posttoday

"กอ.รมน."ยันไม่มีอำนาจเรียกคนปรับทัศนคติ-กักขัง ย้ำไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

16 กรกฎาคม 2562

"โฆษก กอ.รมน." แจงไม่การแปลงคำสั่ง คสช.3/58 ถ่ายโอนอำนาจให้ กอ.รมน. เรียกคนปรับทัศนคติ ชี้มีกฎหมายปกติของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว

"โฆษก กอ.รมน." แจงไม่การแปลงคำสั่ง คสช.3/58 ถ่ายโอนอำนาจให้ กอ.รมน. เรียกคนปรับทัศนคติ ชี้มีกฎหมายปกติของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.62 พลตรี ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า เมื่อ คสช.สิ้นสุดหน้าที่ลงและรัฐบาลใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน กอ.รมน. ก็ยังทำงาน ดูแลความมั่นคง ในสถานการณ์ปกติต่อไป ในฐานะหน่วยประสานงาน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 อยู่ แต่ กอ.รมน. ก็ไม่ได้มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ เพราะ กอ.รมน. มี พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร 2551 อยู่แล้ว หากเกิดสถานการณ์ใด ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยประกาศพื้นที่ความมั่นคง ตาม มาตรา 15 และมาตรา 16 ได้

เมื่อมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงเกิดขึ้นก็จะประกาศเป็นพื้นที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เมื่อมีการประกาศแล้วก็จะต้องมีการใช้กำลังตามมาตรา 16 กอ.รมน.เลือกว่าจะใช้อำนาจหน้าที่อย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

"ยืนยันว่า พรบ.ความมั่นคง2551 ไม่ได้ให้อำนาจในการควบคุมตัว หรือเรียกใครมาปรับทัศนคติได้ กอ.รมน. เป็น แค่หน่วยประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ หากจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย ก็สามารถใช้กฎหมายปกติ ของหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานั้นได้ ไม่สามารถใช้ พรบ.ความมั่นคง ในการเชิญตัว มาได้"พลตรี ธนาธิปกล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของ มาตรา 13 / 1 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการอำนวยการ กอ.รมน. ระดับจังหวัด เชิญตัวบุคคลมาได้นั้น ไม่ใช่การเชิญมาปรับทัศนคติ แต่เป็นการเชิญมาให้ข้อมูล ในกรณีที่มีประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หรือจังหวัด. ที่ต้องการความเห็นเพิ่มเติม แต่ยังขาดข้อมูลจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็สามารถเชิญมาได้

"ไม่ใช่ว่าเชิญมาเฉพาะกรณีเกิดเรื่องไม่ดี แต่สามารถเชิญมาให้ความร่วมมือในการทำเรื่องดีๆให้กับจังหวัดและในพื้นที่ได้หรือในกรณีที่เกิดภัยพิบัติในพื้นที่ ก็สามารถเชิญบุคคล หรือตัวแทนหน่วยงานต่างๆมาร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาในทันทีทันใด"โฆษก กอ.รมน.กล่าว

โฆษก กอ.รมน. กล่าวอีกว่า กอ.รมน.ไม่สามารถเรียกตัวบุคคลมากักขังหรือพูดคุยได้ เพราะปัจจุบันกอ.รมน. ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และเมื่อมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงในพื้นที่จึงจะสามารถเข้าไปดูแลได้ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยการทำหน้าที่บูรณาการและประสานงานร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเมื่อคสช.ยุติบทบาท กอ.รมฯ.ก็เข้ามาโดยไม่ได้มีการโอนอำนาจแม้แต่อย่างใด

ส่วนที่มีการเชิญตัวก็อยู่ในมาตราที่ 13/1 ในข้อที่ 7 ในพ.ร.บ.ความมั่นคงฯก็มีอยู่ก่อนแล้ว โดยคณะกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผอ.กอ.รมน.จังหวัด และจะมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นคณะกรรมการด้วย เช่นกรณีมีโครงการจัดทำฝายระบายน้ำที่เสนอผ่านจังหวัดเข้ามาทางคณะกรรมการชุดนี้ก็จะมาช่วยพิจารณา หากมีจุดไหนที่ไม่เรียบร้อยหรือต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมก็จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล แต่ไม่ใช่การเรียกตัว ต้องใช้คำให้ถูกต้อง

พล.ต.ธนาธิป กล่าวว่า ขอยืนยันว่าพ.ร.บ.ความมั่นคงฯไม่ได้เชิญตัวบุคคลที่สอบปากคำหรือกักขัง ซึ่งมันเป็นกฎหมายคนละอย่างกับคสช. และกอ.รมน.ก็เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักงานนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่กองทัพ กฎหมายตัวนี้กอ.รมน.จะพยายามใช้กฎหมายที่ไม่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเน้นใช้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มากที่สุด ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ยืนยันว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ได้มีอำนาจเรียกบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองเข้ามาพูดคุย รวมถึงการเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ขณะนี้เดินสายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับต่างประเทศด้วย