posttoday

'วัน อยู่บำรุง'โพสต์อัด'วิษณุ'แถ แถ๊ดๆ ติดแฮชแท็ก'บิดาแห่งการยกเว้น'

18 กันยายน 2562

ฝ่ายค้านเหน็บรองนายกฯแถแจงปมถวายสัตย์ไม่ครบ"วิษณุ"แจงไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลัง"บิ๊กตู่"อ่านไปตามนั้น

ฝ่ายค้านเหน็บรองนายกฯแถแจงปมถวายสัตย์ไม่ครบ"วิษณุ"แจงไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลัง"บิ๊กตู่"อ่านไปตามนั้น

นายวัน อยู่บำรุง ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก หลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านในการอภิปรายโดยไม่ลงมติปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุเนื้อหาสั้นๆว่า คุณวิษณุ แถ แถ๊ดๆๆๆๆ!!!! #วิษณุธรรมนูญ #บิดาแห่งการยกเว้น

'วัน อยู่บำรุง'โพสต์อัด'วิษณุ'แถ แถ๊ดๆ ติดแฮชแท็ก'บิดาแห่งการยกเว้น'

ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ในญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา152 แทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมว่า ประเด็นของการถวายสัตย์ปฏิญาณ คือใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร แต่บางคนอาจไม่เข้าใจ

นายวิษณุ กล่าวว่า ขอลำดับความว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 หลังจากทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. รวม 36 คน ต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์พระมหากษัตริย์ตามถ้อยคำก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ทั้งนี้ในวันดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้าราชการ และผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เข้าร่วมในพิธี นายกฯ ได้ล้วงหยิบเอาบัตรแข็งออกจากกระเป๋า ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเดียวเหมือนกับนายกฯที่ผ่านมาในอดีต ไม่ได้สลับ หรือเปลี่ยน บัตรแข็งที่หยิบ เป็นกระดาษที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เตรียมไว้ เหมือนกับที่เตรียมไว้ให้นายกฯทุกคนในอดีต

แต่มีนายกฯ คนเดียวที่จำแม่น ไม่เคยหยิบ คือ นายชวน หลีกภัย แต่นายกฯ คนอื่นกลัวพลาดต้องหยิบล้วงจากกระเป๋าเสื้อ เหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในกระดาษนั้นหน้าแรก คือ คำเบิกตัว และหน้าสอง เป็นคำถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยทุกคนกล่าวตามไปทีละท่อน จนจบตามที่นายกฯ กล่าว

"ผมบอกไม่ได้ว่าถ้อยคำที่นายกฯอ่านและคนกล่าวตามมีว่าอย่างไร ไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังที่อ่านไปตามนั้นและแค่นั้นเป็นเพราะเหตุใด"นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ขออธิบายรวมว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ เพื่อยืนยันต่อความไว้วางใจต่อตัวผู้กล่าวนำคำปฏิญาณตนนั้น คือ พระมหากษัตริย์ไว้วางใจ ในตัวรัฐมนตรีที่กล่าว ที่บอกว่า นายกฯ หรือตนอาจจะผิด แต่เข้าใจในเจตนารมณ์ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เช่นนั้น แต่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง หน้าที่2 บรรทัดที่3 ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ครม. และ พระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตามอาจมีบุคคลโต้แย้งว่า ทำไมบังอาจทำให้ไม่เหมือนที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณต้องมีผู้รับถวาย ทั้งนี้ตนเองอดคิดไม่ได้ว่าไม่มีใครมีสิทธิเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้น ใครจะอนุญาต แต่หลังจากกล่าวคำถวายสัตย์ มีพระราชดำรัสตอบ และมีสาระสำคัญคือให้ไปปฏิบัติหน้าที่ได้

"การถวายสัตย์ปฏิญาณผมขอขีดเส้นใต้ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณหรือสาบาน รัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ที่เริ่มตั้งแต่ ฉบับปี 2492 จนถึงปัจจุบัน ตามความหมายนั้นจงใจแยกคำ คือ ปฏิญาณตน และ ถวายสัตย์ปฏิญาณที่มีความมุ่งหมายต่างกัน กล่าวคือ ส.ส.กล่าวปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ แต่ ครม. ไม่ได้ปฏิญาณตน แต่ใช้วิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน"นายวิษณุ กล่าว

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ ระบุถึงการปฏิญาณตน ใช้กับบุคคล 3 ประเภท คือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องปฏิญาณตนต่อที่ประชุมรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา ในที่ประชุม หลายคนพูดถึงนายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวสาบานตนไม่ครบ แล้ววันรุ่งขึ้นได้กล่าวใหม่ แต่เมื่อสืบค้นให้นานกว่านั้น สมัยนายริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวสาบานไม่ครบ แต่ไม่ได้ทำอะไร

สำหรับกรณีที่หลายคนวิตกกังวลว่าหากทำไม่ถูก จะโมฆะ อย่าฝันร้าย เพราะไม่มีเหตุที่เกิด ไม่มีปัญหา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง ไม่รับคำร้องทั้งหมด และให้เหตุผลตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาความของศาลฯ ระบุไว้ คือ เป็นความเห็นเอกฉันท์ของศาลไม่รับ เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง และเมื่อจบการถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระมหากษัตริย์พระราชทานพระราชดำรัสเพื่อให้ ครม.น้อมนำเป็นแนวทางทำงาน และต่อมาครม. ได้เข้ารับพระราชดำรัสที่เป็นลายลักษณ์อักษร

"ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณจึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ซึ่งสภาฯ คือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่นกัน ส่วนที่ส.ส.จะยื่นเพื่อเอาผิดทางจริยธรรมนั้น ขอชี้ช่องว่าหากจะเอาผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรม ขอให้ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ส่งเรื่องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยกำลังใจและมุ่งมั่นปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์และพรที่ได้พระราชทาน"นายวิษณุ กล่าว