posttoday

ปิยบุตรเปิดตำราสอนวิชาระบอบเผด็จการ

12 เมษายน 2562

เปิดคอร์สร่ายยาว 4 วิธีแปลงความต้องการของเผด็จการให้เป็นกฎหมายก่อนไปรับทราบข้อหา 17 เม.ย.นี้  

เปิดคอร์สร่ายยาว 4 วิธีแปลงความต้องการของเผด็จการให้เป็นกฎหมายก่อนไปรับทราบข้อหา17 เม.ย.นี้  


เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งประกาศเตรียมตัวไปรับทราบข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในวันที่ 17 เม.ย. ด้วยตนเอง ได้ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตนในหัวข้อ [ระบอบเผด็จการใช้ "กฎหมาย" เป็นเครื่องมือในการควบคุมคนได้อย่างไร?] โดยมีเนื้อหาดังนี้

1. การแปลงความต้องการของเผด็จการให้เป็น “กฎหมาย”

ในระบอบเผด็จการที่รวบอำนาจสูงสุดไว้ที่คนคนเดียวหรือคณะบุคคลไม่กี่คน เป้าหมายของรัฐเป็นหลัก สิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นข้อยกเว้น คณะผู้เผด็จการย่อมใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลหรือไม่ ขอเพียงเป็นไปเพื่อ “เหตุผลของรัฐ”แล้ว พวกเขาก็ใช้อำนาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพได้เสมอ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้อำนาจของเผด็จการไม่แลดู “ดิบเถื่อน”จนเกินไปนัก จึงจำเป็นต้องแปลงรูปการใช้อำนาจเหล่านั้นให้เป็น “กฎหมาย”เพื่อสร้างความชอบธรรมการใช้อำนาจเผด็จการ

วิธีการแปลงความต้องการของเผด็จการให้กลายเป็น “กฎหมาย” ทำได้สองรูปแบบ

ในรูปแบบแรก คณะเผด็จการออกประกาศ คำสั่ง และ “เสก” ให้มันมีสถานะเป็น “กฎหมาย”เมื่อคณะผู้เผด็จการต้องการอะไร ก็เอาความต้องการนั้นมาเขียนเป็นประกาศ คำสั่ง

ในรูปแบบที่สอง คณะผู้เผด็จการอาจทำให้ “แนบเนียน”กว่านั้น ด้วยการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมา และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ วิธีการนี้ดูแนบเนียนกว่าวิธีแรก เพราะ“กฎหมาย”ที่ออกมานั้นเป็นผลผลิตขององค์กรนิติบัญญัติ ไม่ใช่คณะผู้เผด็จการตราขึ้นเอาเองตามอำเภอใจ แต่เอาเข้าจริงแล้ว คณะผู้เผด็จการก็ยังคงเป็นผู้บงการชักใยสภานิติบัญญัติอยู่

การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในระบอบเผด็จการในกรณีแรกนี้ ก็คือ การเปลี่ยน “ปืน”ให้กลายเป็น “กฎหมาย”โดยเอา “กฎหมาย”ไปห่อหุ้ม “ปืน”นับแต่นี้ การใช้อำนาจเผด็จการจากปืนก็แปลงกายมาเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เอาเข้าจริง มันคือการใช้ปืนดีๆนี่เอง

2. การนำ “กฎหมาย” ของเผด็จการไปใช้บังคับ

เมื่อระบอบเผด็จการผลิต “กฎหมาย” ขึ้นใช้แทนที่ “ปืน” แล้ว “กฎหมาย” เหล่านั้นจะมีผลใช้บังคับได้จริง ก็ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการเป็นผู้นำไปใช้

การนำ “กฎหมาย” ของเผด็จการไปใช้บังคับ แบ่งได้สองกรณี

ในกรณีแรก เจ้าหน้าที่ใช้บังคับกฎหมายเพื่อจับกุมคุมขัง ลิดรอนเสรีภาพของบุคคลที่ต่อต้านเผด็จการ เช่น บุคคลชุมนุมต่อต้านเผด็จการ แทนที่คณะผู้เผด็จการจะสั่งการให้กองกำลังทหาร-ตำรวจบุกเข้าลายการชุมนุม ปราบปราม ฆ่า อุ้มหาย จับกุมคุมขังโดยอำนาจเถื่อน ก็ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการนำ “กฎหมาย”มาใช้เพื่อจัดการกลุ่มผู้ต่อต้านเผด็จการ


บรรดาเจ้าหน้าที่อ้างได้ว่าการใช้อำนาจของพวกเขาเป็นไปตาม “กฎหมาย”

นี่คือการรักษากฎหมาย ไม่ใช่การละเมิดสิทธิและเสรีภาพ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสั่งฟ้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าบุคคลเหล่านั้นมีความผิดอาญาหรือไม่ ในท้ายที่สุด ศาลก็พิพากษาให้ผู้ต่อต้านระบอบเผด็จการมีความผิด ต้องรับโทษจำคุก

การปราบปรามฝ่ายต่อต้านเผด็จการด้วยวิธีการเช่นนี้ คณะผู้เผด็จการไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทางกายภาพ ไม่ต้องอุ้มฆ่า ไม่ต้องขังลืม

เพียงแต่ตรากฎหมายขึ้น แล้วเจ้าหน้าที่และศาลก็ยินยอมพร้อมใจกันนำกฎหมายไปใช้ปราบปรามฝ่ายต่อต้านเผด็จการให้แทน คณะผู้เผด็จการสามารถอ้างได้ว่าบุคคลที่ถูกศาลตัดสินลงโทษเหล่านี้ กระทำการผิดกฎหมาย และศาลก็เป็นผู้ตัดสิน คณะผู้เผด็จการไม่ได้ใช้อำนาจปราบปรามตามอำเภอใจ การปราบปรามฝ่ายต่อต้านเผด็จการซึ่งเป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กลับถูกฉาบด้วย “กฎหมาย” และ “คำพิพากษา”

ในกรณีที่สอง คือ เจ้าหน้าที่และศาลใช้บังคับกฎหมายเพื่อรับรองการใช้อำนาจหรือยกเว้นไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้เผด็จการ เช่น บุคคลที่เห็นว่าการใช้อำนาจของคณะผู้เผด็จการไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิของตน ได้ฟ้องโต้แย้งไปยังศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศหรือคำสั่งของคณะผู้เผด็จการ หรือสั่งให้คณะผู้เผด็จการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ศาลกลับยกฟ้อง โดยอ้างว่า “กฎหมาย” (ซึ่งตราขึ้นในสมัยเผด็จการ) ได้รับรองการใช้อำนาจของคณะผู้เผด็จการไว้ทั้งหมดแล้ว

กรณีเช่นนี้ทำให้การใช้อำนาจของคณะผู้เผด็จการไม่อาจถูกตรวจสอบได้เลย แน่นอนว่าการที่คณะผู้เผด็จการไม่ถูกตรวจสอบและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นเรื่องธรรมชาติตามอัปลักษณะของระบอบเผด็จการอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อศาลเข้ายืนยันอัปลักษณะนี้ด้วย ก็ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับคณะผู้เผด็จการว่า พวกตนได้การรับรองจาก “กฎหมาย” และ “ศาล”

3. การนำ “กฎหมาย” ที่มีอยู่แล้ว ไปใช้ในทางไม่เป็นคุณกับเสรีภาพ

ระบอบเผด็จการอาจนำ “กฎหมาย” ที่มีอยู่แล้วไปใช้อย่างไม่มีมาตรฐาน ไม่แน่นอนชัดเจน เพื่อลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จนทำให้บุคคลผู้อยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายนั้นไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจใช้เสรีภาพของตนนั้นจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต้องได้รับโทษหรือไม่ เมื่อเกิดความไม่แน่นอนชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วตนจะถูกดำเนินคดีและลงโทษหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง พวกเขาก็เลือกที่จะ “เซนเซอร์ตนเอง” ด้วยการไม่ใช้เสรีภาพนั้นเลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีประเทศไทย คือ การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาใช้
เมื่อเกิดความไม่แน่นอนชัดเจนว่าการะทำใดเป็นความผิด ประกอบกับกระบวนการยุติธรรมที่มีลักษณะพิเศษต่างจากความผิดฐานอื่น เช่นนี้แล้ว บุคคลก็เกิดความหวาดกลัว และยินยอมสมัครใจไม่ใช้เสรีภาพ ระบอบเผด็จการจึงสามารถควบคุมพฤติกรรมของบุคคลได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือบังคับสั่งห้าม

4. การนำ “กฎหมาย” ที่มีอยู่แล้วไปใช้แบบบิดเบือน บิดผันอำนาจ (abuse of power) เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของเผด็จการ

ระบอบเผด็จการอาจไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นใหม่ แต่นำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างบิดเบือนอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายวิธีพิจารณาความ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของฝ่ายต่อต้านเผด็จการ เช่น ระบอบเผด็จการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องของการจับกุมมาใช้กลั่นแกล้งฝ่ายต่อต้านเผด็จการด้วยการออกหมายจับฝ่ายต่อต้านเผด็จการ แต่ก็ไม่เคร่งครัดกับการไปตามจับอย่างจริงจัง

ด้วยเกรงว่าการจับกุมคุมขังอาจบานปลายและกลายเป็นชนวนจนนำไปสู่การลุกฮือต่อต้านได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของฝ่ายต่อต้านเผด็จการเอง ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวรณรงค์ได้เต็มที่ เพราะ มีหมายจับและคดี “ปักเป็นชนักติดหลัง” อยู่ หากเคลื่อนไหวมาก หากฝ่ายต่อต้านเผด็จการตัดสินใจลดระดับการต่อสู้กับเผด็จการลง การจับกุมก็ไม่เกิดขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายต่อต้านเผด็จการยังคงยืนยันที่จะเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการต่อไป เมื่อคณะผู้เผด็จการทนไม่ไหว สุดท้ายฝ่ายเผด็จการก็อ้างหมายจับนั้นเข้าจับกุมฝ่ายต่อต้านเผด็จการ

เช่นเดียวกัน ฝ่ายเผด็จการตั้งข้อหาและดำเนินคดีกับแกนนำฝ่ายต่อต้านเผด็จการในศาล หากศาลตัดสินเอาเข้าคุก ก็อาจเกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับลุกฮือได้ แต่ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ แล้วก็ปล่อยให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้า อาศัยเทคนิควิธีทางกฎหมายยื้อคดีไปเรื่อยๆ แกนนำฝ่ายต่อต้านเผด็จการก็ไม่อาจเคลื่อนไหวได้เต็มที่ เพราะ มีคดี “ปัก” ไว้ที่กลางหลังอยู่ ถ้าแกนนำฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่เกรงกลัว ยังคงเดินหน้าต่อสู้กับเผด็จการอย่างเปิดเผย ศาลก็อาจตัดสินให้แกนนำมีความผิดและต้องรับโทษจำคุกได้

การนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาใช้อย่างบิดเบือนของฝ่ายเผด็จการนี้ ช่วยให้ฝ่ายเผด็จการสามารถ “ผ่อนหนักผ่อนเบา” และประเมินสถานการณ์ได้ตลอดเวลาได้ว่าช่วงใดควรปล่อย ช่วงใดควรจับ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านเผด็จการก็ถูกกดด้วยกระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้ ไม่ให้เคลื่อนไหวได้เต็มที่
...
การนำ “กฎหมาย” มาใช้เป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการทั้งสี่ลักษณะนี้ ทำให้การใช้อำนาจของเผด็จการแลดู “อ่อนนุ่ม” ขึ้น เพราะทั้งหมดล้วนแล้วแต่อาศัยอำนาจตาม “กฎหมาย” เป็นไปตาม “กฎหมาย” ไม่ใช่มาจากการใช้กำลังทางกายภาพหรืออาวุธเข้าปราบปราม นอกจากนี้ ยังช่วยให้ระบอบเผด็จการมีเครื่องมือให้เลือกใช้หลายประเภท ตามแต่ละสถานการณ์

ปรากฏการณ์การนำ “กฎหมาย” มาใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการ ทำให้ระบอบเผด็จการกลายเป็น soft coup, soft dictator ไม่มีภาพของความรุนแรง ไม่มีการปราบปรามจนทำให้มีผู้บาดเจ็บสูญหายล้มตายจำนวนมาก ในขณะที่ภาพของการต่อต้านเผด็จการก็ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวาง เพราะ ประชาชนหวาดกลัวการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ส่วนระบอบเผด็จการสามารถอาศัยความชอบธรรมจาก “กฎหมาย” อ้างต่อชาวโลกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และสถานการณ์ภายในประเทศสงบเรียบร้อย ปราศจากการต่อต้าน