posttoday

ส่องโฉมหน้าครม.บิ๊กตู่ชุดเลือกตั้งเหล้าเก่าในขวดใหม่

27 เมษายน 2562

โฉมหน้าครม.ใหม่บิ๊กตู่ชุดเลือกตั้งแม้จะยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแต่รายชื่อรัฐมนตรีคงไม่หนีจากเดิมมากนัก เพียงแต่มีนักการเมืองเข้ามาเสริมตามโควต้า

โฉมหน้าครม.ใหม่บิ๊กตู่ชุดเลือกตั้งแม้จะยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการแต่รายชื่อรัฐมนตรีคงหนีไม่พ้นคนหน้าเดิมๆ

แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จะยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.โดยจะต้องรอไปจนถึงวันที่ 9 พ.ค. แต่ผลการเลือกตั้งในเบื้องต้นที่ออกมาทำให้พรรคพลังประชารัฐ มีเสียงพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว โดย มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ในการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้นจำนวนขององค์ประชุมคือ 750 เสียง ประกอบด้วย ส.ส.500 คนและส.ว.250 คน โดยผู้ชนะต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งในเบื้องต้น พรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตร รวมกันมีเสียง 126 เสียง ซึ่งประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 118 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคท้องถิ่นไทย 2 เสียง และพรรคประชาชนปฏิรูป 1 เสียง เมื่อผสมกับ 250 ส.ว.ที่อยู่ในกระเป๋า พล.อ.ประยุทธ์ ที่พร้อมประกาศรายชื่อภายใน 3 วัน หลังมีการรับรองส.ส.ก็จะมีเสียงถึง 376 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทันที โดยที่ไม่ต้องใช้เสียงพรรคอื่นๆก็ได้

ทว่าประเด็นปัญหา คือ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะตั้งรัฐบาลได้ แต่จะบริหารประเทศไม่ได้ เพราะ250 เสียงของส.ว.ไม่ได้อยู่ช่วยตลอดไป แค่มาทำหน้าที่ส่งพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น และต่อจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องหาเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรเอาเอง คือต้องให้ได้เกินครึ่งคือ 251เสียงขึ้นไป ซึ่งในเวลานี้ยังไม่สามารถหาได้ครบ เพราะยังเกิดความไม่ชัดเจนในเรื่องการคำนวณเสียงในระบบบัญชีรายชื่อ เลยส่งผลทำให้พรรคอื่นๆที่จะตัดสินใจมาร่วมยังไม่สามารถคำนวณโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีได้

ขณะเดียวกันถึงแม้จะรวมเสียงส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็ถือว่าปริ่มน้ำอยู่ดี เพราะเวลานี้ 7 พรรคการเมือง ที่จับมือกันเป็นพันธมิตรในนามฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งคะแนนดิบเบื้องต้นที่คำนวณรวมกัน 255 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 137 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 88 พรรคเสรีรวมไทย 12 พรรคประชาชาติ 6 พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 พรรคเพื่อชาติ 5 และพรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง แต่ทั้งหมดนี้ต้องรอดู ใบเหลือง ใบส้ม รวมถึงวิธีคิดคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อของกกต.ว่าจะออกมาอย่างไร แต่ถึงนาทีนี้ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน อย่างไร จำนวนเสียงในสภา สองฝ่ายคะแนนก้ำกึ่งกัน ชนิดต้องตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ หรือถึงขั้นต้องซื้องูเห่ามาค้ำเสถียรภาพรัฐบาลกัน ท่ามกลางการเสนอสูตรรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลช่วยชาติ เพื่อหาทางออกไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตามพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่า หลังวันที่9พ.ค.จะประกาศจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอบิ๊กตู่ เป็น นายกรัฐมนตรี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการไปเตรียมฟอร์มคณะรัฐมนตรีกันไว้แล้ว เบื้องต้นจะไม่ให้ส.ส.ระบบเขตเป็นรัฐมนตรีเพราะจะทำให้ไม่สามารถโหวตลงมติในสภาได้ เพราะจะทำให้เสียงที่ปริ่มน้ำอยู่แล้วมีปัญหามากขึ้น ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อสามารถเป็นรัฐมนตรีได้ แต่ต้องลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีลำดับถัดมาเป็นส.ส.เพื่อมาทำหน้าที่ในสภาได้อย่างเต็มที่

สำหรับรายชื่อครม.บิ๊กตู่ชุดเลือกตั้ง หน้าตาคงไม่หนีจากเดิมมากนัก เพียงแต่มีนักการเมืองเข้ามาเสริมบ้าง โดยในส่วนพรรคพลังประชารัฐ นั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะยังคงมีชื่อเป็นรัฐมนตรี โดยเบื้องต้นอยากอยู่ในตำแหน่งเดิม

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ขอจองคุมต่อไป โดยมีชื่อของรัฐมนตรี 4 ยอดกุมาร นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคพลัง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค อดีตรมว.พาณิชย์ และรวมถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ร่วมทีมด้วย ส่วนใครจะอยู่ตำแหน่งใด อยู่ที่การต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาล

ในขณะที่ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรค พปช.จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี อาทิ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตีหลายกระทรวง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง นายวิรัช รัตนเศรษฐ อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำผลงานได้ดีจนทำให้ พรรคพปชร.ชนะในพื้นที่ จ.นครราชสีมา หลายที่นั่ง นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.คมนาคม ซึ่งย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย ที่ชนะมายก จ.เพชรบูรณ์

ด้าน พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ จะมี นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายจุติ ไกรฤกษ์ อดีตรมว.ไอซีที นายอัศวิน วิภูศิริ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการณ์หัวหน้าพรรค ซึ่งทั้งหมดเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค นางนาที รัชกิจประการ อดีตส.ว.พัทลุง ซึ่งประสบความสำเร็จในการทำให้พรรคภูมิใจไทยได้รับการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทยและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อดีตรมช.คมนาคม

พรรคชาติไทยพัฒนา นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีตรมช.คมนาคม นายธีระ วงศ์สมุทร อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ นายประภัทร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ แม้เป็นส.ส.เขต แต่ด้วยความที่มากบารมีคงจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีชัวร์ ส่วนพรรคชาติพัฒนา แม้จะได้ 2เสียง แต่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ คงดันให้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภน้องชาย ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติพัฒนานั่งเป็นรัฐมนตรี ไม่ยาก