posttoday

ชวนนท์ จี้ ปูตอบ 8 ข้อข้องใจพรบ.กู้เงิน

30 มีนาคม 2556

โฆษก ปชป. ยังติดใจ พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อประเทศหรือคนอยู่เบื้องหลังรัฐบาล จี้ "นายกฯ" ตอบคำถามข้องใจ 8 ข้อ

โฆษก ปชป. ยังติดใจ พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อประเทศหรือคนอยู่เบื้องหลังรัฐบาล  จี้ "นายกฯ"   ตอบคำถามข้องใจ 8 ข้อ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติผ่านร่าง พ.ร.บงให้อำนาจกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้) แล้ว ซึ่งทางพรรคฯ ไม่รู้สึกประหลาดใจ แม้ว่าฝ่ายค้านจะพยายามให้เหตุผล และปิดช่องว่างเพื่อให้การใช้เงินเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งรัฐบาลไม่รับข้อเสนอและยังไม่สามารถตอบคำถามได้อีกหลายประการ จึงขอย้ำว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของปชช.แต่ต้องควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย   อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสงสัยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ทำเพื่อประเทศ หรือคนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลรวมถึงพวกพ้อง

โดย นายชวนนท์ได้ตั้งคำถามที่ยังไม่ได้รับการชี้แจงจากนายกรัฐมนตรีในสภาฯ จำนวน 8 ข้อ ประกอบด้วย 1. เหตุใดต้องกู้เงิน ทั้งที่สามารถใช้งบรายจ่ายประจำปี 7 ปี ให้มีงบขาดดุลปีละ 300,000 ล้านบาท ที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่า เพราะเป็นไปตามกฎหมายหนี้สาธารณะ 2.เหตุใดถึงไม่กำหนดให้ชัดเจนในกฎหมาย ว่าจะไม่ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ แต่ให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุทางราชการ 3.เหตุใดไม่มีการบรรจุเอกสารประกอบบัญชีแนบท้าย เพื่อป้องกันการโยกงบประมาณในอนาคต 4.รัฐบาลจะให้ความมั่นใจได้อย่างไร ว่าจะชำระหนี้และดอกเบี้ย รวม 5 ล้านล้านบาทได้ ภายในเวลา 50 ปี เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจจะน้อยกว่าร้อยละ 7.5 ตามที่รัฐบาลตั้งสมมติฐาน

นายชวนนท์ กล่าวว่า 5.ขอให้รัฐบาลทบทวนยกเลิกโครงการประชานิยมที่ใช้งบของเงินคงคลัง 300,000 ล้านบาท 6.เหตุใดไม่ดำเนินโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง จากกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อสามารถเชื่อมโยง ลาว จีน ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง แต่กลับสร้างเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 7.ยังมีหลายโครงการที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และไม่ผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความไม่รอบคอบ หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะเปลี่ยนแปลงโครงการหรือไม่ และ 8.เหตุใดรัฐบาลไม่จัดลำดับความสำคัญเรื่องการขนส่ง ที่จะใช้ขนส่งสินค้า เช่น ผัก หรือ คน เพราะถ้าต้นทุนสินค้าที่ใช้ขนส่งสูงขึ้น จะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น และถ้าค่าบริการรถไฟความเร็วสูงแพง อาจจะเกิดความเหลื่อม แต่หากรัฐบาลแทรกแซงราคาตั๋ว จะทำให้ขาดทุนปีละ 30,000 ล้านบาท