posttoday

อย่ามีอคติและความเกลียดชังเพราะคิด/เชื่อต่างกันเลย

13 มิถุนายน 2565

โดย...โคทม อารียา

 ********************************   

สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดในปี พ.ศ.2488 คนที่เกิดหลังสงครามอยู่ในรุ่นวัย (generation) ที่ฝรั่งเรียกว่า Baby Boomer สมัยนั้นเมื่อจบรบก็พบรัก เลยมีลูกกันเป็นพรวน ถ้าถือคร่าว ๆ ว่าแต่ละรุ่นวัยมีพิสัยอายุประมาณ 20 ปี รุ่น Baby Boomer คือคนเกิดในช่วงปี พ.ศ. 2488-2507 ปัจจุบันอยู่ในวัยเกษียณหรือใกล้เกษียณ รุ่นวัยถัดไปคือรุ่นใหญ่วัยทำงาน  ฝรั่งเรียกว่ารุ่นวัย X และถือเอาปี ค.ศ. เป็นเกณฑ์ จึงกำหนดให้รุ่นวัย X คือคนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ.2508-2522 (เพื่อให้พิสัยอายุคนรุ่นถัดไปที่เรียกว่ารุ่นวัย Y เริ่มในปี ค.ศ.1990 หรือปี พ.ศ. 2523 เพื่อให้ฝรั่งจำได้ง่าย) เลยเป็นว่ารุ่นวัย Y คือคนที่เกิดระหว่างช่วงปี พ.ศ.2523-2540 ปัจจุบันคือรุ่นเล็กวัยทำงานนั่นเอง คราวนี้มาถึงรุ่นวัย Z คือรุ่นเด็กและเยาวชนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2540 คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นไป

ผมสังเกตว่าความขัดแย้งทางสังคมการเมืองนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างรุ่นเกษียณ (Baby Boomer) กับรุ่นเยาวชน (รุ่นวัย Z) เพราะรุ่นเกษียณส่วนมากเป็นพวกอนุรักษ์นิยมและห่วงลูกหลาน ส่วนเยาวชนจำนวนมากอยากสร้างอนาคตของพวกเขาโดยขอไม่ให้คนรุ่นก่อน ๆ มาครอบงำ ต่างฝ่ายต่างมีอคติและมายาคติต่อกัน วัยเกษียณส่วนหนึ่งคิดแบบวันวานอันหวานชื่น และเห็นว่าเยาวชนสมัยนี้แย่ลงทุกวัน ส่วนวัยรุ่นหลายคนเห็นว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่าสมัยท่านดีกว่านั้นไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์มารองรับ นับแต่สมัยของพวกผู้ใหญ่ เทคโนโลยีและสวัสดิการสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปในทางบวกมากมายแล้ว อย่ามาจำกัดการแสวงหาและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเราเลย

อคติอีกด้านหนึ่งที่จะขอนำมาอภิปรายในที่นี้ คืออคติที่ชาวพุทธส่วนหนึ่งมีต่อชาวมุสลิม โดยสังเกตจากประสบการณ์ที่ผมได้รับข้อความอันเป็นเท็จหรือคลาดเคลื่อนอยู่เนือง ๆ จากเพื่อน ๆ ที่อยู่ในรุ่นวัย Baby Boomer เช่นเดียวกับผม แต่ผมประมวลเรื่องได้ไม่ดีเท่ากับเนื้อหาที่เขียนในบทความ “หลุมพราง บ่มเพาะความเกลียดชังทางศาสนา” (ดู https://www.bangkokbiznews.com/columnist/989419 ) จึงขออนุญาตสรุปสาระของบทความดังกล่าวมานำเสนอดังต่อไปนี้

1ข้อความคลาดเคลื่อน “มีการออก พ.ร.บ. คุ้มครองศาสนาอิสลาม 10 ฉบับ” ข้อเท็จจริงคือ มี พ.ร.บ.เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม 4 ฉบับดังนี้ “พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489  พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์  พ.ศ. 2524 พ.ร.บ.การบริหารองค์การศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 และพ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  พ.ศ.2545

2.ข้อความคลาดเคลื่อน “จะมีการตั้งศาลอิสลาม เพื่อมุสลิมจะได้ไม่ต้องขึ้นศาลไทยปกติ” ข้อเท็จจริงคือ มีการนำหลักศาสนาอิสลามเรื่องครอบครัวและมรดกมาใช้สำหรับพิจารณาคดีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นมุสลิม และอยู่ในเขตอำนาจศาลในพื้นที่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล เท่านั้น

3.ข้อความคลาดเคลื่อน “รัฐบาลจะสร้างมัสยิดให้ชาวมุสลิมทุกจังหวัด” ข้อเท็จจริงคือ มัสยิดทุกแห่งสร้างขึ้นมาจากเงินศรัทธาของชาวมุสลิม  รัฐบาลไม่ได้จ่ายเงินสร้างแต่อย่างใด ยกเว้นบางจังหวัดเช่น ยะลา ปัตตานี นราธิวาส  ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนเงินบูรณะซ่อมแซม  ส่วนมัสยิดนครศรีธรรมราชเป็นงบผูกพัน 3 ปี (2557 - 2559)

4.ข้อความคลาดเคลื่อน “รัฐบาลจ่ายเงินค่าเดินทาง ที่พัก อาหาร ให้ชาวมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ซาอุดิอาระเบีย” ข้อเท็จจริงคือ ผู้แสวงบุญจ่ายเงินเอง

5.ข้อความคลาดเคลื่อน “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นสมัย คสช. มีสมาชิกที่เป็นมุสลิม 63 คน จากทั้งหมด 233 คน” ข้อเท็จจริงคือ สนช. ชุดนั้นมีมุสลิมเพียง 4 คน

6.ข้อความคลาดเคลื่อน “สัญลักษณ์ Green Industry  ของ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นตราฮาลาลเพื่อเอาใจมุสลิม” ข้อเท็จจริงคือ ไม่ใช่ตราฮาลาล

7.ข้อความคลาดเคลื่อน “ชาวไทยมุสลิมกู้เงินธนาคารอิสลามโดยไม่ต้องใช้หนี้คืน” ข้อเท็จจริงคือ ทุกคนต้องใช้หนี้คืน

8.ข้อความคลาดเคลื่อน “ผู้นำซาอุดิอาระเบียขอให้นายกรัฐมนตรีนำมุสลิมเข้าประเทศไทยแบบผิดกฎหมายได้” ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีคำขอเช่นนี้ และถึงขอก็ทำผิดกฎหมายไม่ได้

ต่อไปจะขอกล่าวถึงเรื่องอคติที่เยาวชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่งมีต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ ซึ่งอคติเช่นนี้เป็นเหตุที่มาเหตุหนึ่งของความรุนแรงในพื้นที่ และอาจเป็นเหตุที่มาของอคติของชาวพุทธส่วนหนึ่งที่มีต่อมุสลิมได้ เทศบาลนครยะลาซึ่งมีนายกเทศมนตรีเป็นชาวพุทธปรารถนาจะลดอคติดังกล่าว ตลอดจนเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับคำสอนของอิสลาม จึงจัดพิมพ์เอกสารชื่อ “อิสลาม: ความจริงที่ต้องเปิดเผย” ขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยคณะที่ปรึกษาฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ผมจึงขอนำสาระของเอกสารดังกล่าวมาสรุปย่อดังต่อไปนี้

1.การญิฮาด หมายถึงการต่อสู้ในเส้นทางของอัลลอฮฺ ต่อความชั่วร้ายต่าง ๆ หากจะใช้อาวุธในการต่อสู้ ต้องได้รับการตัดสินชี้ขาดโดยการฟัตวา โดยมีเงื่อนไขคือ (ก) มีการกดขี่และขับไล่อย่างอยุติธรรม (ข) มีการลิดรอนสิทธิทางศาสนา (ค) เป็นการทวงสิทธิตามข้อ (ก) และ (ข) คืนมา (ง) ต้องอยู่ภายใต้จริยธรรมการทำสงคราม (จ) ต้องไม่ทำลายศพ ฆ่าเด็ก สตรี คนชรา พลเรือนผู้บริสุทธิ์ ต้องเมตตาผู้ให้บริการทางการแพทย์แก่เชลยศึก เป็นต้น

2.ผู้เสียชีวิตที่ต่อสู้ตามกฎเกณฑ์ของการญิฮาด โดยเฉพาะการไม่ฆ่าผู้บริสุทธิ์เท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการตายบนหนทางของอัลลอฮฺ (เป็นชะอีด)

3.ผู้ที่เป็นชะอีดยังต้องอาบน้ำศพ เว้นแต่จะเสียชีวิตในสมรภูมิรบเท่านั้น

4.ใครก็ตามที่เรียกร้อง ต่อสู้ หรือเสียชีวิตเพื่อไปสู่อัชชอบียะฮ์ (การคลั่งชาติ คลั่งเผ่าพันธุ์ หลงตระกูล ถือพวกพ้อง) ไม่ใช่พวกเดียวกับศาสดามูฮัมหมัด (ศอลฯ)

5.มุสลิมสามารถอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่มิใช่มุสลิม แต่มีคุณธรรม

6.ที่ประชุมใหญ่ระดับโลก ณ ประเทศคูเวตเมื่อปี พ.ศ. 2549 ประกาศว่า “ความหลากหลายทางศาสนา ภาษา และเผ่าพันธุ์ ถือเป็นพื้นฐานทางธรรมชาติและข้อเท็จจริงของสังคมมนุษย์ โดยที่ความหลากหลายดังกล่าวไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างที่จะสร้างความบาดหมางและเป็นศัตรูระหว่างกัน จึงขอยึดมั่นหลักสายกลางและต่อต้านพฤติกรรมอันนำไปสู่ความรุนแรงและความบาดหมางระหว่างผู้คนในสังคม”

7.การใช้ผ้ายันต์ เครื่องราง และของขลัง เพื่อการอยู่ยงคงกระพัน ถือเป็นบาปที่ใหญ่ และบุคคลที่ทำบาปเช่นนี้ หลุดพ้นจากสถานะความเป็นมุสลิม

8.การสาบาน (ซุมเปาะห์) ว่าจะต่อสู้กับอำนาจรัฐนั้น อันที่จริงท่านนบี (ศอลฯ) ได้ห้ามไว้โดยกล่าวว่า “ผู้ใดที่สาบานกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดนอกจากอัลลอฮฺ (ช.บ.) ก็เท่ากับเขาผู้นั้นเป็นผู้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ (ช.บ.) (หมายถึงการมอบความเคารพภักดีแก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่พระองค์) หากคำสาบานนั้นเป็นอันตรายต่อครอบครัว การกระทำของผู้นั้นถือเป็นบาปที่ใหญ่”

9.การลอบฆ่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกาฟิร (ต่างศาสนา) และมุนาฟิก (ผู้กลับกลอก) นั้น ไม่ใช่คำสอนของอิสลาม ที่สอนว่า “ไม่มีการบังคับใด ๆ ในการนับถือศาสนา” และไม่ปรากฏที่ใดในพระคัมภีร์อัลกุรอานที่สั่งใช้ให้ฆ่ามุนาฟิก

10.ศาสนาอิสลามสอนให้ทำดีต่อบิดามารดา ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาใด แต่บิดามารดาจะมากำหนดไม่ให้ลูกเชื่อและศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (ชบ.) ไม่ได้

เอกสารที่อ้างถึงข้างต้นให้ความหมายของศาสนาอิสลามว่า เป็นศาสนาที่เรียกร้องสันติสุขและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสมานฉันท์ บนพื้นฐานความรัก ความเอื้ออาทร ความถูกต้องและความเป็นธรรม

เอกสารอีกฉบับที่จะขอนำมาอ้างคือ “หนังสือ 5 ศาสนา”  ที่อยู่ในระหว่างการพิมพ์เผยแพร่โดย องค์กรที่ใช้ชื่อว่า “ศาสนาเพื่อสันติภาพ-สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย” ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามตอนหนึ่งว่า

ในฮัจย์อำลา นบีมูฮัมหมัดได้ประกาศต่อหน้าบรรดาเศาะฮาบะฮ์กว่า 100,000 คนว่า “เจตนารมณ์ของอิสลามครอบคลุมหลักพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ ความรับผิดชอบในหน้าที่ การยอมรับสิทธิส่วนบุคคล การใช้ชีวิตในครอบครัว ฐานะของสตรีในอิสลามและบทบาทของนางต่อการสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข”

ในเอกสารเดียวกันนี้ มีหัวข้อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับสันติภาพ ความตอนหนึ่งว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์แต่ละคนที่เป็นสมาชิกของสังคมพึงระลึกถึงกัน มีน้ำใจประสานกลมกลืนพร้อมที่จะร่วมมือกัน เริ่มตั้งแต่ทางกายเราก็มีเมตตาต่อกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตา ช่วยเหลือเอาธุระต่อกัน ทางวาจา เราก็พูดด้วยน้ำใจรักกัน ในจิตใจ เราก็คิดปรารถนาดีต่อกัน ในการอยู่ร่วมกัน มีของอะไรมา หรือได้รับสิ่งใดมา ก็มาแบ่งปันกัน ในการรักษาสถานภาพของสังคม เราก็รักษาระเบียบวินัย มีศีลเสมอกัน ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่กัน และปฏิบัติตามกฎกติกาของส่วนรวม”

ในตอนต้นของบทความ ผมได้กล่าวถึงรุ่นวัย Baby Boomer ที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับเยาวชนในรุ่นวัย Z ไปจนถึงต้องการปราบปรามเยาวชนบางคนที่เห็นต่าง ต่อมาผมได้กล่าวถึงอคติที่แสดงออกโดยชาวพุทธที่จำนวนหนึ่งอยู่ในรุ่นวัย Baby Boomer ที่มีต่อมุสลิม แล้วก็นำเสนอในทางกลับกันว่า เยาวชนมุสลิมจำนวนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีอคติต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งถึงตาย แสดงว่าอคติที่มีต่อคนที่คิดและเชื่อไม่เหมือนเรา อาจนำไปสู่ความเกลียดชังและความรุนแรงได้

แล้วเราจะลดทอนอคติให้เหลือน้อยลงได้อย่างไร คำแนะนำสำหรับชาวพุทธประการหนึ่งคือ การมีสติหรือการระลึกรู้ถึงกาลามสูตรอยู่เสมอ นั่นคือ

1.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตาม ๆ กันมา

2.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา

3.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ

4.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

5.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ

6.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน

7.อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล

8.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว

9.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้

10.อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

เมื่อไตร่ตรองให้ดีแล้ว เราจึงแสดงออกโดยพยายามให้ตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุดเท่าที่เราจะเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ตรง และการแสดงออกของพุทธศาสนิกชนนั้น พึงเป็นสัมมาวาจาหรือการเว้นจากวาจาทุจริต ดังนี้

· งดเว้นจากการพูดเท็จ

· งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

· งดเว้นจากการพูดคำหยาบ

· งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

ขอสันติสุขจงมีแด่สังคมที่สามารถลดทอนอคติ มีวิจารณญาณที่รอบคอบ และมีเมตตาต่อกัน