posttoday

"เศรษฐพงค์"แนะประมูลคลื่น5Gต้องไม่แพงลิ่วผู้บริโภคได้ประโยชน์ดีที่สุด

26 กันยายน 2562

รองประธานกมธ.ดีอี จี้รัฐบาล กสทช.ต้องช่วยกันออกแบบการประมูลคลื่นความถี่รับ5G ทั้งคุณภาพการบริการและราคาเพื่อประโยชน์ที่ดีสุดให้แก่ผู้บริโภค

รองประธานกมธ.ดีอี จี้รัฐบาล กสทช.ต้องช่วยกันออกแบบการประมูลคลื่นความถี่รับ5G ทั้งคุณภาพการบริการและราคาเพื่อประโยชน์ที่ดีสุดให้แก่ผู้บริโภค

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกมธ.ดีอี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการให้เกิดเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย ว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับกันก่อนเลยว่าคลื่นความถี่วิทยุเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพและความสามารถของบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ แต่ปัญหาที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คือ นโยบายที่รัฐบาลกำหนด ได้ส่งผลให้คลื่นความถี่มีราคาที่สูงมาก โดยมีการศึกษาพบว่าราคาคลื่นความถี่ที่สูงมาก อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค รวมถึงความสามารถในการให้บริการเครือข่ายที่ลดลง จึงไม่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการอย่างทั่วถึง และทำให้ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลช้าลง

 

ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบวิธีการประมูลคลื่นความถี่ ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะต้องเป็นผู้กำหนดและดำเนินการ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ทั้งรัฐบาล และกสทช. ที่ต้องช่วยกันออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้การพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภค ทั้งในแง่ของคุณภาพการบริการและค่าใช้จ่าย เช่น การให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางมากขึ้น ความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ดีขึ้น ในราคาไม่แพง

“มีการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ชี้ว่ายิ่งคลื่นความถี่มีราคาสูง ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อผู้บริโภค แต่ยังมีนักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายคลื่นความถี่บางคน ได้ออกมาแย้งว่าต้นทุนคลื่นความถี่ดังกล่าวคือ ต้นทุนจม (Sunk Cost) ดังนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการกำหนดราคาหรือการตัดสินใจลงทุน ซึ่งตรงนี้เป็นมุมต่างที่ผู้เกี่ยวข้องนำมาพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการ” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

 

รองประธานกมธ.ดีอี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีรายงานของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSM Association : GSMA) ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ได้ประเมินว่าราคาคลื่นความถี่สูง และการบริหารจัดการคลื่นความถี่ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณภาพการบริการเครือข่ายและค่าใช้จ่ายในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศจึงควรพิจารณาถึงประเด็นในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดความเหมาะสม

ทั้งนี้ GSMA ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านราคาคลื่นความถี่ ที่มีผลต่อการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่าย 4G และ 5G ที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์ของ GSMA ได้ดังนี้ 1.ต้นทุนคลื่นความถี่สูง จะนำไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงลบของผู้บริโภค เนื่องจากเป็นการจำกัดขีดความสามารถทางด้านการเงินสำหรับการลงทุนเครือข่าย

2.การที่รัฐได้รับรายได้สูงๆ จากการออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ ไม่ควรนำมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอีกต่อไป เนื่องจากราคาคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป อาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภคได้ อาจทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ในขณะที่คุณภาพเครือข่ายไม่มีประสิทธิภาพ

3.การประมูลสามารถมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้หากมีการออกแบบการประมูลไม่ดีพอ แต่เมื่อมีการออกแบบการประมูลมาอย่างดีแล้ว การประมูลที่เกิดขึ้นจะมีประสิทธิภาพในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้ที่มีความสามารถในการสร้างมูลค่าจากคลื่นความถี่ได้มากที่สุด

4.ข้อจำกัดในการจัดหาคลื่นความถี่ เช่น การกำหนดโควต้า(set aside) ทำให้เกิดความเสี่ยงสูง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น แต่เมื่อมีการจัดสรรคลื่นความถี่จำนวนเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้น จากบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น

5.ความถี่ คลื่นความถี่ ควรได้รับการจัดสรรโดยทันทีที่เป็นไปได้ เนื่องจากการสามารถใช้งานคลื่นความถี่ได้เร็ว จะทำให้เกิดผลดีต่อผู้บริโภคมากกว่า ที่จะได้ใช้บริการที่ครอบคลุมและราคาไม่แพง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคในประเทศ

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ผู้กำหนดนโยบายควรทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ในการออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ให้ทันเวลา มีความโปร่งใส ยุติธรรม และมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของสังคม ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมโอกาส และศักยภาพของประชาชน (Digital Inclusion) และผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมให้เป็นจริง

นอกจากนี้ GSMA ยังได้ศึกษาเรื่องราคาคลื่นความถี่โดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติ (econometric models) เพื่อพิจารณาผลกระทบของการกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่มีต่อผู้บริโภคที่หลากหลาย ซึ่งการวิเคราะห์นี้ถูกนำไปใช้กับประเทศต่างๆ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา โดยผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาคลื่นความถี่ที่สูง และการตัดสินใจในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภคในเชิงลบ โดยการศึกษาในช่วงปี 2010 – 2017 สรุปได้ว่าราคาคลื่นความถี่ที่สูงในประเทศที่พัฒนาแล้วมีบทบาทสำคัญในการชะลอการเปิดให้บริการเครือข่าย 4G และทำให้คุณภาพเครือข่าย 4G ลดลงในระยะยาว

ขณะที่ ราคาคลื่นความถี่โดยเฉลี่ย ของประเทศกำลังพัฒนามีราคาสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เกือบ 3 เท่า ซึ่งในประเทศเหล่านี้หากมีต้นทุนคลื่นความถี่สูงจะทำให้การเปิดให้บริการเครือข่ายทั้ง 3G และ 4G ชะลอตัวลง และยังทำให้คุณภาพเครือข่ายโดยรวมลดลงในระยะยาวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามจากการศึกษายังพบอีกว่าในประเทศที่มีราคาคลื่นความถี่สูง หากผู้บริการโทรศัพท์มือถือได้รับคลื่นความถี่ในราคาที่ไม่สูงเกินไป จะสามารถให้บริการครอบคลุมประชากรได้มากขึ้น 7.5%

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาของ GSMA ยังพบอีกว่า ช่วงเวลาของการจัดสรรใบอนุญาตคลื่นความถี่มีผลกระทบต่อการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น หากผู้ประกอบการได้รับมอบใบอนุญาตคลื่นความถี่ 4G เร็วขึ้น 2 ปี จะทำให้การให้บริการเครือข่าย 4G ครอบคลุมประชากรได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 11 – 16% สุดท้ายจำนวนคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการ จากการศึกษาพบว่าหากผู้ให้บริการเครือข่ายได้รับคลื่นความถี่ 4G เพิ่มขึ้นอีก 20 MHz จะเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดโดยเฉลี่ยระหว่าง 1 ถึง 2.5 Mbps หรือมีความเร็วเครือข่ายเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 15%