posttoday

นพดลเผยพร้อมสู้คดียันม.190คลุมเครือ

27 เมษายน 2556

“นพดล” ยัน มาตรา190คลุมเครือ เตรียมพร้อมสู้คดีมา5ปี พร้อมให้ปากคำ5ก.ค. ยัน ทำหน้าที่โดยชอบ

“นพดล” ยัน มาตรา190คลุมเครือ เตรียมพร้อมสู้คดีมา5ปี พร้อมให้ปากคำ5ก.ค. ยัน ทำหน้าที่โดยชอบ

ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องตนเป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีตนไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ตนพร้อมมาตลอด 5 ปีเพราะสิ่งที่ทำไปไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 190  เพราะมาตราดังกล่าวคลุมเครือไม่ชัดเจนเต็มไปด้วยหลุมพราง และมาตรา 190 ก็มีการแก้ไขในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกทั้ง ปัจจุบัน ส.ส.และส.ว.ก็ร่วมกันแก้ไขในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมาตรา 190 ไม่ชัดเจน

นายนพดล กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนได้ทำตามคำแนะนำของอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เมื่อ2551 ว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาไม่ใช่หนังสือสัญญา ซึ่งกัมพูชาก็ไม่คิดว่าเป็นหนังสือสัญญาด้วย  นอกจากนั้น แถลงการณ์ร่วมฯ ยังไม่มีบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ศาลเติมคำว่า "อาจ" ในรัฐธรรมนูญ เติมว่าแม้ไม่มีบทญัติเปลี่ยนแปลงในอาณาเขต แต่อาจเปลี่ยนแปลงในอาณาเขต การเติมคำว่า "อาจ" ในรัฐธรรมนูญเท่ากับละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจ เท่ากับศาลบัญญัติกฎหมายรัฐธรรรมนูญ ทั้งนี้ ตนพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เชื่อว่าศาลจะให้ความยุติธรรม

นายนพดล กล่าวว่า ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ศาลได้ให้ตนไปสอบคำให้การ ซึ่งในคดีนี้เป็นการฟ้องตนตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยแนวทางการต่อสู้ของตนจะยืนยันต่อศาลว่าปฏิบัติหน้าที่โดยชอบไม่ได้ละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายกับใคร เพราะมาตรา 157 มีเจตนาธรรมดาและเจตนาพิเศษ เราไม่ได้มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหาย และพูดความเป็นมาของมาตรา190 ว่ามีข้อบกพร่องเพียงใด เพราะเป็นการปฏิบัติตามข้าราชการแนะนำมา นอกจากนั้น ต่อสู้ว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร ส่วนศาลฎีกาจะหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมจะ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภามาเป็นแนวทางการพิจารณาหรือไม่นั้น ถ้าศาลหยิบยกก็คงหยิบยกว่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 หรือไม่ แต่จะต่อสู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไปเติมคำว่า "อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต" ทำให้ต้องสู้ว่าเนื้อหามาตรา 190 ไม่ชัดเจนคลุมเครือที่มีการแก้ไขถึง 2 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดล ยังได้เปิดสไลด์ต่อสื่อมวลชนโดยแสดงถึงแผนที่ฉบับแรกที่กัมพูชายื่นต่อคณะ กรรมการมรดกโลกหรือยูเนสโกที่จะนำตัวปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบตัวปราสาท ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี 2550 และแสดงแผนผังตัวปราสาทที่กัมพูชาจะนำขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทโดยตัด พื้นที่รอบตัวปราสาทออกเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก

โดยนายนพดล กล่าวว่า ทีมนักกฎหมายระดับโลกเห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา มีประโยชน์ในการต่อสู้คดี ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2554 ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้อัยการสูงสุด(อสส.)ได้ขออนุญาตศาลปกครองใช้ คำแถลงการณ์ร่วมต่อสู้คดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก แต่ทีมทนายของไทยตัดสินไม่ใช้ต่อสู้ในศาลโลก เพราะอาจะเป็นการละเมิดอำนจศาลปกครองที่สั่งให้คำแถลงการณ์ร่วมเป็นโมฆะ ดังนั้นแถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์ในการสู้ไม่ใช่ผู้ร้ายตามที่พรรคประชา ธิปัตย์กล่าวหา โดยอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเห็นว่าเนื้อหาสาระของคำแถลงการณ์ร่วมจะเป็น ประโยชน์ในการต่อสู้คดีของไทย เนื่องจากมีเนื้อหาสาระที่กัมพูชาได้เคยสละท่าทีในเส้นเขตแดนในแผนที่1ต่อ 2แสนหรือระวางดงรักแล้ว และยอมรับมีพื้นที่พิพาทกับไทยในทิศเหนือและทิศตะวันตกของตัวปราสาท โดยท่าทีดังกล่าวดังกล่าวขัดแย้งต่อท่าทีของกัมพูชาที่ขอให้ตีความพื้นที่ รอบตัวปราสาท
"แผนที่ ที่กัมพูชาเอาพื้นที่ทับซ้อน โดยเอาศาลพระภูมิบวกสนามหญ้าขั้นมรดกโลกคือแผนที่ที่ยื่นต่อยูเนสโกเมื่อปี 2550 ก่อนทีผมมาเป็ฯรับมนตรี แต่แนวทางเรา ให้ตัดพื้นที่ทับซ้อนโดยเอาสนามหญ้าออกทำให้มีการทำแผนผังใหม่ โดยกัมพูชาให้ขึ้นเฉพาะตัวปราสาท ไม่รวมสนามหญ้าแผนผังนี้ กล่าวโดยสรุป กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์"นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวว่า  ประเด็นที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุเหตุการณ์ในปี 2551 ระบุว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเป็นการสละเส้นแบ่งเขตแดนตามมติครม.เมื่อปี 2505 ถือเป็นความเท็จ ยืนยันตนไม่เคยสละเส้นนี้เพราะไม่ใช่แผนที่ แต่เป็นแผนผัง ยืนยันรัฐบาลนายสมัครไม่เคยสละเส้นสันปันน้ำและเส้นมติครม.เมื่อปี 2505 อีกทั้งกัมพูชาไม่กล้าอ้างคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ อีกไม่นานคนไทยจะได้รู้ข้อเท็จจริง