posttoday

เอกชน ลั่น ขึ้นค่าแรงทั่วประเทศกระทบต้นทุน SME ลดความสามารถการแข่งขัน

08 พฤษภาคม 2567

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเน้นการใช้แรงงาน เช่น ธุรกิจอาหาร สินค้าเกษตร สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เหตุต้องแข่งกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีน และเวียดนาม ด้าน 76 หอการค้า และ 53 สมาคมการค้า เตรียมยื่นหนังสือ รมว.แรงงาน 13 พ.ค.นี้ แนะปรับขึ้นค่าจ้างตามไตรภาคี

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า นโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2567 นั้น ไม่สอดคล้องรูปแบบการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและใช้ทักษะไม่สูง อาทิ อาหาร เกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากประเทศไทยต้องแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากจีนและเวียดนามที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นหตุทำให้ประเทศไทยเสียความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก

นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน (Productivity) จะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคการผลิต ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับผลิตภาพแรงงานน้อยกว่า 1% สะท้อนผลิตภาพที่เปราะบางและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะกระทบอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และ SME ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงได้ในเวลาอันสั้น ควรพิจารณาปรับค่าแรงอย่างรอบคอบและปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขึ้นครั้งนี้ถือว่าเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนจะรวบรวมความเห็นจากสมาคมการค้าส่งให้รมว.แรงงาน วันที่ 13 พ.ค.นี้ ก่อนจะประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง วันที่ 14 พ.ค. นี้

อีกทั้งในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) วันที่ 8 พ.ค.67 จะนำเรื่องผลกระทบและกระแสคัดค้านจากสมาคมการค้าต่างและหอการค้า 5 ภาค หารือในการประชุม กกร. ซึ่งเชื่อว่าภาคธุรกิจใน กกร.จะแสดงจุดยืนร่วม และจัดทำเป็นเอกสารยื่นให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลในนาม กกร. อีกครั้ง

การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงตามที่กฎหมายกำหนดส่งผลให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการหยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น อีกทั้ง ยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน

ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล 4 ข้อ คือ 1.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้นก็ทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน

2.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3

3.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 

ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

4.การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เป็นการกระชากด้วยนโยบายของการหาเสียง ไม่ใช่หลักธรรมชาติของการปรับไปตามกลไกทางธุรกิจ และการกระชากครั้งนี้จะซ้ำเติมผู้ประกอบการ เพิ่มต้นทุนท่ามกลางค่าครองชีพที่สูง และยังกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมทั้งจากที่สำรวจหอการค้าและภาคธุรกิจ สะท้อนว่า 50% ระบุว่ายังรับไม่ได้กับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท เพียง 40% ปรับตัวได้เพราะจ่ายค่าแรงงานสูงกว่า 400 บาทแล้ว

นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะกระทบโดยตรงต่อธุรกิจเองและซัพพลายเชน ได้แก่ 

1.ถ้าจ้างงานไม่ไหวจะมีคนตกงานกลับมาเป็นปัญหาให้รัฐบาลและสังคมต้องดูแลต่อไป 

2.ลดการขยายตัวทางธุรกิจและการลงทุน ระยะสั้นจะเกิดภาวะช็อตไม่น้อยกว่าครึ่งปีจากใชัอัตราใหม่ที่สูงเกินรับไหว จะเกิดการฟรีซการจ้างงานระยะยาว 

3.ประชาชนแบกรับการปรับราคาสินค้าหรือบริการ เพราะต้นทุนธุรกิจสูง จะสะท้อนไปกับราคาสินค้าและค่าบริการ กลายเป็นวงจรค่าครองชีพที่ดีดตัวสูง กระทบประชาชนทุกคน แม้จ่าย 400 บาท แต่แบกรับค่าใชัจ่ายแพงขึ้น แรงงานก็ไม่ได้อะไรเพิ่ม คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่แรงงานโดยตรง 

4.เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มแน่นอน ตอนนี้เงินเฟ้อต่ำ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมองว่าจะลดดอกเบี้ยได้ไหม หากขึ้นค่าแรงดันเงินเฟ้อสูงขึ้น โอกาสปรับลดดอกเบี้ยจะต่ำลง