posttoday

สนช.นัดลงมติถอดถอน "ปู-นิคม-สมศักดิ์" 23 มค.

10 มกราคม 2558

สุรชัย เผย สนช.นัดลงมติถอดถอน "นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์" 23 มค. ชี้คู่ความต้องตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง ไม่กังวลกระทบปรองดอง

สุรชัย เผย สนช.นัดลงมติถอดถอน "นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์" 23 มค. ชี้คู่ความต้องตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง  ไม่กังวลกระทบปรองดอง

วันที่ 10 ม.ค. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระบวนการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ได้แถลงเปิดคดีในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 - 9 ม.ค.58 ที่ผ่านมาว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะเป็นขั้นตอนที่ให้สมาชิก สนช. ยื่นคำถามที่ตัวเองคิดว่าเมื่อได้ฟังการแถลงเปิดสำนวนคดีของทุกฝ่ายแล้วมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน หรือมีประเด็นไหนที่ตนยังสงสัยอยากจะถามเพื่อให้มีความชัดเจน และเพื่อที่จะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ก็ต้องยื่นคำถามไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถาม โดยของนายสมศักดิ์ และนายนิคมต้องยื่นคำถามภายในวันที่ 12 ม.ค.58 นี้ ก่อน 12.00 น.ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องยื่นภายในวันที่ 13 ม.ค.58 ก่อน 12.00 น. เช่นกัน

"ขณะนี้ได้กำหนดให้สำนวน นายนิคม และ นายสมศักดิ์ มาตอบคำถามวันที่ 15 ม.ค. ส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาตอบวันที่ 16 ม.ค. และทำการลงมติในวันเดียวกัน คือ วันที่ 23 ม.ค.แบ่งเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย"นายสุรชัยกล่าว

เมื่อถามว่า ตัวเลขการปิดบัญชีข้าวของ ป.ป.ช. กับตัวเลขทางฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความแตกต่างกันมาก กมธ.ซักถามต้องทำการซักถามเพิ่มหรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสมาชิก ถ้ามีคำถามที่ต้องการถามก็ต้องส่งไปที่กมธ.ซักถาม ให้กมธ.เป็นผู้ถามให้ชัดเจนถึงตัวเลขความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ส่งคำถามเข้ามาเป็นจำนวนมากแล้ว

เมื่อถามต่อว่า หลายฝ่ายกังวลว่าการดำเนินการถอดถอนจะกระทบต่อการเดินหน้าสร้างความปรองดอง นายสุรชัย กล่าวว่า ก็ต้องฟังเสียงสะท้อนในเรื่องนี้ แต่ถามว่ากังวลไหมก็ไม่กังวล ต้องพยายามที่จะทำให้สังคมมีความเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องของกฎหมาย อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ว่า วันนี้ประเทศจะต้องเดินไปตามกฎหมาย ผิดถูกก็เป็นเรื่องของพยานหลักฐาน ทั้งนี้ ก็ต้องให้สิทธิของสมาชิก สนช.ในการตัดสินใจด้วย โดยตนขอยืนยันว่าสนช.ทุกคนทำหน้าที่อย่างเป็นกลางไม่ลำเอียงแน่นอน แม้แต่เจอกันในห้องอาหารทางสมาชิกฯ ก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่คุยกันในเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความอิสระ อีกทั้งกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรมีส่วนร่วมได้การถอดถอนได้นั้น อันนี้ก็เป็นแนวคิดของท่านที่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลกันได้ ซึ่งก็ต้องดูในรายละเอียดต่อไปว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง