posttoday

สว.ชงตั้งกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศ

11 มิถุนายน 2562

"พรเพชร"ตั้ง 28 ส.ว. นั่งกรรมการยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ขณะที่ ส.ว. เสนอตั้งกมธ.ติดตามงานด้านปฏิรูปประเทศ

"พรเพชร"ตั้ง 28 ส.ว. นั่งกรรมการยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ขณะที่ ส.ว. เสนอตั้งกมธ.ติดตามงานด้านปฏิรูปประเทศ

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ... เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.เพื่อยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาเป็นเบื้องต้นแล้ว จำนวน 28 คน โดยมีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานกรรมการ, และ นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เป็นรองประธานกรรมการ ร่วมกับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรรธนะ ส.ว. เป็นรองประธานฯ

ขณะที่กรรมการคนอื่นๆ อาทิ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, นายคำนูณ สิทธิสมาน, พล.อ.ดนัย มีชูเวช, นายธานี อ่อนละเอียด, นายอนุศักดิ์ คงมาลัย, นายอำพล จินดาวัฒนะ, นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นกรรมการ เป็นต้น พร้อมกำหนดระยะเวลาให้ยกร่างข้อบังคับให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และเตรียมนำเข้าที่ประชุมวุฒิสภา ประมาณวันที่ 25 มิ.ย.เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาข้อบังคับการประชุมต่อ ไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าด้วยว่าหน้าที่สำคัญของส.ว. นอกจากการทำงานในชั้นนิติบัญญัติทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 กำหนดให้ ส.ว. มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ทำให้ ส.ว.ในชุดที่เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) , สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กว่า 50 คน นำโดย พล.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ส.ว., พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. เป็นต้นได้นัดหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. เพื่อทำข้อเสนอไปยังกรรมการยกร่างข้อบังคับการประชุม

พล.ต.ต.ยงยุทธ เปิดเผยว่าในการทำข้อบังคับการประชุม มีข้อเสนอให้ตั้ง กมธ.สามัญเพื่อติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด และบูรณาการงานปฏิรูปประเทศ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกมธ. ที่เพิ่มขึ้นใหม่ โดยจะกำหนดให้มี กมธ. รวมทั้งสิ้น 24 คณะ

ทั้งนี้ในการหารือดังกล่าวตนได้เสนอความเห็นด้วยว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่อง ส.ว.ควรมีบทบาทสำคัญคือการกำกับงานปฏิรูป ไม่ใช่การเข้าไปควบคุม รวมถึงต้องดูแลการปฏิรูปให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้วย โดยหากพบว่าการปฎิรูปหรือรายละเอียดมีการทุจริตจะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการ และหากพบว่าหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามแผนต้องรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีให้รับทราบ

พล.ต.ต.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บางส่วนมีความเห็นแย้งต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนการปฏิรูประเทศนั้น ตนมั่นใจว่าในขั้นตอนการทำงานไม่มีปัญหา เพราะทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองและมีเป้าหมายพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจเลือกวิธีปฏิบัติต่างกัน ดังนั้นหากพบว่าแนวทางการปฏิรูปที่บังคับใช้มีผลกระทบอย่างนัยยสำคัญ สามารถเสนอแก้ไขและปรับปรุงได้

“ผมเชื่อว่าประเด็นนี้เมื่อนำงานปฏิรูปเข้าสู่การขับเคลื่อนของรัฐสภา หรือ สภาผู้แทนราษฎร จะไม่ทำให้กลายเป็นประเด็นปัญหาหรือความขัดแย้ง ซึ่งในความเห็นของ ส.ว. หรือคนรุ่นใหม่ที่ดีกว่า คนรุ่นเก่าพร้อมจะรับฟัง เช่นเดียวกับความเห็นของผู้อาวุโสที่มากประสบการณ์ เชื่อว่าส.ส.คนรุ่นใหม่จะรับฟังและนำไปบูรณาการงานร่วมกันให้การปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้”พล.ต.ต.ยงยุทธ กล่าว.