posttoday

ปชป.อัดแม้วหวังธุรกิจน้ำมัน"พท."โต้แหลก

15 ตุลาคม 2556

สภาป่วน ปชป.อัดทักษิณหวังธุรกิจน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน พท.โต้ไร้หลักฐานชงปิดอภิปราย"สรรเสริญ"ชงแก้ 190 ระบุหากเอี่ยวพลังงานต้องผ่านสภา

สภาป่วน ปชป.อัดทักษิณหวังธุรกิจน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน  พท.โต้ไร้หลักฐานชงปิดอภิปราย"สรรเสริญ"ชงแก้ 190 ระบุหากเอี่ยวพลังงานต้องผ่านสภา                            

เมื่อเวลา 14.10 น. วันที่ 15 ต.ค. ที่รัฐสภา การประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 เริ่มการอภิปรายในมาตรา 3 ทั้งนี้นายสรรเสริญ สมะลาภา สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่าการที่กรรมาธิการ เสียงข้างมากแก้ไขมาตรา 190 ให้เหลือเพียงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุนนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานั้น ตนขอเสนอว่านอกจากเรื่องเขตแดนเปิดเสรีด้านการค้า การลงทุน แล้วต้องเพิ่มว่าหากหนังสือสัญญาดังกล่าวมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองหรือการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาด้วย

นายสรรเสริญ กล่าวอีกว่า การเปิดเสรีการค้า การลงทุน นั้นอาจจะกระทบต่อด้านธุรกิจและเกษตรกรบางส่วนเท่านั้น แต่เรื่องพลังงานกระทบกับประชาชนทุกคน อีกทั้งตนยังกังวลถึงแหล่งพลังงานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทยและกัมพูชาที่ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะมีมูลค่ามหาศาล เนื่องจากธนาคารโลกประเมินว่าพื้นที่ 2.6 หมื่นตารางกม.มีน้ำมันถึง 2 พันล้านบาร์เรล มีแก๊สธรรมชาติถึง 10 ล้านล้านลบ.ฟุต มีมูลค่ารวมถึง 5 ล้านล้านบาท จึงต้องการให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่ตกอยู่กับนักธุรกิจคนใดคนหนึ่ง

"การแก้มาตรา 190 จะทำให้การอนุมิติการแบ่งพื้นที่ผลประโยชน์ทับซ้อนไปอยู่ที่คณะรัฐมนตรีทั้งหมด ต่อไปกังวลว่าจะมีนักธุรกิจบางคนจูงใจให้รัฐบาลไทยเสียเปรียบกัมพูชา เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัวกับทางกัมพูชา จะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ถือว่าโกงชาติ เพราะทำธุรกิจพลังงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและครอบครัว"นายสรรเสริญกล่าว

ทั้งนี้ นายสรรเสริญ ได้นำการให้สัมภาษณ์ของนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและไม่สนใจจะลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยนายสรรเสริญระบุว่า คำพูดของนายนพดลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเคยให้สัมภาษณ์ว่า สนใจทำธุรกิจเหมืองทอง เหมืองเพชร น้ำมัน และแก๊ส และตอนนี้กำลังจะได้สัมปทาน โดยนายสรรเสริญได้นำคลิปที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูบเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2556 โดยทางสำนักข่าวว๊อยซ์ ทีวีสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ มาเปิดในห้องประชุม พร้อมนำข่าวหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์ เฟซบุ๊คคุยนายกฯ อิรัก จ่อดึงปตท.ร่วมขยายกำลังการผลิตน้ำมัน” และข่าว “พล.อ.เตีย บัน รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กัมพูชาเผยทักษิณเคยสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงาน” มาแสดงต่อที่ประชุมด้วย           

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายสรรเสริญอภิปราย ได้มีการพาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ สส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายสุนัย จุลพงศธร สส.บัญชีรายชื่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย ทยอยลุกขึ้นประท้วงว่าเป็นการพูดพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 และข่าวที่นายสรรเสริญนำมาอ้างอิงนั้นไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ทำให้ สส.ปชป.ทั้งนายธนา ชีรวินิจ สส.กทม.นายสาธิต ปิตุเตชะ สส.ระยอง ลุกขึ้นประท้วงและยืนยันว่า นายสรรเสริญนำคำสัมภาษณ์ดังกล่าวมาแสดงเป็นการแสดงความเห็นของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ดังนั้นย่อมสามารถทำได้               

ทำให้ สส.ปชป.และ เพื่อไทยโต้เถียงกันไปมา ในขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาพยายามไกล่เกลี่ยว่าต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่าข่าวที่นำมาเสนอนั้น พ.ต.ท.ทักษิณพูดจริงหรือไม่ แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงโต้เถียงจน นางสุนีย์ เหลืองวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นเสนอญัตติปิดอภิปรายในมาตรา 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของ สส.ปชป.และ สว.ที่สงวนคำแปรญัตติไว้   

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงการเสนอญัตติการอภิปราย เนื่องจากมีสส.อีกหลายคนยังไม่ได้เสนอคำแปรญัตติ ดังนั้นการเสนอญัตติปิดอภิปราย จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่ จึงขอให้ประธานพิจารณาด้วย และในเมื่อประธานไม่อนุญาตให้นายสรรเสริญอภิรายต่อ ตนก็ต้องขอใช้สิทธิพาดพิงในส่วนที่นายสรรเสริญที่อ้างคำพูดของนายนพดลที่กล่าวถึงตนด้วย แต่นายสมศักดิ์พยายามขอลงมติเพื่อปิดอภิปรายในมาตรานี้    

ทำให้นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ลุกขึ้นขอหารือว่า ก่อนที่จตะมีการลงมติ ขอให้ สว.ได้มีการอภิปรายบ้าง เพราะยังมี สว.ที่สงวนคำแปรญัตติถึง 23 คน ดังนั้นเพื่อให้เป็นการผ่อนคลายบรรยากาศขอให้สลับให้ สว.อภิปรายบ้าง ส่งผลให้นายสมศักดิ์ ตัดสินจพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 17.10 น.    

อย่างไรก็ตามก่อนที่นายสรรเสริญจะลุกขึ้นอภิปราย ได้มี สส.ฝ่ายค้านลุกขึ้นอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 190 อาทิ นายเกียรติ สิทธิอมร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 190 โดยระบุว่าเป็นเพราะมาตรานี้เป็นอุปสรรคในการเจรจากับต่างประเทศนั้น หากใครเรียนเร่ื่องทฤษฎีการเจรจาก็จะทราบว่าการกลั่นกรองหลายชั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดี การให้อำนาจคนเจรจามาก แม้จะทำให้จบเร็วแต่อาจไม่ได้ของดีที่สุด แต่การให้อำนาจน้อย​ให้เจรจาอยู่ในกรอบที่วางไว้ ถึงอาจจะใช้เวลามากขึ้น แต่อาจได้ข้อตกลงที่ดีดังนั้นจึงไม่ควรไปหลงประเด็นที่มาของการแก้ไขมาตรา 190

"การแก้ไขมาตรา 190 รอบนี้ ทำให้บางเรื่องที่เดิมอยู่ในสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้กลับไปอยู่ในกฎหมายลูก  เช่น เรื่องการับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งไม่ได้มีหลักประกันว่าหากไม่ออกกฎหมายลูกใครจะรับผิดชอบ และสร้าง เสียหายอย่างไร"นายเกียรติกล่าว

นายเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่เสนอให้เพิ่มเติมกรณี "มีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองหรือจัดการภายในประเทศที่ไม่ใช่เรื่องความร่วมือทางวิชาการเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้าหรือการลงทุน ต้องได้รับความเห็นชอบของสภา" เพราะไม่เช่นนั้นบางเรื่องที่สำคัญก็จะไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ  ทั้งเรื่องพลังงาน การแบ่งประโยชน์น้ำมันในทะเลพื้นที่ทับซ้อน หรือการกู้เงินตามพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท 

นอกจากนี้ ในประเด็นที่ระบุว่าหนังสือสัญญาใด มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขต พื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎฆมายระหว่างประเทศโดย "ชัดแจ้ง"  ตรงนี้แม้จะเป็นวิธีการเขียนให้ชัดแต่ทำให้ไม่ชัด เพราะจะมีคำถามว่าใครจะเป็นคนวินิจฉัยว่า ตรงไหน คือชัดแจ้ง  และนี้ยังมีคนมองว่าจะทำให้คดีความในอดีตที่ไม่มีความชัดเจนหลุดคดีหรือไม่  

​นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ สส.นครศรีธรรมราช ปชป.ในฐานะกมธ.อภิปรายว่า ขอแก้ไขไขให้เพิ่มประเภทหนังสือสัญญาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ครอบคลุมถึงหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครอง หรือการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่เรื่องความร่วมมือทางวิชาการต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย เนื่องจากประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงธรรมชาติมีความอ่อนไหว เกี่ยวกับประโยชน์ประเทศ รวมถึงมีผลกระทบกับประชาชนในอนาคต ดังนั้นหากประเทศจะมีความตกลงกับต่างประเทศจึงต้องมีความรอบคอบ