posttoday

ครป.แถลง 11 ข้อเสนอให้รัฐบาล"ลุงตู่" สะสางแก้ไข

21 กรกฎาคม 2562

ร้องเปลี่ยนรมต.สีเทา แก้ผูกขาดเศรษฐกิจ ให้มีธรรมาภิบาล ยอมรับสิทธิมนุษยชน กระจายอำนาจการปกครองตจว.

ร้องเปลี่ยนรมต.สีเทา แก้ผูกขาดเศรษฐกิจ ให้มีธรรมาภิบาล ยอมรับสิทธิมนุษยชน กระจายอำนาจการปกครองตจว.

21 ก.ค.2562 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ชุดใหม่ ได้จัดเวทีแถลงข่าว ข้อเสนอ ครป.ต้อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2 และรัฐบาลใหม่ โดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการครป. ได้แถลงข้อเสนอครป. 11 ข้อ ดังต่อไปนี้

หลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ใช้กำลังทหารยึดอำนาจการปกครองและบริหารประเทศมากว่า 5 ปี จนมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งได้มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีมาบริหารบ้านเมืองซึ่งทำให้เจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนถูกบิดเบือน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ชุดใหม่ (2562-2564) ได้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยด้วยความห่วงใย เนื่องจากองค์ประกอบของรัฐบาลใหม่มีแนวโน้มผูกขาดอำนาจการบริหารโดยกลุ่มบุคคลเดิมเป็นหลัก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นอกจากจะมีข้อสงสัยในเรื่องความสามารถแล้ว ยังขาดความจริงจังต่อการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การผูกขาดทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำและความยากจนเชิงโครงสร้าง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปการศึกษา การสร้างรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะ การแก้ปัญหาคนจนและที่ดินทำกินอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม ภายใต้บริบทการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นจากเดิม จากการมีสภาผู้แทนราษฎรและการที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีพรรคการเมืองผสมอยู่บ้าง ครป. คาดหวังว่า ผู้แทนปวงชนทั้งที่อยู่ในสภานิติบัญญัติและรัฐบาลจะผสานพลังกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยที่ยึดโยงด้วยหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม และจริยธรรมทางการเมืองมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยย้อนกลับไปสู่วังวนของความขัดแย้งที่รุนแรงดังที่เกิดในอดีตอีก ครป.จึงนำเสนอแนวทาง 11 ประการ ซึ่งมีทั้งข้อเสนอที่ให้รัฐบาลนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด และข้อเสนอสำหรับขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืน ดังนี้

1. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขความผิดพลาดในการแต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน โดยปรับเปลี่ยนบุคคลที่มีคุณสมบัติที่หมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และกรอบมาตรฐานทางจริยธรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ออกจากการเป็นรัฐมนตรีโดยเร็วพลัน อันได้แก่ บุคคลที่เคยอยู่ในบัญชีผู้มีอิทธิพลของหน่วยงานรัฐ เคยต้องโทษจำคุก ถูกร้องเรียนและกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) บุคคลที่ต้องสงสัยว่าประพฤติมิชอบเกี่ยวกับการให้กู้เงินแก่บริษัทเอกชน บุคคลที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการของรัฐ และบุคคลที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดของผู้มีอิทธิพล เพราะหากบุคคลเหล่านี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ย่อมทำให้คณะรัฐมนตรีขาดความชอบธรรม และอาจเป็นชนวนของความขัดแย้งทางการเมืองได้ในอนาคตอันใกล้

2. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและสร้างความสมานฉันท์ของสังคม โดยยึดแนวทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 78 หมวด 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐอย่างจริงจัง อันได้แก่ การส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน สำหรับนโยบายที่รัฐพึงดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงเริ่มต้นการบริหาร เช่น การสร้างกลไกหรือจัดตั้งหน่วยงานเพื่อส่งเสริมการศึกษาทางการเมืองของพลเมือง (Civic Education) และหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการใช้ประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน

3.ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อาจขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนโดยเร่งด่วน เช่น คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารในการค้น จับกุม กักตัว และสอบสวนคดีความมั่นคง ฉบับที่ 74/2559 เรื่องการให้นำที่ดินสาธารณสมบัติ มาทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่ 3/2559 การยกเว้นผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฉบับที่ 31/2560 การให้นำที่ดิน ส.ป.ก.มาใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นได้ เป็นต้น

4.ครป. ขอเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการค้า และสนับสนุนการค้าที่เป็นธรรมอย่างเป็นระบบโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการใช้มาตรการเพิ่มภาษีต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพต่อการกระทำที่เข้าข่ายผูกขาดหรือครอบงำตลาดของบริษัทขนาดใหญ่ ประกาศมาตรการที่ป้องกันและไม่อนุญาตให้เอกชนกลุ่มใดถือครองตลาดในด้านนั้นๆ เกินกึ่งหนึ่งของตลาด แก้ไขกฎหมายภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สิน โดยเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันและขึ้นแบบขั้นบันใด เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และการส่งเสริมทุนธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายสำคัญ


5.ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีธรรมาภิบาล มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเข้มงวด โดยให้มีการลงนามปฏิญญาต้านคอร์รัปชั่นของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการในระดับปลัดกระทรวงฯ อธิบดีทุกกรม และผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ซึ่งมีอำนาจในการเซ็นสัญญาต่างๆ ร่วมกันทั้งหมด และให้มีการทบทวนทุกโครงการที่ไม่โปร่งใสในรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่างตอบแทนกับกลุ่มทุนใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประชารัฐ โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสัมปทานพื้นที่ในสนามบินต่างๆ การให้การส่งเสริมการลงทุน (BOI) แก่เอกชนบริวารโดยมิชอบและไม่รู้จบ รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ฯลฯ การแก้ปัญหาธรรมาภิบาลต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของรัฐทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นทั้งระบบ ประเทศไทยควรตั้งองค์การจัดซื้อจัดจ้างกลางเพียง 1 องค์กรเท่านั้นเพื่อดำเนินการทำให้ทุกหน่วยราชการตามแบบแผนแม่บทขององค์การสหประชาชาติ

6.ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐ เคารพและยอมรับนับถือหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมอันเป็นรากฐานที่สำคัญของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย กำหนดนโยบายและมาตรการทั้งทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นต้น รวมทั้งการตรากฎหมายอนุวัติการเพื่อให้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับมีผลบังคับเป็นกฎหมายในประเทศ ยกเลิกบรรดากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดหรือแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม ไม่ว่าจะเป็นประกาศ/คำสั่งของ คสช. และพระราชบัญญัติที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกหลายฉบับ

คุ้มครองและยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) รวมทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือการคุกคามโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย (Judicial Harassment and SLAPP) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เป็นไปตามหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ต้องแยกงานสอบสวนออกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอัยการตามหลักสากล นำหลักความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice-TJ) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชาติ ทั้งความขัดแย้งระดับชาติและในจังหวัดชายแดนใต้ นิรโทษกรรมข้อหาความผิดทางการเมืองและทางความคิด เพื่อสร้างการปรองดองของคนในชาติ

7. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจการปกครองไปยังจังหวัดตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองภายใต้หลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยเร่งรัดให้มีการตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” ซึ่งกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 249 ในหมวดว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นโดยเร็ว โดยมีสาระสำคัญคือ (1) ให้จังหวัด “ที่มีความพร้อม”เป็นองค์การปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ในระดับบนและมีเทศบาลเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับล่างในจังหวัด (2) ไม่ให้มีหน่วยงานสังกัดราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัด เว้นแต่หน่วยงานเชิงประสานงาน กำกับดูแลหรือวิชาการ (3) ให้ราชการส่วนกลางตัดโอนภารกิจ อำนาจและหน้าที่ไปยังจังหวัดให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะและภารกิจอื่นได้กว้างขวางขึ้นในเขตจังหวัดแต่ไม่ครอบคลุมภารกิจด้านกระบวนการยุติธรรม การคลัง การต่างประเทศและความมั่นคง

(4) ให้มีสภาพลเมืองในระดับจังหวัดและเทศบาลเพื่อทำแผนพัฒนา ร่วมจัดสรรงบประมาณ ให้คำเสนอแนะ รวมทั้งถ่วงดุลตรวจสอบฝ่ายบริหารและสภาท้องถิ่น (5) ให้ประชาชนเลือก “ผู้บริหารจังหวัด”(ผู้ว่าราชการจังหวัด) (6) ให้จังหวัดฯ มีอำนาจจัดเก็บภาษีเพื่อหล่อเลี้ยงท้องถิ่นเองได้มากขึ้น รวมทั้งได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอบนหลักการทำงบประมาณโดยอิงฐานพื้นที่ (Area Base) (7) ให้มีคณะกรรมการจัดการท้องถิ่นแห่งชาติขึ้นทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ตรากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง กำหนดนโยบายพัฒนาการกระจายอำนาจ วินิจฉัยปัญหา ให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับจังหวัด ฯลฯ (8) ให้ที่มีอำนาจหน้าที่ บุคลากรและงบประมาณเพียงพอในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดให้ทันกับยุคแห่งการอภิวัฒนาการของเทคโนโลยี (9)มีการจัดตั้งตำรวจจังหวัดโดยโอนย้ายโครงสร้างตำรวจไปสังกัด “ผู้บริหารจังหวัด” และแก้ไขระบบการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจด้วยระบบอาวุโสและผลงาน ฯลฯ

8. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจัง กระทรวงแรงงานต้องเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นผู้แทนของกลุ่มนายทุน ข้อเสนอเรื่องแรงงานต้องได้รับการแก้ปัญหาและสร้างรัฐสวัสดิการแก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยมีรัฐวิสาหกิจมากมายที่เพียงพอแก่การดูแลและบริการสาธารณะ รัฐบาลต้องไม่แปรรูปและหาผลประโยชน์กำไรจากสินทรัพย์ของรัฐไปให้เอกชนตามแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ควรเน้นการแก้ปัญหาทางโครงสร้างสวัสดิการของคนงาน บนฐานของงานที่ดีและมีคุณค่า (Decent Work) และการหารายได้เพื่อจัดรัฐสวัสดิการโดยการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าซึ่งเป็นภาษีทางตรงและลดความเหลื่อมล้ำกับคนส่วนใหญ่ได้โดยตรง

9. ครป. ขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกมิติและทุกคุณภาพ สนับสนุนชุมชนจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสังคมในพื้นที่ สนับสนุนการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาสังคมไทยและการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับมนุษยชาติ รัฐบาลควรลงทุนในทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นพัฒนาทักษะในการคิด การวิเคราะห์ และการปฏิบัติ ควบคู่กับการเติบโตด้านคุณธรรม ภูมิปัญญา และมีวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ การศึกษาสมัยใหม่ต้องมีบทบาทมากขึ้นในการทำให้พลเมืองสามารถเลือกทางแนวทางดำรงชีวิตได้ว่า เขาจะดำรงชีวิตอยู่ภายใต้วัฒนธรรม ความเชื่อและบรรทัดฐานการปฏิบัติแบบใดในสังคม พร้อมกับที่เข้าใจ ยอมรับและเคารพในวีถีชีวิตที่แตกต่างของผู้อื่น ตามแนวทางสังคมพหุวัฒนธรรม

10. ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐมนตรีทุกกระทรวงแก้ปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาหรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐโดยเร่งด่วน เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงทรัพยากรโดยกลุ่มทุน ปัญหาประมงพื้นบ้าน ปัญหาราคาพืชผลทางเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) หรือสหกรณ์การเกษตรประจำอำเภอต่างๆ ที่เป็นปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าในปัจจุบัน ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการปกป้องทรัพยากรส่วนรวมจากการแสวงหาผลประโยชน์ของโครงการที่ไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ต้องมีการออกกฎหมายปฏิรูปที่ดินโดยกำหนดขอบเขตจำนวนพื้นที่การถือครองที่ดินแบบพอเพียง เพื่อป้องกันการถือครองที่ดินแบบเกินของกลุ่มทุนอันเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

11. ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล รัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา พรรคการเมืองทุกพรรคและประชาชนทุกฝ่ายประสานพลังและร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า โดยร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิผล ปรับเปลี่ยนอำนาจและบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาให้สอดคล้องกับวิถีประชาธิปไตย และการปฏิรูปกองทัพให้เป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองดังในนานาอารยะประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีเกียรติภูมิในประวัติศาสตร์การเมืองโลกและเปี่ยมด้วยพลังในก้าวสู่อนาคตอย่างแข็งแกร่ง.

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

21 กรกฎาคม 2562