posttoday

"ปากพาจน"

19 กันยายน 2562

ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

********************************

เพื่อนบางคนเคยถามผู้เขียนว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ไหม และสมควรแก้ไขเวลานี้หรือไม่คำตอบสั้นๆ คือ รัฐธรรมนูญทุกฉบับนั้นสามารถแก้ไขได้ โดยมีบทบัญญัติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในส่วนท้ายๆ เนื่องจากคณะผู้ร่างนั้นพยายามสร้างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองของประเทศให้ดีที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่มองเห็น แต่ต้องยอมรับว่า บางทีก็คาดการณ์ได้ไม่ถูกเพราะสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงเร็ว สิ่งที่คาดไว้อาจไม่ตรงเสียทีเดียวก็ได้ ดังนั้น กฎหมายสูงสุดของประเทศซึ่งกำหนดกฎกติกาของบ้านเมืองจึงเปิดโอกาสให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ แต่ต้องไม่ง่ายเหมือนกับกฎหมายทั่วไป

การที่เปิดโอกาสให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้นั้น จึงเป็นการยืดหยุ่น เพราะดีกว่าให้ใครมาฉีกรัฐธรรมนูญ ส่วนจะแก้เมื่อไหร่ แก้อย่างไร แก้เรื่องอะไร สมควรที่จะแก้หรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็น สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในหมวดที่ 15 ที่ท่านสามารถเปิดอ่านดูได้

การที่พรรคการเมืองบางพรรคกำหนดนโยบายประการหนึ่งในการหาเสียงว่า จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่ประการใด อีกทั้งเมื่อหาเสียงไว้ เขาก็ต้องทำตามที่หาเสียง ส่วนจะทำได้หรือไม่มากน้อยเพียงไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นทั้งฉบับหรือบางส่วนก็ตาม ผู้ขอแก้ก็ต้องอ้างเหตุผลความจำเป็นเพื่อให้ประชาชนเห็นด้วย และมีน้ำหนักในการออกเสียงในสภา อย่างไรก็ดี คงไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่เลวร้ายทั้งฉบับ หรือ “เฮงซวย” ทุกมาตรา เหมือนอย่างที่นักการเมืองคนดังกล่าวใช้เป็นเหตุผลสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

คำพูดกล่าวหาดังกล่าวถือว่าเป็นประเด็น “ร้อนแรงที่สุด” ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา บางคน เรียกว่า “ปากพาไป” หรือ “ปากพาจน” แต่กรณีนี้ ปากจะทำให้ “ติดคุก” เสียมากกว่า โดยลืมนึกไปว่า บางเรื่องมี “ความละเอียดอ่อน” และ “อ่อนไหวทางการเมือง” อย่างมาก จึงไม่แปลกใจที่เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากกลุ่ม “พลเมืองผู้รู้” ทั้งหลายผ่านสื่อโซเชียลที่แพร่กระจายถึงกันอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง

สิ่งที่นักการเมืองคนนี้พูดได้ถูกบันทึกทั้งภาพและเสียงที่จะรัดคอตัวเองอย่างดิ้นไม่หลุด ไม่ว่าจะแก้ตัวอย่างไรก็แก้ไม่ขึ้น แกนนำอื่นๆ ในพรรคก็ไม่กล้าออกมาแก้ตัวแทน หลายคนอาจนึกด่าในใจว่า แกนนำพรรคคนนี้หาเรื่องเข้าพรรคอีกแล้ว โบราณว่า “หาเหาใส่ตัว” ทั้งที่บนหัวก็มีเหาเต็มไปหมด

อาจเป็นเพราะความที่เป็นคนหนุ่มสาวไฟแรง เก่ง การศึกษาดี มีความมั่นใจในตัวเองสูง แต่ขาด “สติสัมปชัญญะ” หรือขาดสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด ลืมนึกไปว่า รัฐธรรมนูญที่ว่าเฮงซวยนั้นรวมเรื่อง “ละเอียดอ่อนที่สุด” ในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ที่มีมาตราที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้และหมวดอื่นๆ รวมอย่างน้อย 16 มาตรา

โดยทั่วไป คนมักมองข้ามความสำคัญของหมวด 1 เพราะอาจเห็นว่าเป็น “บททั่วไป” แต่จริงๆ แล้ว หมวดนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพราะเป็นการกำหนด “รูปแบบของรัฐ” ในมาตรา 1 “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” และ “รูปแบบการปกครอง” ในมาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไม่ว่าคนไทยหรือชาวต่างชาติที่อ่านรัฐธรรมนูญจะได้รู้ว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ได้เป็นสหพันธรัฐเหมือนบางประเทศ และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ประธานาธิบดี หรือที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น

ส่วนหมวดที่เหลือของรัฐธรรมนูญเป็นการขยายความในรายละเอียดในเรื่องรูปแบบของรัฐและรูปแบบการปกครอง

ที่ต้องยกเรื่องนี้มากล่าวเพราะ “นักการเมืองคนหนึ่ง” เคยไปหาเสียงโดยสัญญาว่า จะให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มี “การปกครองตนเอง” ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ในอดีต เคยมีนักการเมืองยุยงให้คนไทยในภาคเหนือและภาคอีสานแยกตนออกเป็น “รัฐไทยเหนือ” และ “รัฐไทยอีสาน” หรือยุยงให้คน “ชังเจ้า” และ “ล้มเจ้า” นั้น ก็เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ

พอเจอกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากสังคมเรื่องรัฐธรรมนูญ “เฮงซวย” ทุกมาตรา นักการเมืองคนนั้นต้องรีบออกมาแก้ตัวอ้างเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ (โดยไม่เอ่ยถึงคำพูดที่ว่าเฮงซวย) ว่า เป็นเพราะ (1) รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้มาจากประชาชนๆ ไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ (2) กระบวนการไม่ชอบธรรม ที่มาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาโดยมิชอบ หรือมาจาก คสช.

มีการพูดจาพาดพิงกล่าวหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในลักษณะที่ทำให้คนดูหมิ่นเกลียดชัง กรธ. การพูดไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และไม่ใช่เชิงวิชาการด้วย ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ กรธ. ก็ไม่ถือสา แต่ใช้โอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ โดยให้ประชาชนใช้วิจารณญานตัดสินใจเองว่าจะเชื่อใคร

ในความเป็นจริง การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ถูกพาดพิง ได้ยึดโองกับประชาชนตลอดเวลาตั้งแต่การประชุมครั้งแรกจนจบ มีการจัดเวทีรับฟังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญจนถึงการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) มากกว่า 40 ครั้ง รับฟังเสียงสะท้อนและความต้องการของประชาชนผ่านระบบการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ

ทั้งการเปิดเว็บไซต์ รวมทั้งระบบไปรษณีย์ ในกรณีหลัง มีประชาชนเสนอแนะเข้ามา 526 ฉบับ กรธ.ตั้งอนุกรรมการหลายชุด สำรวจความคิดเห็นของประชาชน มีการจัดเวทีไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง ทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นในหลายพื้นที่และหลายโอกาส ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดทำโพลล์สำรวจความเห็นของประชาชนในหลากหลายประเด็น หลายครั้งหลายคราเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างมากมาย เช่น ในประเด็นว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในการสำรวจครั้งแรก ใช้กลุ่มตัวอย่าง 5,800 คน และการสำรวจครั้งที่สองในประเด็นเดียวกัน ใช้กลุ่มตัวอย่าง 78,160 คน เป็นต้น

อีกทั้งได้นำผลการสำรวจความเห็นของประชาชนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดของศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรโณ มาใช้เป็นข้อมูลในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย

เมื่อจัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จ กรธ. ได้เปิดเผยและส่งมอบร่างดังกล่าวไปยังสถาบัน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ซึ่ง กรธ. ได้นำความคิดเห็นต่างๆ นำมาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นในหลายเรื่องหลายมาตรา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ประชาชน ทั้งหมดนี้ เกิดจากการเสนอแนะและรับฟังความเห็นจากสถาบัน หน่วยงาน องค์กร และประชาชนทั้งสิ้น

สุดท้าย ได้มีการทำประชามติ ซึ่งมีประชาชนเกือบ 17 ล้านคนหรือประมาณกว่าร้อยละ 61 ของผู้ไปออกเสียง เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว

แล้วอย่างนี้จะบอกว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ยึดโยงกับประชาชนได้อย่างไร แสดงว่า คนพูดไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ แต่กลับบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ

เมื่อประชาชนได้ฟังข้อมูลจากสองด้านแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของประชาชนว่าจะเชื่อใคร จะเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ “เฮงซวย” ทุกมาตรา ไม่มีที่มาอย่างชอบธรรม ไม่ยึดโยงกับประชาชนตามที่นักการเมืองคนนี้กล่าวหา หรือไม่อย่างไร จึงเป็นเรื่องของพรรคการเมืองพรรคนี้กับประชาชนโดยตรง

ประชาชนยังติดใจคำกล่าวหาที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 “เฮงซวย” ทุกมาตรา นักการเมืองคนนี้ต้องอธิบายว่า เฮงซวยอย่างไร เอาแค่หมวด 1 และหมวด 2 ก็พอ ที่สำคัญ นักการเมืองคนนี้ควรอ่านข้อความก่อนหมวด 1 ด้วย ผู้ใหญ่เคยพูดไว้ว่า คนมีความรู้ไม่ใช่ว่าจะมีปัญญาเสมอไป คนฉลาดต้องเฉลียวด้วย เขาถึงเรียกว่าคนเฉลียวฉลาด คนต้องมีทั้งสติและปัญญา มีปากก็ต้องรู้ว่า เรื่องใดสมควรพูด เรื่องใดไม่สมควรพูด และควรจะพูดที่ไหน เมื่อไร ไม่ใช่พูดแบบปากพาไป แล้วในที่สุด ปากก็ทำร้ายตนเอง