posttoday

เกาะติดประเด็นร้อนวันที่ 5 มิ.ย.62

05 มิถุนายน 2562

เปิดสภา ส.ส.เครื่องร้อนเตรียมปล่อยของถล่มที่มานายกฯวัดจุดเดือด"ประยุทธ์"

เปิดสภา ส.ส.เครื่องร้อนเตรียมปล่อยของถล่มที่มานายกฯวัดจุดเดือด"ประยุทธ์"

"การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอาจไม่ต้องลุ้นเท่าบรรยากาศการประชุมที่ชวนระทึกกว่า"

จั่วหัวไว้แบบนี้ อย่างที่ทราบโดยทั่วกัน ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีวันนี้ ถ้าหากไม่เกิดฟ้าถล่มดินทลาย หิมะมาตกกระทันหัน ยังงั๊ยยังไง ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" บุคคลที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กลับมาเพิ่มสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อไป

เพราะด้วยจำนวนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองสนับสนุน 250 กว่าเสียง บวกรวมสมาชิกวุฒิสภา(สว.) อีก 250 คน ก็มีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง(376 เสียง) ของที่ประชุมรัฐสภา ในการคว้าเก้าอี้นายกฯไปได้

สำหรับการได้มาซึ่งนายกฯรอบนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ผู้ได้รับเลือกเป็นนายกฯต้องได้รับเสียงจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกินกึ่งหนึ่ง (ส.ส. 500 คน เกินกึ่งหนึ่งคือ 251 คน) ทว่า มีบทเฉพาะกาลล็อค ในช่วง 5 ปีแรก ผู้ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯต้องได้เสียงจากที่ประชุมรัฐสภา(ส.ส.บวก สว. ) เกินกึ่งหนึ่ง

นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้บริการของบทเฉพาะกาลดังกล่าว

ตามขั้นตอน ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯต้องมาจากพรรคการเมืองที่มีส.ส. 25 คนขึ้นไป ทำให้นอกจาก พลังประชารัฐเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ฝ่ายพรรคไม่เอา"ลุงตู่" อย่างพรรคเพื่อไทย ก็มีสิ่ทธิ์เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ เข้าแข่งขันได้เช่นกัน

ซึ่งในส่วนของพปชร.มอบหมายให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ โดยมีจำนวนสมาชิกสภาฯไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 50 คนรับรอง

จากนั้นการโหวตให้กระทำโดยการเปิดเผย ขานชื่อ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ งดออกเสียงอะไรทำนองนั้น

เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมสภา "พล.อ.ประยุทธ์" จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติ่ศาสตร์การเมืองได้รับเลือกให้เป็นนายกฯตามระบอบประชาธิปไตยไม่เหมือนกับห้าปีที่ผ่านมา ซึ่งตำแหน่งนายกฯ มาจากการชงเองกินเอง เขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเอง แต่งตั้งสนช.เอง ตบท้ายด้วยการรับตำแหน่งนายกฯเสียเอง
.......

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กระบวนการลงมติไม่มีอะไรมากให้น่าหวาดเสียว แต่ก่อนจะมาสู่การลงมติหน่ะสิ คาดว่าจะใช้เวลานานพอสมควรโดยจะมีการเปิดประชุมรัฐสภาเวลา 11.00 น. เมื่อมีการกล่าวปฏิญาณตนอะไรต่างๆเสร็จสิ้น นายชวน ผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาจะกล่าวถึงวาระประชุมพร้อมกับเปิดให้มีการอภิปรายซึ่งนับจากนาทีนี้เป็นต้นไปจึงชวนให้ติดตามยิ่งนัก

หลังจากก่อนหน้านี้ในการประชุมสภาฯเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภา เกิดบรรยากาศความวุ่นวายเต็มไปด้วยการอภิปรายลุกขึ้นประท้วง ตีรวนต่างๆ ถือเป็นการเรียกน้ำย่อยให้ประชาชนได้เห็นมาแล้วครั้งหนึ่ง

แต่สำหรับวาระการโหวตเลือกนายกฯ กลุ่มพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เตรียมพร้อมจัดเต็มราวกับเปิดศึกซักฟอกพล.อ.ประยุทธ์รวมไปถึงการอภิปรายพาดพิงสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากคสช.เข้ามาอีกด้วย

เฉพาะพรรคเพื่อไทย เตรียม 16 ปมร้อนที่อภิปรายด้วยการขุดคุ้ยเหตุการณ์อดีตของกลุ่มกปปส.ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนกระทั่ง สนับสนุน"บิ๊กตู่" ยึดอำนาจขึ้นครองตำแหน่งนายกฯมากว่า 5 ปี

นอกจากนี้ยังจัดทีมอภิปรายปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ภายใต้การนำของรัฐบาล"บิ๊กตู่"ที่ไม่มีอะไรดีขึ้น เรียกได้ว่า เคยวิจารณ์รัฐบาลคสช.นอกสภาไว้ยังไง ก็จะมาอภิปรายตอกย้ำความล้มเหลวอีกครั้งในสภาแห่งนี้

ขณะที่ "พรรคพลังประชารัฐ" รวมไปถึงกลุ่มสว.สายตรงคสช. จัดเตรียมองครักษ์พิทักษ์ "บิ๊กตู่" คอยอภิปรายหักล้าง และประท้วงการอภิปรายนอกประเด็นเช่นกัน

ครานี้จึงต้องโฟกัสการทำหน้าที่ของนายชวน ในฐานะประธานรัฐสภา ซึ่่งผ่านประสบการณ์อันเชี่ยวกราดในสภามานักต่อนัก จะสามารถควบคุมสมาชิกรัฐสภาที่มาจากหลากหลาย รุ่นเก่า รุ่นใหม่ ได้่อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ ประเมินว่า ชวน หลีกภัย จะควบคุมการประชุมได้อย่างแน่อนเพียงแต่จะเปิดช่องให้สมาชิกรัฐสภาถล่มปูมประวัติ"บิ๊กตู่" ได้ยาวนานขนาดไหนเท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอนจะไม่เป็นผลดีต่อพล.อ.ประยุทธ์ เพราะเจ้าตัวประกาศแล้ว การโหวตนายกฯเป็นเรื่องของสภา จึงไม่มาปรากฎตัวที่สภา ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์

ขณะเดียวกีน ต้องจับตาส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศเข้าร่วมรัฐบาลเมื่อค่ำวานนี้ เมื่อเข้ามาทำหน้าที่เลือกนายกฯ จะมีการอภิปรายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ หรือสวมบทเตมีย์ใบ้ รวมไปถึงการลงมติ ที่เปิดโอกาสให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคปชป.สามารถฟรีโหวตได้แต่เพียงผู้เดียว

แม้สมาชิกรัฐสภาจะอภิปรายดุเด็ดเผ็ดร้อนเพิ่มจุดเดือดให้พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ถือเป็นการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยแสดงความคิดเห็น ตรวจสอบตามกรอบกติกาประชาธิปไตย

ส่วนสมาชิกรัฐสภาท่านใดกระทำการล้ำเส้ันอภิปรายพาดพิงสร้างความเสียหาย ย่อมมีบทลงโทษอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ติดตามพฤติกรรมผู้เรียกได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยมีคุณค่าเพียงพอต่อสภาอันทรงเกียรตินี้หรือไม่