posttoday

พิชิตยันมาตรา68ไม่สอดคล้องรธน.

01 เมษายน 2556

"พิชิต"ยันมาตรา 68ให้สิทธิยื่นตรงศาลขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ชี้ไม่อำนวยความยุติธรรมผู้ถูกกล่าวหา "สมเจตน์" ขวางแก้ทุกมาตรา

"พิชิต"ยันมาตรา 68ให้สิทธิยื่นตรงศาลขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ชี้ไม่อำนวยความยุติธรรมผู้ถูกกล่าวหา "สมเจตน์" ขวางแก้ทุกมาตรา

เมื่อวันที่ 1 เม.ย.การประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 3 ฉบับ นายพิชิต ชื่นบาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกกล่าวอภิปรายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยระบุว่า บทบัญญัติในมาตรา 68 สามารถแบ่งตัวละครออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาว่าล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่การให้อำนาจผู้กล่าวหาสามารถยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ผ่านการกลั่นกรองจากอัยการสูงสุดนั้นเท่ากับไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหาถือว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 40 (1) (4) และ (7)

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 40 (1) ระบุว่า บุคคลมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง (4) ระบุว่า ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา โจทก์ จำเลย คู่กรณีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม  รวมทั้งสิทธิในการได้รับการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และ (7) ระบุว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง

“ผู้ถูกกล่าวหาล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 มีความผิดคล้ายข้อหากบฏของกฎหมายอาญามาตรา 113 ซึ่งผู้ต้องหาย่อมได้รับสิทธิอำนวยความยุติธรรมให้คดีผ่านการกลั่นกรองจากอัยการก่อน ขณะเดียวกันต้องเห็นใจผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 68 ด้วยที่ต้องได้รับสิทธิอำนวยความยุติธรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้นเรื่องต้องถูกกลั่นกรองผ่านอัยการสูงสุดไม่ใช่ยื่นให้ศาลวินิจฉัยโดยตรง” นายพิชิตกล่าว

ถัดมา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.สรรหา ลุกขึ้นอภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตรา เพราะตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้การแก้มาตรา 68 ให้ยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุดนั้นไม่มีสิทธิยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นเท่ากับตัดสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และเป็นการยกอำนาจของประชาชนไปให้อัยการสูงสุดเพียงคนเดียว ซึ่งการยื่นร้องคัดค้านการล้มรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้งฉบับปีที่ผ่านมานั้น อัยการสูงสุดทำงานด้วยความล่าช้า หากไม่มีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้รัฐธรรมนูญปี 50 คงถูกล้มล้างไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

“ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าประชาชนมีสิทธิยื่นร้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ และคำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กร รวมถึงรัฐสภา จึงอยากเตือนผู้ที่เสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขณะนี้ท่านกำลังยื่นญัตติที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” พล.อ.สมเจตน์กล่าว       

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 111 แก้ไขให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คนเท่ากับเอื้อประโยชน์ให้ สว.เลือกตั้งเสพติดทางอำนาจ และลดการถ่วงดุลจาก สว.สรรหาในวุฒิสภาด้วย ขณะเดียวกันการแก้ไขมาตรา 190 จำกัดกรอบแคบลงให้หนังสือสนธิสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไม่ต้องผ่านการเห็นชอบของสภาเป็นการตัดสิทธิการใช้อำนาจของประชาชนผ่านสภาไม่ให้ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล