posttoday

นปช.ร้องกรรมการสิทธิปมถูกปิดศูนย์ปราบโกง

23 มิถุนายน 2559

นปช.ร้องคณะกรรมการสิทธิฯวอนเร่งแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนหลังถูกปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ

นปช.ร้องคณะกรรมการสิทธิฯวอนเร่งแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนหลังถูกปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ

เมื่อวันที่23 มิ.ย. แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พร้อมคณะ ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร กสม. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีรัฐบาลขัดขวางการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ซึ่งถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับ การที่กฎหมายประชามติสร้างบรรยากาศความกลัวให้กับประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น การจับกุมนปช.และประชาชนที่ต้องการตรวจสอบการทำประชามติมาดำเนินคดีในศาลทหาร โดยอ้างคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห้ามชุมนุมทางการเมือง 

นายจตุพร กล่าวว่า ก่อนที่นปช.จะเปิดศูนย์ปราบโกงฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ไม่มีฝ่ายไหนขัดข้องแม้แต่นายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายฯ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็สนับสนุนการเปิด ซึ่งถือว่าราบรื่น แต่มามีปัญหา 2 วัน ก่อนจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ในภูมิภาคเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ระบุว่าทำไม่ได้ และมีเจ้าหน้าตำรวจมาปิดล้อมและไม่ให้เปิดศูนย์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม จนเมื่อวันที่ 22มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีหมายเรียกแกนนำนปช. 19 คน โดยไม่ระบุข้อหาว่าทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่กลับระบุว่าผิดประกาศคสช.ที่3/2558 ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เห็นว่าในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน

"ขนาดประเทศอังกฤษที่จะมีการทำประชามติแยกอังกฤษออกจากอียู ยังให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่ของประเทศไทยการแสดงความเห็นของประชาชนอยู่ในบรรยากาศความกลัว"นายจตุพร กล่าว

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า คิดว่าสิทธิมนุษยชนของคนไทยในขั้นตอนที่ลงประชามติอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งที่ในบรรยากาศการออกเสียงประชามติการแสดงความเห็นต่างๆ ควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ แต่ขณะนี้การแสดงความเห็นของประชาชนถูกควบคุม ลิดรอน จำกัดสิทธิ ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา ซึ่งวิกฤติอย่างนี้กสม.มีบทบาทอย่างไรบ้างในการทำหน้าที่ท่ามกลางรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน ครู ค. ที่เป็นอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายจากครู ก. และ ครู ข. ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐให้ไปทำหน้าที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชน ถูกคุกคามละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง เพราะถูกยัดเยียดเนื้อหาให้ไปพูดสนับสนุนให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งที่ครู ค. บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ค่อนข้างแน่ใจว่าใกล้วันประชามติจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างอยุติธรรมกับคนที่เห็นต่างมากขึ้น

“ไม่ว่าวันที่ 30 มิ.ย.ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปรายงานตัวตามหมายเรียกนั้น จะเกิดอะไรขึ้นตามแผนที่เขาวางไว้ แต่ให้มั่นใจว่าสิ่งที่พวกผมทำไม่มีความผิด เราพร้อมจะเอาชีวิตและอิสรภาพของเราเดินไปข้างหน้าอย่างไม่ลังเล นี้ไม่ใช่การท้าทายแต่ต้องวัดหัวใจกันเลย” นายณัฐวุฒิ กล่าว

ด้าน นางอังคณา ระบุว่า ก่อนหน้านี้กสม.ก็ได้แสดงความห่วงใยต่อเนื้อหาของประกาศกกต. ที่กำหนดอะไรทำได้ไม่ได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความเคร่งครัด ไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง  รวมถึงกรณีที่ให้พลเมืองที่รัฐเห็นว่ากระทำผิดต้องขึ้นศาลทหาร ส่วนที่มาร้องเรียนก็จะรับไว้พิจารณา และตามกระบวนการอาจต้องมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาพอสมควร แต่ก็จะพยายามเร่งดำเนินการ

ผู้สือข่าวรายงานว่า ก่อนที่ทางกลุ่ม นปช.จะเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อกสม. ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 (บกน.2) ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ จำนวน 1 หมวด หรือ 48 นาย มาดูแลความเรียบร้อย เนื่องจากทางการข่าวได้รับรายงานว่าทางนปช.จะเดินทางมาจำนวนมาก จึงเกรงว่าจะเกิดปัญหามือที่สาม