posttoday

ปปช.มีมติ7:0ฟันยิ่งลักษณ์ปล่อยทุจริตจำนำข้าว

08 พฤษภาคม 2557

ปปช.มีมติ 7 ต่อ 0 ชี้ ยิ่งลักษณ์ เพิกเฉยให้มีการทุจริตจำนำข้าว ส่งวุฒิสภาถอดถอนพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี-ห้ามปฏิบัติหน้าที่ 5 ปี

ปปช.มีมติ 7 ต่อ 0 ชี้ ยิ่งลักษณ์ เพิกเฉยให้มีการทุจริตจำนำข้าว ส่งวุฒิสภาถอดถอนพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี-ห้ามปฏิบัติหน้าที่ 5 ปี

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เวลา น. นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทำจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะ โฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 7-0 ให้เสนอวุฒิสภาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีละเลย เพิกเฉยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว พบว่า พฤติการณ์ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา178  และ ขัดพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินมาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งจึงให้แยกสำนวนการถอดถอนส่งไปวุฒิสภา

นายวิชาแถลงว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้ส่งคำร้องขอให้วุฒิสภาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวและ มีเหตุควรสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะในการไต่สวนนั้น

บัดนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 0 เสียง เห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหามีมูลเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 และเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงนำเสนอสำนวนดังกล่าวต่อคณะกรรมากร ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาในวันนี้

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและอยู่ในฐานะ หัวหน้ารัฐบาลซึ่งได้กำหนดนโยบายจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้น และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและการมีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาถึงสองครั้งแล้วว่าโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายอย่างยิ่ง ทั้งจะก่อให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอนของกระบวนการรับจำนำ

นอกจากนี้ผู้ถูกกล่าวหายังรับทราบปัญหาในการดำเนินโครงการจาก การอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งรายงานผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ว่ามีผลขาดทุนสะสมสูงถึง สามแสนกว่าล้านบาท อีกทั้งหนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งผลการตรวจสอบโครงการสรุปได้ว่า โครงการมีจุดอ่อนหรือความเสี่ยงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจนถึงการระบายข้าว ซึ่งเป็นช่องทางนำไปสู่การสวมสิทธิ์การจำนำและการทุจริตในโครงการ เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน เกษตรกรและเสี่ยงต่อระบบการคลังของประเทศ ไม่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

แม้ในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนร่วมในการทุจริตหรือสมยอมให้เกิดการทุจริตหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าจะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ทั้งไม่พิจารณาระงับยับยั้งโครงการตั้งแตเริ่มรับทราบความเสียหายอันร้ายแรงที่สุดของประเทศจากการดำเนินโครงการ

จึงมีมติ 7 ต่อ 0 เสียงว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 11 (1) อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270 จึงให้แยกสำนวนการถอดถอนส่งไปยังวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ส่วนคดีอาญานั้น ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปจนกว่าจะสิ้นกระแสความ ทั้งนี้โดยไม่ตัดพยานที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างมาในคำร้องขอนำสืบแก้ข้อกลาวหาหลังสุด โดยให้นำไปพิจารณาในสำนวนคดีอาญาต่อไป

นายวิชา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการถอดถอนที่ยื่นไปนั้น ก็จะมีเรื่องของการห้ามไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 5 ปีด้วย ส่วนกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดมาว่าป.ป.ช.รับลูกมาเพื่อดำเนินการกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งชุดนั้น ไม่เป็นความจริง แต่อย่างใด

ขณะที่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เพราะนายนิวัฒน์ธำรง เป็นเพียงพยานในคดีนี้เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนวนข้อกล่าวหา

ด้าน นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช. ได้ตั้งองค์คณะในการไต่สวนคดี และใช้ความรอบคอบกับคดีอย่างมาก เพื่อความเป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหา โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อ้างพยานชี้แจงทั้งเอกสารและวาจาอย่างเต็มที่ ในครั้งแรก 11ปาก และมีพยานที่เกี่ยวข้องเพียง4ปาก ต่อมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขอเพิ่มอีก 7ปาก ซึ่งป.ป.ช.พิจารณาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ถูกกล่าวหา และมีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว ต่อมามีการเสนออีก 6ปาก ก็อยู่ใน 7 ปากที่เสนอซ้ำเข้ามาแล้ว สุดทัายมีการขออีก 6 ปาก แต่ป.ป.ช.พิจารณาแล้วว่ามีการจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญข้อกฎหมาย อย่างไรก็ดี ป.ป.ช.ไม่ได้ตัดพยานออกไปเพื่อให้ความเป็นธรรม ต้องขอโทษที่ไม่สามารถให้สืบพยานได้ครบ เพราะป.ป.ช.ทำตามข้อกฎหมายอย่างดีที่สุด