posttoday

กล้าป่ะล่ะ! "อรรถวิชช์" จี้รัฐออกพระราชกำหนดยกเลิก "พาราควอต"

02 กันยายน 2562

"อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" จี้รัฐบาลออกพระราชกำหนดยกเลิกการใช้ "พาราควอต" ชี้ผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน แต่การยกเลิกใช้กลับไม่คืบหน้า

"อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี" จี้รัฐบาลออกพระราชกำหนดยกเลิกการใช้ "พาราควอต" ชี้ผลกระทบต่อสุขภาพชัดเจน แต่การยกเลิกใช้กลับไม่คืบหน้า

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 62 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาออกพระราชกำหนดยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต โดยมีเนื้อหาดังนี้

ออก “พระราชกำหนด” ยกเลิก “พาราควอต” รัฐบาลกล้า ป่ะล่ะ ?

“พาราควอต” ยาฆ่าหญ้า ราคาถูก ออกฤทธิ์เร็ว อันตราย โดนผิวเป็นแผลพุพอง ตกค้างในพืชผักกินสะสมส่งผลต่อตับ ไต ทำลายสมอง ถ้าเข้าสู่ร่างกายตรงถึงตาย

ชัดเจนถึงความร้ายแรง ภาคประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้าน ขอให้ยกเลิกใช้พาราควอต แต่ก็ไม่เป็นผล ขนาดรัฐบาล คสช. ที่เคยสัญญาว่าจะแก้ปัญหา แต่ก็ไม่เคยใช้เครื่องมือพิเศษมาตรา 44 มาจัดการเรื่องนี้ มิหนำซ้ำ ปี 2560 กลับมีการนำเข้าพาราควอตสูงถึง 44,501 ตัน มูลค่าถึง 3,816 ล้านบาท ครองแชมป์นำเข้าวัตถุอันตรายที่มีมูลค่าสูงสุด

ซ้ำเติมส่งท้ายก่อนเลือกตั้ง มีมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 14 ก.พ.62 ยืนยันไม่แบน “พาราควอต” อ้างต้องใช้เวลาศึกษาหาสารมาทดแทน แล้วค่อยตัดสินอีกทีภายใน 2 ปี จนถูกวิจารณ์ว่ามีกรรมการเกี่ยวข้องกับบริษัทสารพิษ เข้าไปตัดสินใจด้วย

เรื่องยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน หลายพรรคการเมืองสัญญาหาเสียงกับประชาชนว่าจะยกเลิกพาราควอต จนบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 4 ที่แถลงต่อรัฐสภา

สัญญาณเหมือนจะดี เมื่อท่านมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้ายกเลิก “พาราควอต” ให้ได้ภายในมกราคม 2563

แต่ทว่า ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย การตัดสินใจมันไปอยู่กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องเป็นไปโดย “คำแนะนำของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งก็คือ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ที่เคยมีมติไม่ยกเลิกพาราควอตเมื่อต้นปีมานี้เอง เทศกาลรำวง วนไปวนมาข้ามกระทรวง มันเคยมีให้เห็นแล้วสมัยรัฐบาล คสช. เรื่องยกเลิกพาราควอตที่ดูเหมือนง่าย จึงทำได้ยาก

ประชาชนตายผ่อนส่ง รัฐบาลควรจัดการปัญหานี้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ด้วยการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ออก “พระราชกำหนด” สั่งให้ยกเลิกพาราควอตทันที เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน รักษาผลผลิตสินค้าเกษตรไม่ให้มีสารปนเปื้อน เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องรอถึงมกราคม 2563 หรือยื้อกันไปอีก 2 ปี ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

การออกพระราชกำหนดเป็นอำนาจตรงของคณะรัฐมนตรีที่ทำได้รวดเร็วทันที ถ้ารอไปออกพระราชบัญญัติผ่านรัฐสภา เป็นปีก็ยังยกเลิกไม่ได้

อย่างน้อย 51 ประเทศ ประกาศห้ามใช้ พาราควอตแล้ว ทั้งสหภาพยุโรป จีน คูเวต เกาหลีใต้ ศรีลังกา ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนาม กัมพูชา และลาว เพราะรัฐบาลเขาเป็นห่วงสุขภาพประชาชน

ถ้ารัฐบาลไทยเป็นห่วงชีวิตประชาชน ก็ควรพิจารณาออก “พระราชกำหนด” ที่เป็นอำนาจตรงของรัฐบาล ยกเลิกสารเคมีนี้โดยด่วน การจะยกเลิกพาราควอต มันไม่ยาก แต่อยู่ที่...กล้าป่ะล่ะ