posttoday

กกต.ส่งศาลรธน.วินิจฉัยคุณสมบัติ 4 รมต.

11 มกราคม 2562

อิทธิพร เผย กกต. มีมติ ยื่นเรื่อง 4 รมต.ถือหุ้นสัมปทานรัฐขัดกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

อิทธิพร เผย กกต. มีมติ ยื่นเรื่อง 4 รมต.ถือหุ้นสัมปทานรัฐขัดกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า กกต. ได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของมล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรมช. ศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ สิ้นสุดลงหรือไม่จากกรณีถือหุ้นสัมปทานรัฐ เข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ขัด รัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 170 วรรคสาม แต่ขอที่จะไม่เปิดเผยว่าเป็นการเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอหรือไม่ และกกต.มีมติเป็นเอกฉันท์หรือเสียงข้างมาก
ทั้งนี้ ในการพิจารณาไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการพิจารณาไปตามเนื้อหา รายละเอียดทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญพึ่งได้ตัดสินไป กกต.ก็คำนึงถึงศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในคำวินิจฉัยนั้นด้วย อันไหนเป็นกรณีเหมือนกัน ก็ต้องมองไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มองเอาไว้ กรณีไหนคล้ายกันแต่ไม่ใช่โดยแท้ ก็จะถือว่ายังไม่เกี่ยวข้อง และอาจจะเป็นประเด็นที่กกต.เห็นว่า ยังไม่มีบรรทัดฐานชัดเจน ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด

ส่วนกรณีนี้ข้อเท็จจริงต่างจากกรณีการถือครองหุ้นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไปแล้วว่าไม่ผิด และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยชัดเจน ประธานกกต. กล่าวว่า คงสรุปอย่างนั้นไม่ได้ แต่ละกรณีมีหลายประเด็น บางประเด็นก็เกี่ยวพัน หรือคล้ายกัน ส่วนระยะเวลาการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องตามหลักปฏิบัติโดยปกติ เมื่อผ่านเป็นมติกกต.แล้ว ทางสำนักงานกกต.ก็ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว

อนึ่ง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องขอให้กกต.ตรวจสอบ เมื่อเดือนม.ค.และก.พ.2561โดยตามคำร้องระบุว่า ม.ล.ปนัดดา ได้แสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินต่อป.ป.ช.ว่ามีหุ้นของบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือทอท. กว่า 6 พันหุ้น แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่เหตุผลที่นายเรืองไกรอ้างในการยื่นกกต.ตรวจสอบย้อนหลังเพราะรัฐธรรมนูญ บัญญัติในลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ จะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตามมาตรา 160 ประกอบ 187

ส่วนนายสุวิทย์ คำร้องระบุถือหุ้นในบริษัท GPSC หรือบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 9 หมื่นหุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ

ขณะที่นายไพรินทร์ และคู่สมรส ถือหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐโดยถือหุ้นใน บมจ. GPSC 5 หมื่นหุ้น บมจ. IRPC 2.4 แสนหุ้น บมจ ปตท. 5 พันหุ้น บมจ. พีทีที โกลบอล เคมีคอล 6 หมื่นหุ้น บมจ.ไทยออย 4 หมื่นหุ้น บมจ. กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมมท์ 3 แสนหุ้น บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ หมื่นหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง 2.6 หมื่นหุ้น นายธีระเกียรติ ถือหุ้นสัมปทาน SCG ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,000 หุ้น

ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงฯ และมีมติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีจำนวน 4 ราย ได้แก่ มล.ปนัดดา ดิศกุล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)​ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 ขอให้ กกต. ตรวจสอบรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย ได้แก่ มล.ปนัดดา นายสุวิทย์ และนายไพรินทร์ และคำร้องฉบับวันที่ 19 ก.พ. 2561 ขอให้ตรวจสอบนายธีระเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ว่ามีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงาน กกต. ดำเนินการยกร่างคำวินิจฉัยเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป  โดยรายละเอียดเนื้อหาในสำนวนการไต่สวนเปิดเผยไม่ได้เนื่องจากสำนวนการไต่สวนเป็นความลับและคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด