posttoday

นักการเมืองหวั่นใจกม.เลือกตั้งเป็นปัญหาในอนาคต

05 มกราคม 2561

"นิกร"หวั่นกฎหมายเลือกตั้งสส.เป็นปัญหาในอนาคตหลังไม่เชิญนักการเมืองให้ความเห็น มั่นใจเลือกตั้งพ.ย.61นี้

"นิกร"หวั่นกฎหมายเลือกตั้งสส.เป็นปัญหาในอนาคตหลังไม่เชิญนักการเมืองให้ความเห็น มั่นใจเลือกตั้งพ.ย.61นี้

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า เท่าที่ทราบ ส่วนตัวเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนพ.ย.61นี้แน่นอน แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ เรื่องวัน เวลาเลือกตั้ง กับการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมือง เพราะจะเริ่มทำกิจกรรมได้เดือนเม.ย. ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับล่าสุด

ทั้งนี้ หากการเลือกตั้งเกิดก่อนตามประกาศโรดแมป พรรคการเมืองอาจมีปัญหาได้ แต่หากจะมีปัญหาอย่างไร พรรคการเมืองต้องพร้อมเพื่อให้การเลือกตั้งในเดือนพ.ย. 2561 เกิดขึ้น โดยส่วนตัวมองว่าพรรคการเมืองถูกบีบให้อยู่ตรงกลาง แต่ยังไงก็ต้องกัดฟันสู้เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งหรือการคืนอำนาจสู่ประชาชนต้องเลื่อนออกไป

สำหรับส่วนตัวมีข้อกังวลสำคัญ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อีก 2 ฉบับที่ อยู่ในชั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส. เพราะทราบว่าจะเข้าที่ประชุมสนช.ในเดือนม.ค.นี้ แต่จนถึงขณะนี้กรรมาธิการฯไม่เชิญนักการเมืองฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงตามกฎหมาย

"ควรเชิญพรรคการเมืองเข้าให้ความเห็น ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญด้วย หรือหากเป็นไปได้ควรเปิดเผยรายละเอียดมาตราที่ปรับแก้ไขเพื่อให้นักการเมืองสามารถแสดงความเห็นก่อนที่ ร่างดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ เพื่อกันปัญหาที่อาจมีผู้ยกประเด็นไปร้องเรียน และกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนพ.ย. 2561 ได้"นายนิกร กล่าว

ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประกาศตัวเป็นนักการเมือง ถือเป็นเรื่องน่ายินดี ส่วนนายกฯจะกลายมาเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองของบรรดาพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าต้องรอดู นายกฯจะยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่ออยู่ในบัญชีผู้ที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนเป็นนายกฯหรือไม่ และหากยินยอม จะยอมให้กับพรรคการเมืองใด

กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความคำสั่ง คสช. ที่53/2560 นายนิกร ระบุว่า ส่วนตัวสนับสนุน เพราะจะได้สร้างบรรทัดฐานต่อการมีสิทธิของประชาชน อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวคงไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองกับรัฐบาล เพราะคนเป็นนักการเมืองเมื่อจะตากฝนแล้วย่อมไม่กลัวเปียก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมองว่าคำสั่งดังกล่าวที่ตัดสิทธิของสมาชิกพรรคการเมือง ถือเป็นประเด็นที่กระทบสิทธิของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง
“สัญญาณการปรับแก้คำสั่งคสช.53/2560 เพื่อเลี่ยงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผมยังไม่ทราบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่ามองแค่ในมุมแค่ความได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง  เพราะต้องคำนึงถึงการตัดสินใจของประชาชนด้วย เพราะหากคุณคิดว่า สร้างกติกาที่ทำให้ได้เปรียบ แต่ประชาชนเขารู้ ความได้เปรียบทางกฎหมายอาจจะกลายเป็นความเสียเปรียบทางการเมืองได้” นายนิกร กล่าว