posttoday

มติเอกฉันท์! สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายวินัยการเงินการคลังวาระ1

24 พฤศจิกายน 2560

สนช.มีมติ 186 เสียงเห็นชอบร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังวาระ1 "เจตน์"หวั่นเปิดช่องรัฐบาลมือเติบหว่านเงินประชานิยม

สนช.มีมติ 186 เสียงเห็นชอบร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังวาระ1 "เจตน์"หวั่นเปิดช่องรัฐบาลมือเติบหว่านเงินประชานิยม

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. ... ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระแรก ด้วยคะแนน 186 งดออกเสียง 3 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาต่อไป โดยกำหนดให้แปรญัตติใน 7 วัน    

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด  เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณรัฐ การกำหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้และรายจ่ายทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะดังนั้น จึงจำเป็นต้องตามพ.ร.บ.ฉบับนี้

ขณะที่ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เคยมีรัฐบาลไหนนำร่างกฎหมายที่รัฐธรรมนูญเขียนให้มีกฎหมาย นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งถือมีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีความจำเป็นในเรื่องของกรอบดำเนินการทางวินัยการเงินการคลัง ซึ่งรวมทุกเรื่องไปจนถึงหนี้สาธารณะ

ทั้งนี้ ในมาตรา 53,54,55 ซึ่งเป็นเรื่องของการกู้เงิน ไม่ผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งสาระมาตรา 53 จะต้องออกเป็นกฎหมาย คือ การกู้เงินของรัฐบาล นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะให้กระทรวงการคลังทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

ส่วนมาตรา 56 การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ กรณีใช้จ่ายนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ และเมื่อดูพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ มาตรา 22 การกู้เงินให้กระทำดังกล่าวได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนืองบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือกู้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กู้ไม่เกิน 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

"มาตรา 23 ถ้าตลาดการเงินในประเทศเอื้ออำนวยเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเงินการคลังและตลาดทุน กระทรวงการคลังอาจกู้เป็นเงินบาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศก็ได้ ตรงนี้เราเคยมีประสบการณ์เจ็บปวด เพราะมีรัฐบาลหนึ่งอ้างเรื่องนี้ และออกเป็นกฎหมายกู้เงินต่างประเทศ อ้างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญเพราะการกู้เงินลักษณะนั้นใช้กระดาษเพียง 10 แผ่น แล้วออกเป็นกฎหมาย ไม่ผ่านการตรวจตราของสำนักงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ก็สามารถใช้เงินได้ และต่อสู้จนไม่ผ่าน"นายเจตน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี อยากถามว่ามีกรอบอะไรในการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นมาอีก เพราะรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่พอ อาจมีกรอบต้องควบคุมเอาไว้ ซึ่งถือมีความจำเป็น หากรัฐบาลเสียงข้างมากในอนาคตใช้พวกมากลากไป ออกกฎหมายลักษณะประชานิยม ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่สูงมาก ไม่ผ่านการควบคุม

นอกจากนี้ คำนิยามรัฐวิสาหกิจ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2502 หมายถึง 1.องค์การของรัฐหรือบริษัทที่รัฐถือหุ้นเกิน 50% 2.บริษัทลูกที่องค์การของรัฐหรือบริษัทชั้นที่ 1 ถือหุ้นเกิน 50% 3.บริษัทหลาน หรือบริษัทในชั้นที่ 2 และหรือชั้นที่ 1 ถือหุ้นรวมกันเกิน 50%

4.บริษัทเหลน หรือบริษัทในชั้นที่ 3 และหรือชั้นที่ 2 และหรือชั้นที่ 1 ถือหุ้นรวมกันเกิน 50% แต่พอมีการเสนอร่างกฎหมายนี้ ร่างทั้ง 2 ฉบับมีการแก้ไขนิยามใหม่ ทำให้ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 หายไป สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ดังนั้น อยากถามว่ากฎหมายเสนอมา 2 ฉบับ และกฎหมายบรรษัทรัฐวิสาหกิจ ตัดในชั้นที่ 3 และ 4 ออกไปด้วยสาเหตุใด

นอกจากนี้ มาตรา 26 ที่เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานรัฐนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ หรือเพื่อการหนึ่งการใดเป็นการเฉพาะจะกระทำไม่ได้ ยกเว้นกรณีการจัดเก็บเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดเก็บภาษีบาปเพื่อไปใช้จ่ายกรณีใดกรณีหนึ่ง จะทำไม่ได้อีกต่อไปใช่หรือไม่

จากนั้นที่ประชุม ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ... ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอซึ่งที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระ 1 ด้วยคะแนน 182 งดออกเสียง 3 โดยให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐเป็นผู้พิจารณาอีกฉบับหนึ่ง โดยมีระยะเวลาการทำงาน 120 วัน

อย่างไรก็ดี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ชี้แจงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า การจัดทำงบประมาณต้องคำนึงถึงฐานะทางการคลังของประเทศ ความจำเป็นในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายรัฐบาล และภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและการคุ้มค่า เกิดผลสัมฤทธิ์ในการบริการจัดการภาครัฐ

ทั้งนี้ ทางสำนักงบประมาณจะเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ทปท.) เพื่อดำเนินการในการกำหนดนโยบายประจำปี ประมาณการรายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย รวมถึงกำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่าย และกรอบงบประมาณการรายจ่ายงบประมาณรายรับ และฐานะทางการคลังของรัฐบาลเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 ปี