posttoday

ปปช.ถอยแก้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน 'วิษณุ'เผยอาจยกเลิกบางตำแหน่งแต่ยังตรวจสอบได้

06 ธันวาคม 2561

"วิษณุ" เผย ป.ป.ช.เตรียมยกเลิกบางตำแหน่งยื่นบัญชีทรัพย์สิน หลังแบ่ง 3 กลุ่มให้ชัดเจนขึ้น สกัดกก.แห่ลาออกยกแผง

"วิษณุ" เผย ป.ป.ช.เตรียมยกเลิกบางตำแหน่งยื่นบัญชีทรัพย์สิน หลังแบ่ง 3 กลุ่มให้ชัดเจนขึ้น สกัดกก.แห่ลาออกยกแผง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทราบว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมแก้ไขประกาศการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการหน่วยงานของรัฐ และกรรมการในสภามหาวิทยาลัย โดยอาจยกเลิกให้บางตำแหน่งไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน

ทั้งนี้ เท่าที่ได้พูดคุยกับ ป.ป.ช.มีการ แบ่งตำแหน่งออกเป็น 3-4 กลุ่ม คือ 1.ตำแหน่งที่ไม่ต้องไปยื่นอะไรทั้งสิ้นและไม่ควรให้ยื่น เพราะไม่ได้สุ่มเสี่ยงใดๆ 2.กลุ่มที่ควรจะต้องให้ยื่น แต่ไม่ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่ทราบจะกลัวเรื่องการเผยแพร่ เพราะวันนี้ มีหลายตำแหน่งที่ยื่น แต่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ 3.กลุ่มที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ดังนั้น ป.ป.ช.จะต้องไปจัดกลุ่มแบบนี้

นายวิษณุ กล่าวว่า ประกาศที่ออกมาไม่ได้แบ่งเอาไว้แบบนี้ โดยการจะเลือกว่าตำแหน่งใดอยู่กลุ่มใดไม่ควรใช้สองมาตรฐาน แต่ควรใช้การพิจารณาอย่างมีเหตุผล อย่างองค์การมหาชนมี 40 แห่ง ซึ่ง พ.ร.บ.องค์การมหาชนบัญญัติไว้ว่าห้ามทำมาค้าขาย ดังนั้น ป.ป.ช.จะต้องไปดู

"ต้องเข้าใจว่าแม้บางตำแหน่งจะไม่ต้องยื่น ก็ยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่ง ป.ป.ช.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้อยู่ดี เช่น หากกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว แต่ ป.ป.ช.ก็ตรวจสอบการทุจริตได้ทุกเวลา ปัญหาตอนนี้ที่กำลังเกิด คือ ป.ป.ช.จะดูว่าตำแหน่งใดที่สุ่มเสี่ยง มีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ แต่ที่แล้วมาเขาไม่ได้ดู เขากวาดไปหมดทุกตำแหน่ง" นายวิษณุ กล่าว

ด้านรองนายกฯ กล่าวว่า มีคนถามว่าทำไม ป.ป.ช.ไม่คิดเช่นนี้ตั้งแต่แรก เป็นเพราะ ป.ป.ช.มีเวลาไม่มาก เนื่องจากกฎหมายบังคับให้เขาต้องทำแบบนั้น อย่างไรก็ตามคิดว่า ป.ป.ช.พยายามทำอย่างรอบคอบ แต่มีข้อจำกัดทางกฎหมายและมีความจำเป็น ในเวลานั้นที่ทุกอย่างจะต้องเป็นความลับ ไม่สามารถปรึกษาใครได้ แต่เมื่อประกาศออกมาและมีการตื่นตูมกันทั้งเมือง ป.ป.ช.ได้รับฟังผลตอบรับ ซึ่งสุดท้ายแล้วถ้าตำแหน่งใดจะต้องยื่นหรือไม่ยื่น ก็ต้องยืนบนหลักธรรมาภิบาล และกฎหมาย

นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ประกาศยังไม่เสร็จในเร็วๆ นี้ เพราะ ป.ป.ช.คิดว่าเมื่อขยายระยะเวลาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินออกไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2562 ก็ยังมีเวลาที่จะดูเรื่องนี้ ดังนั้นไม่ควรไปตื่นเต้นและรีบลาออกกัน และยืนยันว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะไม่มีวันออกคำสั่งแก้ประกาศ ป.ป.ช. เพราะจะเป็นการแทรกแซง แต่จะให้ ป.ป.ช.เป็นฝ่ายยกเลิกเอง

ทั้งนี้ ประกาศ ป.ป.ช.ฉบับดังกล่าวประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 แต่ได้ขยายเวลาบังคับใช้กับบางตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก 60 วัน จึงมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ. 2562  อย่างไรก็ตามหลังประกาศฉบับใหม่ประกาศใช้ พบว่ากรรมการสภาจากหลายมหาวิทยาลัยต่างทยอยลาออก รวมถึงกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ยื่นลาออกล่าสุด 8 คน และกรรมการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นองค์การมหาชนได้ลาออกอีก 3 คน