธาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

นายพิธา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีงบอื่นๆ ทั้งในภาวะปกติและวิกฤตรวมกันเกือบ 1 แสนล้านบาท โดยในภาวะวิกฤต ผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสารสนเทศน้ำและการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ งบประมาณ 10,000 ล้าน และยังมีงบกลาง 3,000 ล้านสำหรับเงินทดรองราชการ และ 96,000 ล้านบาท สำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น งบประมาณนี้ นำมาคิดได้อย่างน้อย 2 มิติ คือ 1.เรื่องทรัพยากรน้ำมีทั้งภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน และอีกมิติหนึ่ง คืองบตามแผนบูรณาการและงบอื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในงบอื่นๆที่เป็นภาวะฉุกเฉินราว 1 แสนล้าน รองลงมาคืองบตามแผนบูรณาการในภาวะปกติ ซึ่งงบกว่าแสนล้านที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำนี้ ไม่ตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ด้วย 3 เหตุผลที่ไม่สามารถรับหลักการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำได้

1.ถ้าดูจากปริมาณน้ำ การบริหารจัดการต่างๆ แบบที่ทำอยู่นี้ รัฐจะสามารถบริหารจัดได้เพียงพอต่อความต้องการต้องใช้เวลาถึง 142 ปี นี่คือการคำนวนด้วยความต้องการน้ำในประเทศไทยที่ไม่เพิ่มขึ้นอีกเลย ไม่ว่าจะมีโครงการอีอีซี หรือนักท่องเที่ยวเข้ามามากเท่าไหร่ รวมถึงเป็นงบประมาณที่หน่วยงานขอมานั้นสัมฤทธิ์ผลแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

2.ในภาวะน้ำปกติ งบประมาณน้ำสะท้อนรัฐราชการรวมศูนย์และขาดการกระจายอำนาจ ซึ่งในการบริหารจัดการมี 4 ระดับ ระดับประเทศคือกระทรวง ระดับลุ่มน้ำ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ซึ่งการบริหารจัดการควรมีการกระจายอำนาจไปสู่ระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

3.ในภาวะวิกฤตงบประมาณแบบนี้ เป็นงบที่เน้นการการเยียวยามากกว่าเตรียมพร้อม ซึ่งถ้าแบ่ง 3 ช่วงคือก่อนวิกฤต ระหว่างวิกฤต และหลังวิกฤต เมื่อดูงบประมาณที่ใช้กลับมีน้อย และไปอยู่ที่หลังเกิดวิกฤตแล้ว ขณะเดียวกันระหว่างวิกฤตก็จำเป็นและต้องรวดเร็วด้วย แต่ที่ผ่านมางบประมาณในภาวะฉุกเฉินมีลักษณะรวมศูนย์ ทำให้ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

นายพิธา กล่าวว่า ทางออกสำหรับการแก้วิกฤตน้ำ นั้น คือเรื่องความหลากหลายทางนโยบายคือสิ่งจำเป็น บริหารจัดการน้ำได้อย่างพอเพียงและเท่าเทียม โดยจากประสบการณ์ในการเตรียมอภิปรายนี้ ทำให้สรุปได้ว่า ต้องใช้ 3 ท. คือ เทคโนโลยี ท้องถิ่น และทรัพยากร เสริมกันซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ทำให้เกิดอีก 2 ท. คือ เท่าเทียมและเท่าทัน เปลี่ยนประเทศไทย ทำให้เราเท่าเทียมกัน และประเทศไทยเท่าทันโลก