posttoday

"กุลธิดา"หนุนใช้ "ภาษาท้องถิ่น" ในสภาสะท้อนความหลากหลาย

10 กรกฎาคม 2562

รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่อภิปรายหนุนใช้ "ภาษาท้องถิ่น" ในการอภิปรายในสภาฯ ชี้สะท้อนอัตลักษณ์ - ความหลากหลาย

รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่อภิปรายหนุนใช้ "ภาษาท้องถิ่น" ในการอภิปรายในสภาฯ ชี้สะท้อนอัตลักษณ์ - ความหลากหลาย

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 62 ในระเบียบวาระที่ คณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นำข้อบังคับใหม่ให้สภาพิจารณา น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับภาษาถิ่นและภาษากลางที่จะใช้ในสภาฯ โดยระบุว่า เรื่องภาษาเป็นสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย สำคัญที่สุดสภาแห่งนี้ควรเป็นสภาที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพนั้น ความเป็นสากลเรื่องของภาษาที่ใช้ในสภาไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เรื่องนี้ได้รับการถกเถียงมานานแล้วในสภาทั่วโลก สภาบางแห่งในต่างประเทศมีการถกเถียงและออกมาเป็นข้อบังคับของสภาเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น รัฐสภาแคนาดาใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งรัฐสภาเบลเยี่ยมก็ใช้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาเฟลมิช รัฐสภาฟินแลนด์ใช้ภาษาสวีดิช และภาษาฟินนิช

"หลายๆท่านอาจจะบอกว่า 2-3 ภาษานี้เป็นภาษาประจำชาติ รัฐสภาแคนาดาเองก็อนุญาตให้ใช้ภาษาครีส์ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองในที่ประชุมรัฐสภาโดยมีการให้บริการล่ามเพื่อความเข้าใจของท่านสมาชิก อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในบางประเทศที่มีความหลากหลายทางภาษาสูงอย่างประเทศอินเดีย ในรัฐธรรมนูญได้กำหนดภาษาหลักตามตารางที่ 8 เอาไว้ทั้งหมด 22 ภาษา รัฐสภาอินเดียอนุญาตให้สมาชิกอภิปรายในภาษาทั้งหมดนี้" น.ส.กุลธิดากล่าว

น.ส.กุลธิดากล่าวว่า ขอยืนยันในประเด็นที่จะต้องให้รัฐสภาเป็นที่ที่แสดงความหลากหลายทางอัตลักษณ์ของสมาชิก เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีภาษาแบบเดียวอย่างเดียว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ทั้งเชิงวัฒนธรรมและภาษา ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร อยากให้ทุกท่านเพื่อนสมาชิก ท่านประธานสภา ท่านคณะกรรมการทุกท่านลองนึกดูถึงสมาชิกสภาที่ปกติแล้วเกิดโตมาใช้ภาษาถิ่นมาตลอดทั้งในโรงเรียน ในการติดต่อราชการในพื้นที่ของเขา แม้กระทั่งการหาเสียงโดยใช้ภาษาถิ่นมาตลอด ทำไมในพื้นที่สภาแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารไม่ได้" น.ส. กุลธิดา กล่าว

"การใช้ภาษาเดียวเท่านั้นถือเป็นการกดขี่เชิงอัตลักษณ์ของความหลากหลายที่มีอยู่จริงในสังคมนี้ ประชาชนชาวไทยที่ได้เลือกแล้วเข้ามาอยู่ในสภาแห่งนี้มีความหลากหลาย และเราคือตัวแทนความหลากหลายนั้น จำเป็นเหลือเกินที่สังคมหนึ่งจะต้องสามารถแสดงออกถึงความหลากหลายของประชาชนของตัวเองผ่านพื้นที่อย่างสภาผู้แทนราษฎร สิ่งจำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องรักษาวัฒนธรรมในการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง เป็นหน้าที่หลักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้"น.ส.กุลธิดากล่าว