posttoday

ปชป.หนุน เก็บภาษี อาลีบาบา-เฟซบุ๊ก-ไลน์-กูเกิล

14 มีนาคม 2562

“ปริญญ์” หนุน ปชป.ปรับโครงสร้างภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ เผยที่ผ่านมา 90% เก็บจากคนจน เสนอเก็บภาษีเศรษฐีต่างด้าว เช่น อาลีบาบา-เฟซบุ๊ก-ไลน์-กูเกิล ชี้จับเสือมือเปล่ามาหลายปี ถึงเวลาวางบิล

“ปริญญ์” หนุน ปชป.ปรับโครงสร้างภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ  เผยที่ผ่านมา 90% เก็บจากคนจน เสนอเก็บภาษีเศรษฐีต่างด้าว เช่น อาลีบาบา-เฟซบุ๊ก-ไลน์-กูเกิล ชี้จับเสือมือเปล่ามาหลายปี ถึงเวลาวางบิล

เมื่อวันที่ 1 4 มี.ค. 2562 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวสนับสนุนนโยบายที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคปชป. ได้ประกาศจะปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะลดภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากที่ผ่านมา 90% เป็นภาษีเงินได้ส่วนบุคคล มีเพียง 10% นั้นที่เก็บจากทรัพย์สิน ที่ดิน ซึ่งยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำมันถ่างออกไป คนรวยก็จะยิ่งรวยขึ้นและคนจนก็จนลง อีกเรื่องที่ควรจะต้องปรับโครงสร้างคือ หนี้บัตรเครดิต ที่มีธนาคารใหญ่ไม่กี่แห่งเป็นเสือนอนกิน เนื่องจากมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยบัตรเครดิตในอัตราที่สูงมาก ทั้งนี้รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือน หนี้ภาคการเกษตร ที่จะต้องนำมากองรวมเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยกลไกคลินิคแก้หนี้ ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

“นอกจากนี้พวกเศรษฐีต่างด้าวหลายราย โดยเฉพาะรายใหญ่อย่าง อาลีบาบา เฟซบุ๊ก ไลน์ กูเกิล ฯลฯ ก็ควรจะเก็บภาษีได้แล้ว และการจัดเก็บก็ไม่กระทบกับคนไทย แต่จะมีรายได้เข้าประเทศ ที่ผ่านมา 5 ปี ไม่ได้เก็บใครเลย ในขณะที่ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เขาเริ่มเก็บกันแล้ว ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเรียกเก็บบ้างเพื่อความเป็นธรรมทางด้านภาษี” ทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นายปริญญ์ กล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ผลักดันการตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซี่งเป็นระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในวัยชราภาพให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยมองว่าการออมเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อไม่ได้เป็นรัฐบาลกองทุนดังกล่าวก็ถูกละเลยโดยรัฐบาลถัดมา ซึ่งหากมีโอกาสเข้าไปทำงานอีกครั้ง ปชป.ก็จะดำเนินการต่อ 

อย่างไรก็ตามนายปริญญ์ บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ทุกนโยบายขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้ ประชาชนจะต้องตื่นรู้ และแสดงออกในเชิงสร้างสรร เสนอทางออกที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศ อ่ย่าฟังคนที่มาหาเสียงว่าจะเอาหรือไม่เอาประชาธิปไตย เพราะเรากำลังจะมีประชาธิปไตยอยู่แล้ว เช่นเดียวกับจะเอาหรือไม่เอาเผด็จการ นั่นเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะตรวจสอบ ให้เขาตื่นรู้เอง อย่าปั่นกระแสสร้างวาทะกรรมนำไปสู่ความขัดแย้ง