posttoday

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก กับการพัฒนาการศึกษาของไทย

29 พฤษภาคม 2565

โดย...อ.ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ

*********************

หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกับการตัดสินใจเลือกสถาบันการศึกษาของผู้เรียนในปัจจุบันนั่นคือ อันดับของมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพราะจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับผู้ที่ผ่านการศึกษาจากสถาบันนั้น ๆ ให้เกิดความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจได้ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ จากการสำรวจของสถาบัน Quacquarelli Symonds (QS) ในปี พ.ศ. 2562 พบว่า 32% ของนักศึกษาต่างชาติมองว่า Ranking ของมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกมหาวิทยาลัย (1) นอกจากนี้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นในธุรกิจด้านการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาและยุโรป รวมถึงอีกหลายประเทศในแถบเอเชียและประเทศไทย

ในแต่ละปีจะมีผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกออกมาจากหลายสถาบัน ซึ่งมีผลต่อการได้รับการยอมรับเกี่ยวกับชื่อเสียงและคุณภาพของมหาวิทยาลัย ดังนั้นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ และนโยบายให้มหาวิทยาลัยของตนได้มีอันดับโลกที่ดีขึ้น 3 สถาบันการจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ Academic Ranking of World University (ARWU), Times Higher Education (THE) และ Quacquarelli Symonds (QS) ซึ่งแต่ละสถาบันจะมีเกณฑ์การให้คะแนนที่แตกต่างกันไป (2) รวมถึงรูปแบบของการจัดอันดับที่แตกต่างกัน

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก กับการพัฒนาการศึกษาของไทย

สำหรับประเทศไทยเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบอุดมศึกษา เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ จึงผลักดัน โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ที่ทำให้เกิดการปฏิรูประบบอุดมศึกษา ทั้งการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะอาจารย์ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21 โดยมหาวิทยาลัยจะได้ใช้ความรู้ ความสามารถและศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมีความถนัดและเชี่ยวชาญ ผลักดันให้เกิดการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยและยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ โดยแบ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมโลก เป็น 5 กลุ่มสาขา ได้แก่ กลุ่มสาขา Biologics and Vaccine กลุ่มสาขา Al Based Diagnosis กลุ่มสาขา Medical Robotics กลุ่มสาขา Medical Devices และกลุ่มสาขา Drug Discovery (3) ซึ่งมีส่วนผลักดันให้อันดับมหาวิทยาลัยของไทยดีขึ้นในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก

ล่าสุดของการประกาศการจัดอันดับ QS World University Rankings by Subject 2022 ที่ผ่านมา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับ 47 ของโลกในกลุ่มสาขาวิชา Performing Arts ซึ่งมีเกณฑ์การให้คะแนนที่แตกต่างไปจากกลุ่มสาขาวิชาอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยสามารถควบคุมและพัฒนาเพื่อให้ได้คะแนนที่สูงขึ้นได้ แต่เกณฑ์ของกลุ่มสาขา Performing Arts นี้ใช้เกณฑ์การให้คะแนนเพียง 2 ด้าน ได้แก่ ชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) และ ชื่อเสียงของนายจ้าง (Employer Reputation) คะแนนทั้ง 2 ด้านนี้จะได้จากการลงคะแนนของผู้ที่ได้รับเชิญจากสถาบันการจัดอันดับซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในแวดวงของกลุ่มสาขาวิชานั้น ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น การได้มาซึ่งคะแนนโหวตนี้จึงต้องมีการวางยุทธ์ศาสตร์ที่เหมาะสมและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสั่งสมชื่อเสียงและสร้างความรู้จักในแวดวงคนดนตรี

ด้วยเกณฑ์การให้คะแนนดังกล่าว จึงต้องมุ่งสร้างโอกาสในการเปิดตัวสู่เวทีระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความเป็นนานาชาติ (Internationalization) และสร้างเครือข่าย (Networking) ให้เป็นที่รู้จักและเห็นถึงศักยภาพความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านบุคลากร อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักศึกษาในทุกระดับชั้น ผ่านการทำงานแบบบูรณาการ การเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ การสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ตลอดจนการแสดงความสามารถ

ผู้เรียนในปัจจุบัน มองหาความหลากหลายขององค์ความรู้เพื่อพัฒนาทักษะในระยะสั้น หรือเจาะจงเพียงบางสาขาวิชา รวมถึงไม่ได้มองว่าการรับปริญญาเป็นเรื่องสำคัญอีกต่อไป การพัฒนาและปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น และหลากหลาย (Flexible and Differentiation) จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะในรูปแบบของการเรียนแบบ Certificate หรือ Diploma การปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องมีทั้งแบบ On-site และ Online เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้ทุกที่ รวมถึงหลักสูตรที่มีการบูรณาการร่วมกันทั้งด้านองค์ความรู้ อาจารย์ผู้สอน และผู้เชี่ยวชาญ ตัวอย่างเช่น การบูรณาการความรู้ของอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากทางยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทำหลักสูตร Music Therapy โดยมุ่งหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาศาสตร์นี้ในอนาคต ด้วยความเหมาะสมของสถานที่ตั้ง การเดินทางที่สะดวกสบาย ค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่ไม่สูง

การสร้าง Partnership ในระดับนานาชาติ ผ่านการเข้าร่วมเครือข่ายต่าง ๆ ในด้านกลุ่มสาขาวิชาของตนเอง เพื่อเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยของเราเป็นที่รู้จักในแวดวงการศึกษา ตัวอย่างของการสร้าง Partnership ในระดับนานาชาติ ได้แก่ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IBG (International Benchmarking Group) และ PAM (Pacific Alliance Music School) ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำให้มหาวิทยาลัยมีคู่เทียบ และเกิดการพัฒนาในส่วนที่เรายังขาด รวมถึงการเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติ AEC (Association European Conservatory) การทำ Joint Project รวมกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร และนักศึกษาระหว่างกัน การเข้าร่วมเหล่านี้ ทำให้องค์กรของเราเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

การสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Business Opportunity) ร่วมกันกับ Partner แบบ Win-Win Situation ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ นำมาใช้เพื่อสร้างเครือข่ายและเพิ่มช่องทางให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักให้มากขึ้น โดยล่าสุด The Juilliard School โรงเรียนดนตรีอันดับ 1 ของโลก จะเดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินการของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ในช่วงปี พ.ศ. 2566 และจะมีความร่วมมือกันจัด Audition สำหรับผู้เรียนในภูมิภาคนี้โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงอเมริกา และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของมหาวิทยาลัยไทย และอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งของผู้เรียนที่สนใจด้านดนตรี

นอกเหนือจากการสร้างเครือข่ายแล้ว การแสดงความสามารถผ่านบุคลากรและนักศึกษาก็เป็นส่วนที่ทำให้มหาวิทยาลัยและประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นเช่นกัน หากมหาวิทยาลัยมีความพร้อม และมีโอกาสในการแสดงความสามารถผ่านเวทีระดับโลก สำหรับปลายปีนี้ วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra: TPO) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแสดงที่ Ljubljana Festival ที่สโลวีเนีย ร่วมกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียง อาทิ ริคคาร์โด มูติ (Riccardo Muti) Music Director ของ Chicago Symphony, แดเนียล บาเรนโบอิม Daniel Barenboim, นักเปียโนระดับแนวหน้า Lang Lang จากประเทศจีน (World Class), Royal Philharmonic Orchestra และ Vienna Philharmonic Orchestra ซึ่งผู้เล่นหลายท่านก็จบการศึกษาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับ แต่ละก้าวของมหาวิทยาลัยในการจัดอันดับระดับโลก ทุกมหาวิทยาลัยยังคงต้องทำงานอย่างหนัก และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงการสร้างคุณประโยชน์กลับคืนให้แก่ประเทศชาติ ดนตรีและศิลปะถือเป็น 1 ในหลากหลายศาสตร์ของ Soft Power (ซอฟต์พาวเวอร์) ที่ประเทศกำลังตื่นตัวให้ความสนใจ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และมหาวิทยาลัยมหิดลมีความยินดีและมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันพลัง Soft Power ของไทยผ่านการสื่อสารแลกเปลี่ยนอย่างมีเสน่ห์ มีภาพลักษณ์ ก่อให้เกิดอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความนิยมชมชอบ มุมมองและแนวคิดของผู้คนให้มีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ของประเทศไทย อาทิ อาหารไทย ศาสตร์การนวดแผนไทย ศิลปะแม่ไม้มวยไทย รวมถึงละคร/ ภาพยนตร์ไทย เป็นต้น (4)

อ้างอิง

1. การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสำคัญอย่างไร https://insight.in.th/university-rankings-how-important-are-they/

2. การจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติและกลยุทธ์การปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทย Global University Rankings and Implications for Thai Universities: พิมพ์แพร ศรีสวัสดิ์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ตีพิมพ์ Journal of Business, Economics and Communications Volume 15, Issue 3 (September - December 2020)

3. อว. เดินหน้าผลักดันโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University)4. ซอฟต์พาวเวอร์ คืออะไร | ชำนาญ จันทร์เรือง https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/968174  

************************** 

รวบรวมข้อมูล : งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล