posttoday

บทเพลงสีรุ้ง

26 มิถุนายน 2565

โดย...ผศ.ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์

**************************

“อยาก ให้ เขารู้ ว่า มันเจ็บ เจ็บ เพียงไหน ตอบ ฉันได้ไหม ว่า ฉันผิด ผิดอย่างไร” เนื้อเพลงบางส่วนจากเพลง “เพลงสุดท้าย” เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เพลงสุดท้าย” ที่ขับร้องโดยคุณสุดา ชื่นบาน แต่งโดย จิตนาถ วัชรเสถียร ถือเป็นเพลงไทยสุดคลาสสิคที่สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของคนข้ามเพศอย่างชัดเจนที่รู้ตัวว่าแม้ตัวตนจะเป็นของปลอม แต่ความรู้สึก ความรักเป็นของจริงเฉกเช่นเดียวกับความรักของเพศอื่น ๆ เช่นกัน

บทเพลงและดนตรี ถูกนำมาเป็นบทบันทึกหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่เหมือนกับวรรณกรรม มีแง่มุมของการอ่าน การฟังและการตีความได้หลากหลายรูปแบบที่สามารถเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องของ Sex หรือ Gender บทเพลงและดนตรีจึงถูกนำมาเป็นตัวแทนเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และภาพแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ เพลง “I will survive” ของ Gloria Gaynor ที่มีประโยคโดนใจที่ทำให้ชาวข้ามเพศทั้งหลายพร้อมใจกันร้อง “I will survive” ที่บอกเล่าถึงความรู้สึกของเหล่าเพศที่แตกต่างได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่เพลงของศิลปินยุคใหม่อย่าง Lady Gaga กับเพลง “Born This Way” ที่ให้กำลังใจและเข้าใจในกลุ่มคนข้ามเพศว่าที่เป็นกันอยู่แบบนี้ ไม่ได้เปิดความผิดของใคร ทำไมต้องเหมือนใคร เพราะเราก็สามารถมีสปอร์ตไลท์ที่ส่องสว่างไสวได้เหมือนคนอื่น ๆ (1)

บทเพลงสีรุ้ง

สำหรับ วงการเพลงไทย ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาศิลปินรุ่นใหม่หลายท่านถ่ายทอดความหลากหลายทางเพศ ก้าวข้ามเพศสภาพแค่หญิงและชาย ผ่านบทเพลงและมิวสิควิดีโอที่แสดงความรักแบบ LGBT อาทิ เพลง “เพื่อนรัก” ของ The Parkinson, เพลง “จดหมาย” ของ The Toys และเพลง “ในฝัน” ของ Soul After Six (2) รวมถึงเพลงใหม่ล่าสุด "I’ll Do It How You Like It" ของ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร นักแสดงนักร้องที่แจ้งเกิดจากซีรีส์สุดโด่งดัง “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ที่ก้าวข้ามบรรทัดฐานของ “เพศสภาพ” เช่นเคย

โดยเฉพาะมิวสิควิดีโอที่ยกเอาเรื่องราวแบบซีรีส์วาย (Boy’s Love) รวมถึงแฟชั่นที่ไม่ได้อยู่ใน “กรอบ” ของการแบ่งแยกหญิงหรือชาย หรือเทรนด์แบบ “Beauty of Fluidity” ที่เขาหรือเธอสามารถเลือกหยิบเสื้อผ้าของงกันและกันมาสวมใส่ ก็สะท้อนถึงวงการเพลงไทยได้การข้ามผ่านบรรทัดฐานทางเพศสภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น (3)

เราจึงอาจจะกล่าวได้ว่าเพลงและดนตรีถูกเลือกมาให้เป็นส่วนหนึ่งของการบอกให้โลกรู้ถึงการมีตัวตนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะในแง่มุมของเนื้อเพลง ดนตรี การเต้น การแต่งกาย รวมถึงความเป็นตัวตนของผู้ประพันธ์และศิลปิน เดือนมิถุนายน หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride Month) ที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2009 กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแสดงออกถึงความเท่าเทียม และเรียกร้องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

รวมถึงประเทศไทยที่ภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ เพื่อส่งเสริมความความเท่าเทียมและการยอมรับในตัวตนของทุกคนอย่างแท้จริง หนึ่งในนั้นคือการแสดงคอนเสิร์ต “PRIDE MONTH Repertoire” ของวงออร์เคสตราเครื่องเป่า Mahidol Wind Orchestra (MWO) โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้แคมเปญฯ centralwOrld “Free to be” (อิสระที่จะเป็นตัวเองในแบบของคุณ) จัดโดย Central Pattana ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของวง MWO ที่นำบทเพลงที่หลายท่านคุ้นเคย และเป็นที่รู้จักมายาวนานมาร้อยเรียงและเล่าเรื่องเกี่ยวกับ LGBTQIA+ มาบรรเลงในรูปแบบออร์เคสตร้าเครื่องเป่าและขับร้องโดยนักศึกษาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยยังคงเก็บรักษาอารมณ์ หรือตัวตนของเพลงนั้นไว้ให้มากที่สุด

บทเพลงที่คัดเลือกมาแสดงในครั้งนี้ มีทั้งบทเพลงเฉพาะทางที่แสดงถึงความรู้สึกของคนกลุ่มนี้โดยตรง รวมถึงเพลงทั่วไปแต่เรานำมาเป็นตัวแทนความรู้สึกของคนนอกกระแสหลัก ทั้งในแง่มุมของเนื้อเพลง และการสื่อความหมายของตัวละคร มีทั้งเพลงจากละครเพลงคลาสสิค และเพลงสมัยใหม่ที่ถูกนำมาตีความในเชิงของความรู้สึก เช่น การที่ต้องหลบซ่อนความจริง การปิดบังตัวตน ความเจ็บปวดที่ต้องหลบเร้น หรือการตั้งคำถามกับตัวเองว่าความแตกต่างนี้ผิดอย่างไร

ตัวอย่างบทเพลงที่ถูกคัดเลือกมาใช้ในการแสดงในครั้งนี้ อาทิ เพลง “This is me” จากภาพยนตร์เพลงเรื่อง The Greatest Showman ที่เนื้อเพลงพูดถึงความมืดที่หลายคนหวั่นกลัว แต่ฉันไม่กลัว “I’m not a stranger to the dark.” เพราะตลอดทั้งชีวิตฉันถูกไล่ให้ไปหลบซ่อนมาตลอดทั้งชีวิต “Hideaway” เพราะสังคมบอกว่าไม่มีใครอยากได้คนที่ไม่สมบูรณ์แบบพวกเธอ ไม่มีใครรักพวกเธออย่างที่เธอเป็นอยู่ แต่ในเพลงก็พยายามที่จะบอกว่า ฉันก็เป็นฉันแบบนี้ (4), เพลง I am What I am จากละครเพลง La Cage aux Folles ในปี 1983 หรือในนามของ “กินรีสีรุ้ง” ละครเวที Musical ที่ทาง Exact & Scenario นำมาทำในเวอร์ชันไทยเมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งมีส่วนหนึ่งของเนื้อเพลงที่บอกว่า “I bang my own drum. Some think it's noise I think it's pretty” ฉันตีกลองของชั้น บางคนคิดว่ามันน่าหนวกหู แต่ฉันว่ามันก็เพราะดี สื่อให้เห็นว่า ฉันก็เป็นฉันแบบนี้ แม้บางคนจะบอกว่ามันน่ารำคาญ แต่สำหรับฉันมองว่ามันดี เพลงสะท้อนถึงความภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงเพลงยุคใหม่อย่างเพลง “Reflection” จากแอนิเมชันเรื่อง Mulan และเพลง “Part of Your World” จาก Little Mermaid

การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้เป็นการส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมให้รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มคนที่ถูกค่านิยมกระแสหลักของสังคมผลักให้ไปอยู่ชายขอบผ่านเสียงเพลง รวมถึงเป็นโอกาสให้นักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายทางเพศ และสร้างประสบการณ์จากการแสดงโชว์นอกสถานที่ ทั้งนักศึกษาวง Mahidol Wind Orchestra และนักศึกษาจากภาควิชาการขับร้องคลาสสิคและละครเพลง 

บทสัมภาษณ์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ Music Director ของ Mahidol Wind Orchestra/ หัวหน้าภาควิชาการอำนวยเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง

1. 10 เพลงประจำชาติชาว "ข้ามเพศ" LGBT https://www.sanook.com/music/2378029/   

2. 10 MV เพลงไทยที่เป็นความรักแบบ LGBT https://today.line.me/th/v2/article/QQVkm0

3. I'll Do it How You Like It เพลงใหม่ล่าสุดจาก 'พีพี-กฤษฏ์' กับความลื่นไหลทางเพศขั้นสุด https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/i-will-do-it-how-you-like-it-pp-krit

4. แปลเพลง This is me http://www.introlyrics.com/this-is-me-kesha/   

เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กรกองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล