posttoday

พรทิพย์ลาออกจาก"รองปธ.วุฒิสภาคนที่2"

05 เมษายน 2556

พรทิพย์ น้ำตาไหล ประกาศลาออกจาก"รองปธ.วุฒิสภาคนที่2"กลางสภา หลังครบสัญญาอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี เปิดทางให้มีการเลือกใหม่กำหนดวัน9 เมย.

พรทิพย์ น้ำตาไหล ประกาศลาออกจาก"รองปธ.วุฒิสภาคนที่2"กลางสภา หลังครบสัญญาอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี เปิดทางให้มีการเลือกใหม่กำหนดวัน9 เมย.

ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ช่วงแจ้งเรื่องต่อที่ประชุม นางพรทิพย์ โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา ส.ว.ชัยภูมิ ในฐานะรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ได้ขึ้นกล่าวกับที่ประชุมฯ ว่า ตนขอลาออกจากตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่2 หลังจากที่ดำรงตำแหน่งครบกำหนด 2 ปี ตามที่เคยได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ตนได้ทำหน้าที่ครบกำหนด 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตนขอขอบคุณส.ว.ที่ช่วยให้การสนับสนุน และร่วมปฏิบัติงานด้วยกันมาเป็นอย่างดี ทั้งนี้การลาออกของตนขอให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นางพรทิตย์ กล่าวกับที่ประชุม ได้มีน้ำเสียงสั่นเครือ และมีน้ำตาไหลทำให้นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้หยิบกระดาษเช็ดหน้ายื่นให้ จากนั้นที่ประชุมได้หารือถึงวันคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่2 ทั้งนี้ที่ประชุมวุฒิสภา มีความให้เห็นร่วมกันให้มีการเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ในวันที่ 9 เม.ย.

จากนั้น นางพรทิพย์ ได้กล่าวกับที่ประชุมอีกครั้ง ว่า ดิฉันขอให้ทุกท่านร่วมทำงานในบรรยากาศสมานฉันท์ สรรหา และเลือกตั้ง ประวัติการทำงานแตกต่างกัน ทำงานร่วมกันได้ ต้องให้เกียรติกัน เป็นพลังให้เดินไปสู่เป้าหมายที่สำคัญ เพื่อชาติบ้านเมือง ซึ่งตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ดิฉันอยากให้โอกาสให้พี่ๆ ทุกคน เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว ไม่ว่าอยู่ในสายสรรหา หรือเลือกตั้ง

โดยนายนิคม ได้แจ้งต่อที่ประชุมอีกครั้งว่า การคัดเลือกบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง แทนตำแหน่งที่ว่า จะลงคะแนนภายหลังจากการลงคะแนนเลือกบุคคลให้เป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกดับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่ได้กำหนดเวลาให้ลงคะแนนในเวลา 09.30 น. เบื้องต้นขอกำหนดบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ได้แสดงวิสัยทัศน์คนละ 5 นาที ขณะที่การลงคะแนนจะกาบนบัตรเลือกตั้ง โดยผู้ที่จะได้รับตำแหน่งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ หรือ 74 คะแนน แต่หากการลงคะแนนรอบแรกไม่มีบุคคลได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง จะให้ผู้ที่ได้รับเลือกคะแนนสูงอันดับ 1 และ 2 ลงคะแนนเลือกใหม่ ทั้งนี้หากในรอบแรก ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับสอง เท่ากัน จะให้ได้รับสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกด้วย