posttoday

อดีตรมว.คลังชี้สนช.ผ่าน "พ.ร.บ.อีอีซี" เสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย

28 สิงหาคม 2562

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ชี้ สนช. เห็นชอบพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย มองธุรกิจที่ระบุในกฎหมายเป็นโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ชี้ สนช. เห็นชอบพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย มองธุรกิจที่ระบุในกฎหมายเป็นโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.62 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยชี้ว่าการที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบกฎหมายังกล่าวมีความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย โดยมีข้อความดังนี้

“ทำไม สนช. ผ่าน พรบ.อีอีซี ที่เสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย?”

เครื่องมือหลักสำหรับทุจริตเชิงนโยบาย คือทำให้ข้าราชการผู้พิจารณามีสิทธิใช้ดุลพินิจ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

พรบ.อีอีซี ที่ให้คณะกรรมการนโยบายรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ข้ามส่วนราชการ ข้ามขั้นตอนการทำงาน และข้ามกฎหมาย จึงเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบายอย่างมาก

ถามว่า ทำไม สนช. ผ่าน พรบ.อีอีซี ทั้งที่เสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย?

ตอบว่า คงเป็นเพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์วาดฝันธุรกิจที่จะพาไทยขึ้นชั้นไปรายได้สูง

อย่างไรก็ดี เมื่อเจาะลึก จะพบว่าแต่ละธุรกิจที่ระบุไว้ในมาตรา 39 มีปัญหามากมาย

1. ยานยนต์สมัยใหม่

ขณะนี้ไทยมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์กระจายอยู่หลายจังหวัด ทุกโรงงานจะต้องปรับตัว เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะมีชิ้นส่วนเพียง 10% ของรถใช้น้ำมัน

แต่ไม่มีเหตุผลที่โรงงานจะต้องย้ายจากที่ตั้งปัจจุบัน เข้าไปในพื้นที่ อีอีซี ธุรกินี้จึงเป็นฝันกลางวัน

2.-6. การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ/ การแปรรูปอาหาร/ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร/ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ/ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

ธุรกิจเหล่านี้ก็กระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ จุดขายในหลายธุรกิจเหล่านี้ อยู่ที่แหล่งที่ตั้งเฉพาะที่ ไม่มีเหตุผลหรือความสามารถที่จะย้ายเข้าไปพื้นที่ อีอีซี

นอกจากนี้ ในส่วนที่พัฒนาเทคโนโลยี ก็จะทำงานวิจัยในห้องแลป ซึ่งใช้เนื้อที่เพียงเล็กน้อย

7.-8. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ/ ดิจิทัล

การพัฒนาธุรกิจเหล่านี้ อาศัยซอฟท์แวร์เป็นหลัก ไม่มีเหตุผลที่จะต้องจัดตั้งพื้นที่พิเศษครอบคลุมหลายจังหวัด

9. หุ่นยนต์

ในการผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมนั้น ขนาดของทุกชิ้นส่วนต้องแม่นยำสูง โรงงานในญี่ปุ่นและยุโรปจึงมักจะใช้กระบวนการผลิตด้วยหุ่นยนต์ด้วยกัน โอกาสที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตใน อีอีซี มีน้อยมาก

10. การบินและโลจิสติกส์

การเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน และโกดังเก็บอะไหล่จัดส่งแบบ just in time นับว่าเป็นธุรกิจที่มีความเป็นไปได้สูงอย่างเดียว เพราะที่ตั้งของไทยอยู่ตรงศูนย์กลางทางเดินอากาศ

แต่เนื้อที่สำหรับการนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องกว้างขวางหลายจังหวัด แค่ภายในสนามบินอู่ตะเภาก็พอแล้ว

อดีตรมว.ต่างประเทศ คุณกษิต จึงเรียกธุรกิจเหล่านี้ว่าเป็น hoax คือโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง ซึ่งผมเห็นด้วย

และเมื่อตัดจุดขายปลอมเหล่านี้ออกไป ผมก็หาเหตุผลที่จะตรา พรบ.อีอีซี ไม่เจอ