posttoday

"อลงกรณ์"ประกาศวางมือทางการเมือง

14 เมษายน 2560

"อลงกรณ์ พลบุตร" ประกาศวางมือทางการเมืองหลังพ้นวาระสปท. ลั่นไม่ย้ายพรรคไปอยู่สังกัดอื่น หรือตั้งพรรคการเมืองใหม่

"อลงกรณ์ พลบุตร" ประกาศวางมือทางการเมืองหลังพ้นวาระสปท. ลั่นไม่ย้ายพรรคไปอยู่สังกัดอื่น หรือตั้งพรรคการเมืองใหม่

วันที่ 14 เม.ย. 60 นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่หนึ่ง ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ว่า "เมื่อวันที่ 13เม.ย.2556 ผมใช้ทวิตเตอร์เสนอเรื่องการปฏิรูปปชป.ตอนเป็นรองหัวหน้าพรรคโดยหวังว่าจะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศตามมา"โดย เวลาผ่านมา 4 ปีเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก วันนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประเทศกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบปชต.อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในวันนี้ซึ่งถือเป็นปีใหม่ไทย13เม.ย.2560 เป็นฤกษ์ดีที่จะพูดถึงอนาคตของประเทศ ณ จุดเปลี่ยนสำคัญและถึงเวลาที่ผมควรจะตอบคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง คำถามของสื่อมวลชนคือผมจะลาออกจากสปท.เพื่อลงสมัครส.ส.ครั้งหน้าหรือไม่ จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ไหมหรือจะกลับไปพรรคประชาธิปัตย์หรือจะไปอยู่พรรคไหนอย่างไร ขณะเดียวกันก็มีคำถามแฝงความสงสัยข้องใจถึงอนาคตของประเทศว่าจะเป็นเช่นไร การปฏิรูป,ยุทธศาสตร์ชาติและการปรองจะสำเร็จหรือไม่คืบหน้าแค่ไหน"

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อมั่นเสมอว่าประเทศของเรามีอนาคตอย่างแน่นอนด้วยเหตุผล3ประการ 1.ศักยภาพของประเทศ 2.ศักยภาพของคนไทย3.การปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องแต่ประเทศยังมีความเสี่ยงอยู่มากโดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองมีการใช้ความรุนแรงและการแบ่งแยกประชาชนจนนำมาสู่การรัฐประหารถึง2ครั้งในระยะ10ปี ยังมีปัจจัยทางการเมือง,เศรษฐกิจ,การก่อการร้าย,ภาวะโลกร้อนและเทคโนโลยีจากภายนอกประเทศที่เป็นอีกความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบมากว่า10ปีและต่อๆไป ปท.มีศักยภาพทำให้เรามีความหวังและเรามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กังวล และเรายังมี6ปัญหาใหญ่ของปท.ที่ต้องแก้ไข 1.การคอร์รัปชั่น2.ความเหลื่อมล้ำ 3.การบังคับใช้กฎหมาย4.ระบบราชการ5.ระบบการเมือง6.การเลือกตั้ง ปัญหาทั้ง 6 บวกความเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศเปรียบเสมือนโคลนติดล้อที่ต้องสลัดออก

นายอลงกรณ์ ยังกล่าวต่อว่า ดังนั้นเราต้องมี"สะพาน"ที่จะ"ก้าวข้าม"ปัญหานานัปการและต้องมี"บันได"ที่จะก้าวขึ้นสู่อนาคตที่ดีกว่าของประเทศ สะพานและบันไดนั้นคือการปฏิรูป สำหรับผมได้ผูกอนาคตตัวเองไว้กับอนาคตของประเทศนับแต่เสนอประเด็นการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์และการปฏิรูปการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศเมื่อวันที่13เม.ย.2556 กว่า2ปีการปฏิรูปประเทศใน11ด้านก้าวหน้าปรากฎผลไปมากพอควรตามความยากง่ายและความซับซ้อนของปัญหาพร้อมกับวางรากฐานอนาคตใหม่ให้กับประเทศของเรา เราสร้างความยั่งยืนของการปฏิรูปเพื่อให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยการบัญญัติหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายแต่เราก็ทำให้ประเทศแข็งแรงขึ้นขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจนแซงเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก ประเทศป่ายปีนจากก้นเหวแห่งวิกฤติการเมืองขึ้นมาสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจาก0.8%ในปี2557เป็น2.8%ในปีถัดมาและเพิ่มเป็น3.2%ในปี2559 ประเทศต้องปฏิรูปต่อเนื่องเพื่อยกระดับจากปท.รายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วประชาชนมีรายได้สูงขึ้น3เท่าจากปัจจุบันโดยเครื่องมือพัฒนาใหม่ๆ การปฏิรูปจึงสำคัญยิ่งต่ออนาคตของปท.และสำคัญกว่าอนาคตของตัวเอง ประการสำคัญคือการขับเคลื่อนการปฏิรูปต้องเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทั้งสิ้น

"เมื่อถึงโค้งสุดท้ายของการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หลายฝ่ายอยากให้ผมตั้งพรรคการเมืองทางเลือกใหม่ หลายคนอยากให้กลับพรรคประชาธิปัตย์และบางพรรคเชิญไปอยู่ เรื่องการไปอยู่พรรคการเมืองอื่นหรือตั้งพรรคการเมืองใหม่คงไม่ทำเพราะต้องรักษาสัจจะที่เคยพูดกับคนเพชรบุรีว่าเมื่อเกิดที่พรรคประชาธิปัตย์ก็จะอยู่เพียงพรรคเดียว เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างอนาคตทางการเมืองกับอนาคตของประเทศ ผมจึงตัดสินใจวางมือทางการเมืองเพื่อทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจนถึงวาระสุดท้าย ผมพูดเสมอว่า"ต้องแยกการเมืองออกจากการปฏิรูป" "การปฏิรูปประเทศครั้งนี้เป็นการปฏิรูปประเทศของเรา"เพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทางการเมืองของใครมาเกี่ยวข้อง การปฏิรูปประเทศจะบรรลุความสำเร็จต้องยึดประโยชน์ส่วนรวมต้องเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายฝ่ายใดแม้แต่ตัวเองและพวกพ้องก็ฝักใฝ่ไม่ได้จึงจะได้รับความร่วมมือ" นายอลงกรณ์กล่าว