posttoday

28 เครือข่ายจับมือตั้งครช.เดินหน้าสร้างรธน.ฉบับประชาชนขีดเส้น 3 เดือนจบ

19 กันยายน 2562

ภาคประชาชน 28 เครือข่ายผนึกกำลังตั้ง ครช.เดินหน้าสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วางกรอบการทำงาน 3 เดือน พร้อมเดินสายจัดกิจกรรมต่อเนื่อง

ภาคประชาชน 28 เครือข่ายผนึกกำลังตั้ง ครช.เดินหน้าสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วางกรอบการทำงาน 3 เดือน พร้อมเดินสายจัดกิจกรรมต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดงานเปิดตัวคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ประกอบด้วยภาคประชาชน นักวิชาการ และ นักศึกษา 28 เครือข่าย อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, สถาบันมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล, เครือข่ายนักวิชาการราชภัฏราชมงคลเพื่อพลเมือง (ครพ.), สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.), ดาวดิน, สมัชชาคนจน, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้, เครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม รัฐธรรมนูญก้าวหน้า

28 เครือข่ายจับมือตั้งครช.เดินหน้าสร้างรธน.ฉบับประชาชนขีดเส้น 3 เดือนจบ

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราต่างทราบดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างปัญหาอย่างไรบ้าง ถ้าย้อนกลับไป 2 ปีที่แล้ว หากจำหน้าผมและคนในห้องนี้ได้จะพบว่า เราคือกลุ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากเราเห็นปัญหาที่มีอยู่จำนวนมาก

นอกจากนี้ เรายังก่อตั้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) พร้อมสังเกตการเลือกตั้ง ซึ่งพบพิรุธจำนวนมาก และตอนนี้ไม่สามารถหาคำตอบได้ เช่น ผลรวมคะแนนที่นับได้ไม่สัมพันธ์กับจำนวนผู้ลงคะแนนจริง หากสังคมไม่ช่วยประคับประคองรัฐธรรมนูญ สร้างความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งที่มาซึ่งเป็นของประชาชนที่แท้จริงได้ คงเข้าใจว่าคงถูกฉีกอยู่ร่ำไป ยังไม่รวมถึงตรรกะหรือหลักการที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเปลี่ยนสถานะของประชาชนให้เล็กลงไปเรื่อยๆ เหล่านี้นำมาสู่สิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้ในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญซึ่งยากอยู่แล้ว ทำไมไม่ลงทุนกับฉบับใหม่ไปเลย นี่จึงเป็นที่มาของกลุ่ม ประกอบกับที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคล สถาบัน รวมทั้งกลุ่มทางสังคมจำนวนหนึ่งเปิดตัวออกมาเป็นเจ้าภาพในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่กลับพบว่าความหลากหลายทั้งเชิงชาติพันธุ์ ความคิด จินตนาการทางการเมืองที่สอดรับกับประชาธิปไตยยังจำกัด ถูกตั้งคำถามเยอะสมควร จึงรู้สึกว่าไม่น่าจะปล่อยการเริ่มต้นของการแก้รัฐธรรมนูญถูกคลุมด้วยคำถามจำพวกนี้ เราจึงรวมตัว พูดคุยกันในกลุ่มที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ควรร่วมกันแก้ไข จึงเป็นที่มาของคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช.

28 เครือข่ายจับมือตั้งครช.เดินหน้าสร้างรธน.ฉบับประชาชนขีดเส้น 3 เดือนจบ

“ครช.ตั้งพันธกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ส่วนในช่วงสั้นๆ ราว 3 เดือนเศษ เราทำสามสิ่งคือ 1.สร้างการรับรู้และเข้าใจในปัญหาของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็จะกระตุ้นให้เกิดเจตจำนงค์ในการแก้ จนกลายเป็นมติมหาชน 2.ทำให้ดูว่ามีประเด็นอะไรที่สังคมให้ความสำคัญ และจำเป็นต้องระบุในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีเรื่องไหนที่จำเป็นต้องแก้และรอไม่ได้ และ 3.วิธีการ รูปแบบ กลไกใด ที่สามารถนำเราไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า กิจกรรมสำคัญหลังจากเปิดตัว ครช.แบ่งเป็นสองส่วนคือ 1.เสนอผลการสำรวจความเห็นนักศึกษา จำนวน 3,000 กลุ่มตัวอย่าง ใน 30 มหาวิทยาลัย เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด 2 ครั้ง ในวันที่ 5 ต.ค. ที่คณะศิลปศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดในงานรำลึกครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รวมทั้งการแสดงปาฐกถา และการเสวนาทางการเมืองโดย 6 พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน 2.คิกออฟสัมมนาสัญจรโดยพรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ จากนั้นวันที่ 10 ธ.ค.จะนำผลของความต้องการแก้รัฐธรรมนูญจากการทำโพลสองครั้งมาคุยกัน