posttoday

เปิดสาระสำคัญ "ร่างพรบ.สงฆ์" ให้พระปฏิรูปกันเอง ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งมหาเถรฯ

05 กรกฎาคม 2561

สนช.เห็นชอบกฎหมายสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งมหาเถรสมาคม "วิษณุ"ชี้ต้องรีบทำหลังวงการพระสั่นสะเทือน

สนช.เห็นชอบกฎหมายสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจแต่งตั้งมหาเถรสมาคม "วิษณุ"ชี้ต้องรีบทำหลังวงการพระสั่นสะเทือน

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 217 คะแนนเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประกาศใช้เป็นกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยการพิจารณาของสนช.นั้นไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาเป็นการเฉพาะ แต่ได้พิจารณาสามวาระทั้งวาระรับหลักการ การพิจารณาเป็นรายมาตรา และให้ความเห็นชอบไปในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

องค์ประกอบของมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ ซึ่งการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้

สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้นนอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก

ย้ำหลักให้พระปฏิรูปกันเอง

ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงสาระสำคัญของการจัดทำร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ต่อที่ประชุมสนช.ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการเตรียมการตั้งแต่เมื่อครั้งมีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อจัดระเบียบการปกครอง ตอนแรกได้คิดกันหลายวิธีว่าจะใช้กลไกอย่างไร แต่สุดท้ายมาคิดว่าฆราวาสคิดจะไปปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ ฆราวาสมีความชอบธรรมเพียงใด มีความรู้ความเข้าใจเพียงใด

“ในที่สุดมาได้ข้อยุติว่าสิ่งที่ควรจะทำ คือ ฆราวาสนั้นคงได้แต่เพียงเป็นผู้เสนอแนะ แต่ผู้ที่จะขับเคลื่อนและนำไปปฏิบัติและสั่งการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริงคงต้องเป็นคณะสงฆ์เอง โดยคณะสงฆ์ไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.คณะสงฆ์ไทย คือ ฝ่ายเถรวาททั้งธรรมยุติหรือมหานิกาย 2.คณะสงฆ์อื่น ซึ่งกฎหมายรับรองเฉพาะคณะสงฆ์จีนนิกาย คณะสงฆ์อันนัมนิกาย” รองนายกฯ กล่าว

วิษณุ กล่าวอีกว่า รัฐบาลคิดว่ากลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปคณะสงฆ์ต้องอยู่ที่มหาเถรสมาคม ซึ่งในอดีตมีจุดอ่อน คือ การที่มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งมีความเหมาะสมตามหลักอาวุโส แต่ในระยะหลังกว่าที่พระภิกษุจะขึ้นไปถึงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาก็จะมีอายุมาก และอาพาธ ทำให้ไม่สามารถประชุมมหาเถรสมาคมได้ ดังนั้น ถ้ามุ่งหวังจะให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้นำในการปฏิรูปนั้นต้องเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและที่มาใหม่

เร่งทำกฎหมายแก้เสื่อมศรัทธา

รองนายกฯ กล่าวว่า เดิมทีไม่ได้คิดเรื่องที่มา คิดถึงเรื่องคุณสมบัติ แต่ในระยะหลังมานี้ก็เริ่มเกิดปัญหาขึ้นกรรมการมหาเถรสมาคมบางรูป มีปัญหาต้องคดีและถูกกล่าวหา สั่นสะเทือนความรู้สึกความเลื่อมใสศรัทธาที่ประชาชนมีต่อการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ตามรูปแบบปัจจุบันพอสมควรทีเดียว ดังนั้น ในที่สุดก็คิดกันว่ากลับไปดูรูปแบบในพ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้กันมาถึงรัชกาลที่ 8

"ดูโบราณราชประเพณี ดูรัฐธรรมนูญที่ใช้ปัจจุบันที่กำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และถอดถอนจากฐานันดรศักดิ์ ซึ่งหมายถึงฐานันดรศักดิ์พระและฐานันดรศักดิ์เจ้า ซึ่งหมายถึงกรณีสถาปนาอิสริยยศ จึงควรให้มีองค์ปกครองคณะสงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาเชื่อถือ ซึ่งความเชื่อถือจะได้มาจากพรรษายุกาล หรือ อายุ จริยวัตร และควรได้มาจากที่มาอันเป็นที่ไว้วางใจ จึงควรย้อนกลับไปสู่การให้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีต จนทำมาเป็นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว" วิษณุ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการเร่งเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะต้องการให้ทันกับกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระในอีกประมาณ 2 เดือน ขณะเดียวกัน การปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ก็มีความเป็นจำเป็นเช่นกัน โดยเป็นการกำหนดให้มหาเถรสมาคมไปทำหน้าที่ในเชิงปฏิรูปและขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไปในอนาคต

พึ่งพระบารมีปฏิรูปสงฆ์

ขณะที่ นายสมพร เทพสิทธา สมาชิกสนช. อภิปรายว่า สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งสามสถาบันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกกันไม่ได้ ตามคำกล่าวที่ว่าพระมหากษัตริย์คู่ชาติ พุทธศาสนาคู่ไทย เมื่อมีภัยอันตรายเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนาเมื่อใด พระมหากษัตริย์ก็จะทรงเป็นธุระป้องกันภัยและแก้ไขปัญหา ดังเช่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีพุทธศาสนามั่นคงมาถึงทุกวันนี้

นายสมพร กล่วาวว่า ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาบางประการเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม ซึ่งมหาเถรสมาคมไม่สามารถแก้ไขจัดการปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ในการช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยความร่วมมือของรัฐบาลและสนช.

"เห็นด้วยทุกประการที่รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อให้กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ประกอบไปด้วยกรรมการที่เหมาะสมและทีจริยวัตรงดงาม ขณะนี้ พุทธศาสนากำลังประสบภัยหลายด้าน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสนช.ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างรอบคอบและเหมาะสม" นายสมพร กล่าว