posttoday

"บิ๊กตู่"มอบนโยบายไทยนิยมปัดหวังผลทางการเมือง

09 กุมภาพันธ์ 2561

นายกฯมอบนโยบายโครงการไทยนิยม ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นความเท่าเทียม มุ่งให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ปัดหวังผลทางการเมือง

นายกฯมอบนโยบายโครงการไทยนิยม ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นความเท่าเทียม มุ่งให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ปัดหวังผลทางการเมือง

เมื่อวันที่ 9 กพ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายแนวทางขับเคลื่อนประเทศ ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และวิทยากรระดับจังหวัด รวม 2,800 คน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกคนร่วมกันทำความฝันที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นจริง ผ่านการขับเคลื่อนระดับบนไปสู่พื้นที่ ให้ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกระดับให้ได้  ตอบสนองสองเรื่องสำคัญ คือ ความเท่าเทียมและเป็นธรรม ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขี้น  ต้องขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ได้ อย่ามาตีความหรือตั้งแง่ว่าโครงการนี้จะทำให้รัฐบาลอยู่ยาว ซึ่งไม่เป็นความจริง อย่ามองในแง่ร้าย จับผิดการใช้งบประมาณ  ขอให้มองประเทศเป็นที่ตั้ง เอาความขัดแย้งไว้ข้างหลัง

“รัฐบาลไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง  รัฐบาลจึงเป็นของประชาชนทั้งประเทศ ตามกรอบประชาธิปไตย เน้นการพัฒนาคน ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามเทคโนโลยีให้ทัน และอยากให้วิทยากร หรือผู้ปฎิบัติงานที่ลงพื้นที่ ไปทำความเข้าใจสร้างหลักคิดที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แก้ปัญหาเรื่องการปรองดอง และการไม่ยึดหลักกฎมาย ทุกคนจะต้องสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย พ้นจากความยากจน  สร้างความเชื่อมโยง สร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าโดยยึดความต้องการ ของพื้นที่เป็นหลัก นำข้อมูลหรือ บิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ เชื่อมโยงแผนงานอย่างบูณรณาการ เพื่อกำหนดงบประมาณลงไปในพื้นที่ ตามแผนงานและยุทธศาสตร์ชาติ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การจัดทำแผน หรือโครงการ ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ทำตามความต้องการของประชาชน และเน้นสร้างความเข้าใจ ในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลนี้มีหลายโครงการ และหลายเรื่องที่ต้องทำ ข้าราชการต้องทำงานหนัก อย่างการดูแลพื้นที่ป่า อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าไปมีส่วนรวมช่วยดูแล ไม่ควรปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เท่านั้น เพราะมีกำลังคนน้อย ดูแลไม่ทั่วถึงทำให้ผืนป่าถูกบุกรุกไปมาก จึงต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลช่วยกันจึงจะเป็นผลดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวทีสัญญาประชาคม ต้องตอบสนอง ใน 10 ข้อที่รัฐบาลวางไว้ หรือจะมากกว่านั้นให้ได้ ซึ่งวิทยากรต้องรับมา เพื่อนำมาเป็นข้อมูล แล้วทำตามความต้องการของคนในพื้นที่  อยากให้ดูเรื่องที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อย และการลงพื้นที่ต้องตรวจสอบผู้มีรายได้น้อย ที่แท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้มีการแอบอ้าง เป็นผู้มีรายได้น้อยอีกต่อไป

“โครงการไทยนิยมยั่งยืน คือการทำความดี ความงามให้กับประเทศ ไม่ใช่การสร้างชาตินิยม และไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการปฎิรูปประเทศ บนพื้นฐานของความเป็นไทย ที่ไม่ทิ้งหลักการสากล จึงอยากขอความร่วมมือทุกคน ช่วยกัน ลดละ การสร้างประเด็นความขัดแย้ง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้วิทยากรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย และสร้างไทยเป็นหนึ่ง ไม่ควรจะพูดแต่เรื่องความปรองดอง ยากให้ทำความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้งระบบใหม่  เพราะมีบางคนไปกล่าวอ้างว่า จะไม่ไปเลือกตั้ง ต้องการให้รัฐบาลอยู่ต่อ  ซึ่งตนยังไม่รู้ว่าจะอยู่ต่ออย่างไร แต่อยากให้ทุกคนไปเลือกตั้ง เลือกพรรคการเมือง ที่แสดงยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศ แม้ว่าตอนนี้ตนจะยังไม่เห็นพรรคใดวางนโยบายไว้แล้ว มีแต่นักการเมืองที่พูดกล่าวโจมตีในประเด็นทางการเมืองนอกเวที ทั้งที่ความจริงต้องมาพูดกับรัฐบาล

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ภายใต้กรอบงานสำคัญ 10 เรื่อง คือ สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง เน้นสร้างความสามัคคีปรองดอง, คนไทยไม่ทิ้งกัน ด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ, ชุมชนอยู่ดีมีสุข มุ่งพัฒนาอาชีพ เสริมรายได้ให้ประชาชน, วิถีไทยวิถีพอเพียง ส่งเสริมการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ในการดำเนินชีวิตทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย, รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย เน้นให้ประชาชนมีความรู้ในสิทธิ หน้าที่ และการเป็นพลเมืองที่ดี, รู้กลไกการบริหารราชการที่ต้องให้ประชาชนเข้าใจการบริหารราชการทุกระดับ เพื่อมุ่งสร้างประโยชน์ให้ประชาชน, รู้จักประชาธิปไตย ไทยนิยม ให้ประชาชนเข้าใจหลักธรรมาภิบาล, รู้เท่าทันเทคโนโลยี ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านโครงการสำคัญ เช่น อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน, ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด บูรณาการการทำงานทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร และงานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน คือกำหนดกิจกรรมของส่วนราชการที่ลงไปปฏิบัติในพื้นที่

 โดยทีมขับเคลื่อนจะลงพื้นที่ทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 21 กพ. ลงพร้อมกันทั่วประเทศตำบลละ 1 หมู่บ้าน เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และหาแนวทางดูแลประชาชน โดยดำเนินการไปจนถึงวันที่ 20 มีนาคม จากนั้นอีก 3 ครั้ง คือตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ถึง 20 พฤษภาคม จะเป็นการลงพื้นที เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาตามกรอบที่วางไว้ ทั้งหมด 10 เรื่อง ในพื้นที่ 878 อำเภอ 83,151 หมู่บ้าน/ชุมชน