posttoday

นายกฯลุยสร้างเกษตรเข้มแข็งช่วยคนจนผู้สูงวัยเปิดบัญชีเงินฝากทำบัตรATMฟรี

31 สิงหาคม 2561

ฟังทางนี้!ผู้มีรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้มีอายุตั้งแต่65ปีขึ้นไปได้รับสิทธิ์ในการเปิด"บัญชีเงินฝากพื้นฐาน"โดยไม่ต้องมีเงินฝากทำบัตรเอทีเอ็มไม่เสียค่าธรรมเนียม

ฟังทางนี้!ผู้มีรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้มีอายุตั้งแต่65ปีขึ้นไปได้รับสิทธิ์ในการเปิด"บัญชีเงินฝากพื้นฐาน"โดยไม่ต้องมีเงินฝากทำบัตรเอทีเอ็มไม่เสียค่าธรรมเนียม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า สัปดาห์นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร จัด “งานเกษตรสร้างชาติ”ระหว่างวันที่ 30สิงหาคม ถึง 2 กันยายน ณ สวนลุมพินี  ที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหาภาค  รวมทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับพี่น้องประชาชน การส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนายกระดับสินค้าเกษตร และเข้าสู่การแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากตลาดท้องถิ่น ตลาดภูมิภาค สู่ตลาดต่างประเทศ และตลาดออนไลน์ ให้คนในเมืองได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม  และเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งเกษตรผู้ผลิตและผู้บริโภค ก็ย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก มีการกระจายตัวของรายได้มากขึ้น ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคได้โดยตรง จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจ เข้าเยี่ยมชม   ทำความเข้าใจ ว่าเกษตรสร้างชาติได้อย่างไร  อีกทั้งมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร และมาร่วมแรง ร่วมใจ “สร้างไทยไปด้วยกัน”

ส่วนความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปัจจุบันก็มีการดำเนินการอยู่หลายมาตรการ ทั้งในเรื่องการสนับสนุนการอุปโภคบริโภคสินค้าใน “ร้านธงฟ้าประชารัฐ” ผ่านการใช้บัตรฯ นอกเหนือไปจากการเพิ่มเครื่องรูดบัตรไปยังร้านค้าต่างๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยังมีการเพิ่มโอกาสให้ร้านค้าที่เป็นแผงค้า รถเข็น เข้ามาสมัครในโครงการเพิ่มเติม โดยสามารถใช้แอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” ในการสแกนบัตรสวัสดิการ โดยไม่ต้องใช้เครื่องรูดบัตรอีกด้วย  ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีทางเลือกในการซื้อหาสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคได้มากกว่าเดิม

รัฐบาลมีมาตรการให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมให้กับผู้มีความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองให้มีทักษะอาชีพ โดยในกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีจะได้รับวงเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอีก เดือนละ 200 บาท ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 30,000บาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมอีก เดือนละ100 บาท ล่าสุดรัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนการเพิ่มวงเงินนี้ ให้เป็นการเติมเงินรายเดือนเข้า “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” ในบัตรแทน ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของมาตรการ ซึ่งจะเป็นการทำให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้ แทนที่จะต้องไปหาร้านค้าที่เข้าโครงการ ก็สามารถถอนเป็นเงินสดออกมาได้เลย โดยใช้บัตรสวัสดิการฯ กับตู้ATM หรือสาขาของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ  เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยให้ตรงกับความต้องการ หรือหากไม่เบิกถอน หรือมียอดคงเหลือ ก็สามารถ “เก็บสะสม” ไว้ในกระเป๋าเงินในบัตรนี้ต่อไปได้ด้วย  ซึ่งเมื่อมาตรการนี้หมดอายุช่วงสิ้นปี ก็จะมีการประเมินผลอีกครั้งเพื่อจะพัฒนาการให้บริการกับพี่น้องประชาชน ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไม่หยุดยั้งต่อไป

นอกจากจะมีการนำ“กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” มาใช้ในการเพิ่มวงเงินสนับสนุนผู้ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม นี้ เป็นต้นไป  ภาครัฐโดยกรมบัญชีกลาง ยังได้มีการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุ ที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการฯ นี้อีกด้วย  โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ ดังนี้ หากเป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000บาทต่อปี จะได้รับเดือนละ100 บาท  หากมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปีก็จะได้รับเดือนละ 50 บาท เพิ่มลงไปในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์นี้ ซึ่งสามารถถอนเป็นเงินออกมาใช้ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ สวัสดิการ “ส่วนเพิ่ม” สำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งในเรื่องการพัฒนาอาชีพและเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุนี้ เป็นส่วนที่ภาครัฐต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นในการจับจ่าย เราก็หวังว่าพี่น้องประชาชนจะนำเงินส่วนนี้ ไปใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่จำเป็นและช่วยแบ่งเบาภาระในค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในระบบนะครับ ในส่วนมาตรการด้านอื่น ๆ ของบัตรสวัสดิการ ก็จะยังกำหนดให้เป็นสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจงที่จำเป็นกับการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนต่อไป

อีกโครงการหนึ่งที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคมคาดว่าจะทยอยให้บริการได้ในเดือนตุลาคมนี้คือการจัดให้มีบริการ “บัญชีเงินฝากพื้นฐาน” ซึ่งจะหมายถึง บัญชีเงินฝากแบบใหม่ที่ธนาคารต่างๆ จะให้บริการแก่ประชาชน โดยการเปิดบัญชีไม่จำเป็นต้องมีเงินไปฝาก ไม่มีค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี อีกทั้งไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปี ในการมีบัตร ATM หรือบัตรเดบิต และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ จะไม่สูงกว่าการทำธุรกรรมแบบเดียวกันในบัญชีอื่นๆ โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  กลุ่มแรก คือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 11.4 ล้านราย  และอีกกลุ่ม คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปโดยต้องมีสัญชาติไทย มาตรการนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าเดิม ลดความเหลื่อมล้ำ

จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย และผลการสำรวจภาคครัวเรือน พบว่า มีครัวเรือนประมาณร้อยละ 30 ที่ยังไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝาก หรือไม่ได้ใช้บริการเงินฝาก ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาก จากร้อยละ 20 ในปี 2556 พบว่าอุปสรรคส่วนใหญ่นั้น เกิดมาจากการที่ต้องมีเงินไปเปิดบัญชี การต้องมีเงินไว้ในบัญชีเพื่อรักษาบัญชี และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สูงเกินไป กล่าวได้ว่า ข้อจำกัดนี้ สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ช่วงที่ผ่านๆ มา รัฐบาลนี้มองเห็น และพยายามแก้ไขในทุกๆ มิติที่สร้างจะทำได้ ซึ่งการมีบัญชีเงินฝากพื้นฐานนี้จะช่วยให้พี่น้องประชาชน สามารถใช้บริการด้านการเงิน ทั้งในเรื่องโอนเงิน และชำระเงิน โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่การโอนเงิน การชำระเงิน เพื่อทำการค้าขายหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ จะผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น และต่อไปก็อาจ “ต่อยอด” การใช้บัญชีนี้ ไปสู่การทำมาค้าขายในชีวิตประจำวัน รวมถึงการประกอบอาชีพ เช่น เรื่องการค้าขายออนไลน์ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตในที่สุด อีกทั้งจะเป็นเหมือน “ประตูบานแรก” ของการเข้าสู่บริการทางการเงิน ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ทางการเงินมากขึ้น มีช่องทางในการออมเงินมากขึ้น

นอกจากนี้ ในการโอนเงินสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนในระยะต่อไป ก็สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ไปยังบัญชีธนาคารของแต่ละคน “โดยตรง” ได้อีกด้วยซึ่งในเรื่องนี้ ก็จะเป็นการช่วยให้การบริการประชาชนของภาครัฐมีประสิทธิภาพขึ้น  ที่สำคัญอีกประการ คือ จะช่วยลดช่องทางการทุจริตไปได้พร้อมกัน อีกด้วย ต้องขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 14 แห่ง ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ เพื่อช่วยกันคนละไม้ละมือ ช่วยกันลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ  ซึ่งธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนี้ ก็สามารถให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากที่ได้กล่าวไปในตอนต้น

ขอฝากไว้ว่า การใช้งานบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐานนี้ ก็ต้องดูแลให้ตรงกับวัตถุประสงค์หากท่านมีเงินหมุนเวียน หรือยอดคงค้างในบัญชีเกิน 50,000 บาทต่อเดือน หรือไม่มีการฝากเข้า ถอนออก หรือโอนระหว่างบัญชี ภายใน 24 เดือน ธนาคารก็อาจขอปรับบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐานของท่านกลับไปให้เป็นบัญชีเงินฝากปกติที่จะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมเหมือนทั่วไปด้วย