posttoday

ปธ.ศาลฎีกาเตือนถ้าไม่ยอมรับกติกาประเทศวุ่นวายแน่

26 เมษายน 2562

ปธ.ศาลฎีกาชี้ศาลตัดสินมีทั้งคนพอใจ-ไม่พอใจ เตือนถ้าทุกคนไม่ยอมรับกติกา ไม่ยอมรับการตัดสินขององค์กรตามรัฐธรรมนูญวุ่นวายแน่

ปธ.ศาลฎีกาชี้ศาลตัดสินมีทั้งคนพอใจ-ไม่พอใจ เตือนถ้าทุกคนไม่ยอมรับกติกา ไม่ยอมรับการตัดสินขององค์กรตามรัฐธรรมนูญวุ่นวายแน่

นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กล่าวในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง “มองกัญญชาให้รอบด้าน” ที่อาคารไทยซีซีทาวเวอร์ ซึ่งสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ร่วมกับผู้เข้ารับอบรม หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงรุ่นที่ 23 ได้จัดขึ้น ตอนหนึ่งว่า การตัดสินคดีของศาลทุกคดีก็จะต้องมีฝ่ายชนะและฝ่ายใดแพ้ฝ่ายหนึ่ง ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่าขอความเป็นธรรมอยากได้รับความเป็นธรรมจากศาล ซึ่งความเป็นธรรมของผู้พูดไม่ว่าในฐานะโจทก์หรือจำเลยก็คือเขาจะต้องชนะคดี ศาลไม่สามารถให้ทั้งโจทก์และจำเลยชนะคดีได้พร้อมพร้อมกันผู้ที่ชนะคดีก็พึงพอใจ ผู้ที่แพ้คดีก็ไม่พึงพอใจเป็นเรื่องธรรมดาเราไม่สามารถทำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายชนะทั้งคู่ ไม่ว่าศาลที่ไหนในโลกนี้

ทั้งนี้ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศต่างๆตามคำเชิญของประธานศาลฎีกาแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยมจะเรียกผู้นำศาลว่าประธานศาลประชาชนสูงสุด ส่วนที่ปกครองโดยทุนนิยม เสรีนิยม สังคมนิยม ก็มีศาลเป็นผู้ตัดสินคดีเป็นแบบนี้ทั่วโลก มีฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะ เหมือนกัน และอยากเรียนให้ทุกคนทราบที่มาร่วมสัมมนาว่าเมื่อศาลได้มีคำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งฝ่ายที่ชนะคดีก็จะมีความพึงพอใจว่าได้รับความเป็นธรรมฝ่ายที่แพ้คดีก็จะบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และคนเดียวกันเวลาที่มาใช้บริการศาลถ้าชนะคดีก็จะยิ้มออกไปจากศาลแต่คนคนนั้นเมื่อมาใช้บริการศาลในคดีอื่นถ้าแพ้ก็จะเดินออกไปและพูดออกมาดังๆว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ศาลเราก็จะถูกต่อว่าหรือสังคมก็จะกังขาอย่างนี้ตลอด แต่เราไม่มีทางทำเป็นอย่างอื่นได้เราจะให้ชนะคดีทั้งสองฝ่ายก็เป็นไปไม่ได้ ศาลเราไม่มีส่วนได้เสียกับใคร ศาลเป็นองค์กรที่ตั้งรับเราไม่ได้ทำงานในเชิงรุกเราจะทำงานต่อเมื่อมีผู้นำคดีมาฟ้องต่อศาล เราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ให้ความเป็นธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่แพ้คดีทุกครั้งที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ศาลก็จะมีคำถามตามมาว่าศาลไม่ทำอะไรหรือมีปฏิกิริยาบ้างหรืออย่างไรหรือว่าไม่รู้ร้อนรู้หนาว สังคมจะเข้าใจผิดเราหรือไม่

ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งในฐานะผู้นำองค์กรก็บอกว่าเราไปโต้ตอบเขาไม่ได้หรอกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรเราก็ต้องอดทนเราจะพูดอย่างไรคนที่เขาแพ้คดีเขาก็ไม่มีทางเห็นด้วยกับเรา ไม่มีประโยชน์ที่จะไปพูดโต้ตอบก็จะกลายเป็นคู่กรณี ซึ่งศาลไม่เคยเป็นคู่กรณีกับใครเรามีหน้าที่ชี้ขาดให้คู่กรณีที่นำคดีขึ้นมาสู่ศาล

“เราเป็นผู้ใหญ่คนที่วิพากษ์วิจารณ์เราเป็นเด็กกว่าเราคำว่าเป็นเด็กไม่ได้หมายความว่าอายุน้อยกว่าเราแต่การวัดว่าใครเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้วัดที่อายุไม่ได้วัดที่ตำแหน่งหน้าที่แต่วัดที่ความอดทน ไม่ต้องไปทะเลาะกับเขา เรารอว่าเมื่อไหร่เขาจะมาขึ้นศาลเท่านั้นเอง เราก็จะให้ความเป็นธรรมกับเขาเหมือนทุกๆคน ผมเคยพูดกับผู้พิพากษาว่าดูเกมฟุตบอลถ้าเราลงไปไล่ฟุตบอลกลางสนามเราจะเหนื่อย รอยิงลูกโทษอย่างเดียว ง่ายกว่าเยอะบอลวางอยู่เฉยๆประตูกว้างๆเราเตะเข้าโกล์ง่ายกว่า”นายชีพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเข้าใจกันชีวิตก็ง่ายทุกๆฝ่ายต่างมีบทบาทหน้าที่อย่างไรปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้คนไทยเราไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน

“รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศได้กำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรต่างๆไว้ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ทำอะไรนิติบัญญัติมีหน้าที่ทำอะไร ศาลมีหน้าที่ทำอะไร องค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ทำอะไรทุกอย่างเขียนไว้ในกฎหมายแต่คนไทยสังคมไทยเราไม่ยอมรับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ก็ดีตามที่กฎหมายต่างๆบัญญัติไว้ก็ดี เมื่อเขาได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วถ้าไม่ถูกใจคนไทยเราส่วนหนึ่งไม่ยอมรับแล้วสังคมจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าเราไม่ยอมรับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้มันก็ต้องใช้กฎหมายเถื่อนความป่าเถื่อน ถ้าใช้ความพึงพอใจส่วนตัวและสังคมก็จะไม่สงบสุขความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวที่เป็นอย่างนั้นถ้าติดตามข่าวทั่วโลกในปัจจุบัน แม้ประเทศที่อ้างว่าตัวเองเป็นประเทศที่ศรีวิไลหรือเจริญแล้วแต่เมื่อไม่พอใจรัฐก็ออกมาก่อความวุ่นวายมากมายไม่ใช่มีเฉพาะประเทศไทย”นายชีพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม อยากจะฝากตรงนี้ถ้าเราไม่ยอมรับกติกาไม่ว่ากติกาใดๆทั้งสิ้น มันก็วุ่นวายถ้าเราไม่เห็นด้วยกับกติกาก็ต้องแก้กติกาก่อน ซึ่งไม่ว่าจะแก้กติกาอย่างไร เมื่อวินิจฉัยหรือตัดสินออกมาแล้วก็ไม่มีทางที่จะพึงพอใจได้ทุกฝ่ายที่ไหนในโลกนี้ก็เป็นอย่างนี้