posttoday

ควรช่วยกันไม่ให้สงครามยูเครนยืดเยื้อ

11 มีนาคม 2565

โดย...โคทม อารียา

**************

สงครามยูเครนยืดเยื้อมากว่าสิบวันแล้ว สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้ข้อมูลเมื่อสองวันที่แล้วว่า ผู้ลี้ภัยจากสงครามยูเครนไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีประมาณ 1.37 ล้านคน ส่วนใหญ่อพยพไปทางตะวันตก โดยเฉพาะที่โปแลนด์ รองลงไปคือ ฮังการี สโลวาเกีย มอลโดวา และโรมาเนีย ตามลำดับ ส่วนที่อพยพไปทางตะวันออกคือรัสเซีย มีจำนวนไม่มากนัก ประมาณเท่า ๆ กันกับผู้ลี้ภัยในโรมาเนีย

UNHCR รายงานว่า จนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2565 เวลา 24.00 น. มีพลเรือนเสียชีวิต 364 ราย บาดเจ็บ 759 คน จำนวนทหารที่เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายยังไม่ชัดเจน กองทัพยูเครนเพียงแต่รายงานการเสียชีวิตของทหารรัสเซียว่ามีจำนวน 11,000 ราย แต่ไม่เปิดเผยตัวเลขของฝ่ายตน ขณะที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยว่าทหารรัสเซียเสียชีวิต 498 ราย บาดเจ็บ 1,597 คน

ถ้าสงครามยูเครนยืดเยื้อต่อไป การสูญเสียก็จะเพิ่มมากขึ้น ความรุนแรงทางตรงไม่เพียงแต่จะคร่าชีวิตผู้คนเท่านั้น ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ตึกรามบ้านช่อง สะพาน ถนนหนทาง สนามบิน โรงไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซ ฯลฯ รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ไม่นับรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตก ที่กระทบต่อค่าครองชีพของชาวรัสเซียจำนวนมาก และความเสียหายทางสังคม จากการพลัดพรากจากครอบครัวของผู้ลี้ภัย จากการคว่ำบาตรทางการกีฬา ดนตรี ศิลปะวัฒนธรรม ฯลฯ

ความเสียหายทางเศรษฐกิจ อาจช่วยกันฟื้นฟูได้ในภายหลัง ความเสียหายทางสังคมก็อาจฟื้นฟูได้ในบางส่วน แต่มิตรภาพระหว่างชาวยูเครนและชาวรัสเซียต้องสูญเสียไป ทั้ง ๆ ที่เคยใกล้ชิดกันมาก่อน เป็นชาวสลาฟด้วยกัน นับถือศาสนาเดียวกันคือศาสนาคริสต์ออร์ทอดอกซ์ พูดภาษาตระกูลสลาฟเหมือนกัน แม้สำเนียงจะต่างกันแต่พอฟังกันรู้เรื่อง มิตรภาพถูกแทนที่ด้วยความโกรธ ความเกลียด ความไม่เข้าใจกัน และจะเป็นบาดแผลทางใจ (trauma) ที่คงต้องใช้เวลานานนับสิบ ๆ ปี กว่าจะพอเยียวยาได้

สงครามย่อมโหดร้าย และยังผลให้เกิดความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย (lose-lose) จึงควรรีบหยุดยั้งอคติที่นำไปสู่สงคราม ไม่ว่าจะเป็นภยาคติ (กลัวว่าจะขาดความมั่นคง) ฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรักตะวันตกหรือรักภาพจำในอดีต) รวมทั้งโทสาคติที่เห็นชัด และโมหาคติที่ซ่อนอยู่ด้วย ทุกฝ่ายจึงควรร่วมกันเตือนสติมากกว่าการเติมเชื้อไฟความขัดแย้ง เราควรมาไตร่ครองว่าใครได้ใครเสียจากสงคราม หากตัดบรรดาพ่อค้าสงครามออกไป ก็น่าจะพอสรุปร่วมกันได้ว่า ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายเสีย ทั้งสองฝ่ายจะยอมหยุดเพื่อไม่ให้สูญเสียมากไปกว่านี้ไหม ในขณะเดียวกัน แต่ละฝ่ายก็ควรรับฟังความจำเป็นพื้นฐาน (basic needs) ของกันและกันมากขึ้น พร้อมทั้งใช้โยนิโสมนสิการหรือการคิดที่แยบยล ใช้จินตนาการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของแต่ละฝ่ายให้มากที่สุด

พระมหาหรรษาแห่งมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ที่เพิ่งได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ กล่าวในเวทีสันติสนทนาในหัวข้อ “สงครามและสันติภาพ : ถอดบทเรียนกรณีศึกษารัสเซียกับยูเครน” ซึ่งจัดโดย มจร. เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ว่า ขอให้ใช้หลักสัมมัปปธาน หรือปธาน 4 ในการหาทางออกจากสงคราม ผมไม่รู้บาลีจึงต้องพึ่งวิกิพีเดียตามเคย ได้ความว่า “ปธาน” คือความเพียรใหญ่/ความเพียรชอบ ได้แก่

1.สังวรปธาน “เพียรระวัง ยับยั้งบาป อกุศลกรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิด” บาปที่ใหญ่หลวงที่สุดคือการฆ่าคน แม้การฆ่าเพื่อป้องกันตัวเอง ก็ต้องเพียรระวัง เช่น ทำให้ผู้ที่ประสงค์ต่อชีวิตเราได้รับบาดเจ็บแต่ไม่ถึงตาย เพียงแต่ไม่อาจทำร้ายเราจะได้ไหม สงครามคือการฆ่ากันโดยถือความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ ทหารถูกอบรมให้สละชีพ (รวมทั้งฆ่าคน) เพื่อชาติ ดังนั้น อาจจะต้องเพิ่มการอบรมเรื่องสังวรปธานด้วย คือถือความมั่นคงของชีวิตทุกชีวิตให้มาก่อนจะได้ไหม พร้อมทั้งมีหลักปฏิบัติและการฝึกที่ได้ผล เช่น เล็งทำลายความสามารถในการสู้รบ (อาวุธยุธโปกรณ์) ของศัตรู โดยหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธที่มุ่งทำลายชีวิตให้มากที่สุด ถ้าพูดตามภาษาองค์การสหประชาชาติอาจหมายความว่า ที่กำลังทำสงครามกันอยู่นั้น อย่าทำให้กลายเป็นอาชญากรรมสงคราม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) โดยเคร่งครัด รวมถึง

ก.แยกพลรบกับพลเรือน (หลัก distinction)

ข.ปฏิบัติการอย่างได้สัดส่วน (หลัก proportionality) ไม่ใช้อาวุธที่โหดร้ายเกินไป หรือตอบโต้รุนแรงเกินไป)

ค.เตือนภัยก่อนโจมตี (หลัก precaution)

ง.ความจำเป็นทางทหาร (หลัก military necessity)

จ.คำนึงถึงมนุษยชาติ (หลัก humanity)

2.ปหานปธาน “เพียรละบาป อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว” สงครามได้เกิดขึ้น การฆ่าฟันได้เกิดขึ้น และการฆ่าฟันคือบาปข้อแรก คือการละเมิดศีลข้อแรก จึงควรละการกระทำนี้เสีย ถ้าพูดตามภาษาองค์การสหประชาชาติอาจหมายความว่าให้ make peace ตามภาษาผมคือให้ทำสัญญาหยุดยิง (ceasefire) และหยุดการกระทำที่เป็นปรปักษ์ (cessation of hostility) ถามว่าถึงขั้นนี้แล้วอยู่ดี ๆ ให้หยุดยิง จะเป็นไปได้หรือ

ในเรื่องนี้ขอยกตัวอย่างประธานาธิบดีมากร็องของฝรั่งเศส ที่โทรศัพท์คุยกับปูตินของรัสเซีย เพื่อขอให้รัสเซียหยุดยิงชั่วคราวสักสองสามวัน เพื่อให้เวลาแก่พลเรือนที่ต้องการหนีออกจากเมืองที่ถูกปิดล้อม สามารถทำได้อย่างปลอดภัย และเพื่อให้สามารถลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเมืองดังกล่าว รัสเซียก็ทำตามคำขอ เพียงแต่ยังมีความขลุกขลักบ้างในการประสานงานกับพื้นที่ ทำให้การหยุดยิงชั่วคราวยังขาดประสิทธิผลเท่าที่ควร

3.ภาวนาปธาน “เพียรทำกุศลกรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมี” การหยุดยิงชั่วคราวคงยังไม่พอ ควรหยุดยิงไปเลยถ้าทำได้ แต่ถ้าจะให้ทำได้ก็ควรมีการเจรจาทำสัญญาหยุดยิง พร้อมทั้งเจรจาหาทางตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของทั้งสองฝ่าย เมื่อต้นเดือนนี้เอง ผมเขียนบทความและคาดเดาความจำเป็นพื้นฐานของแต่ละฝ่ายดังนี้

สำหรับฝ่ายรัสเซีย ปูตินเคยแถลงผ่านสื่อเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน และเพิ่งยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ (ผ่านสื่อ) เมื่อวานนี้ว่า รัสเซียพร้อมสงบศึก หาก

ก.นานาประเทศยอมรับว่าแคว้นไครเมียที่รัสเซียเข้ายึดครองเมื่อปี ค.ศ. 2014 นั้น เป็นดินแดนของรัสเซีย (อ้างว่าเป็นเช่นนั้นในทางประวัติศาสตร์และทางชาติพันธุ์ของประชากรส่วนใหญ่ อีกทั้งชาวไครเมียได้ลงประชามติเห็นชอบกับการไปอยู่กับรัสเซียด้วย)

ข. ยูเครนให้คำมั่นที่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่าจะไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ เพื่อลดความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะมาติดตั้งอาวุธสงครามร้ายแรงประชิดชายแดนจนยากแก่การป้องกัน อีกทั้งถ้าเกิดความขัดแย้งรุนแรง เช่น เกิดการสู้รบในภาคตะวันออกของยูเครน นาโต้อาจยกสนธิสัญญาฯมาอ้างว่าเกิดการ “รุกราน” ประเทศสมาชิก จึงถือเป็นการรุกรานประเทศนาโต้โดยรวม และนาโต้สงวนสิทธิ์การตอบโต้ด้วยความรุนแรงได้

ค.ให้การรับรองเอกราชของแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่อยู่ทางตะวันออกติดกับรัสเซีย ซึ่งรัสเซียได้ประกาศรับรองไปแล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เพราะดินแดนนี้มีประชากรเชื้อสายรัสเซียอยู่หนาแน่น และประสบกับความยากลำบากจากการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธกับทหารยูเครนที่ยืดเยื้อมา 8 ปีแล้ว (กองกำลังดังกล่าวควบคุมพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของทั้งสองแคว้น แต่การรับรองเอกราชของรัสเซียครอบคลุมพื้นที่สองในสามที่เหลือด้วย)

แน่นอนว่าความจำเป็นพื้นฐานของยูเครนเป็นในทางตรงกันข้าม คือยึดถือบูรณภาพของดินแดน ไม่ยอมรับการแยกแคว้นไครเมีย โดเนตสก์ และลูฮันสก์ ไม่ว่าจะไปผนวกกับรัสเซียหรือเป็นเอกราช ถือว่าแต่ละประเทศมีอำนาจอธิปไตยที่จะเข้าร่วมในสนธิสัญญาใดหรือไม่ก็ได้ และถ้าจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ก็เพื่อความมั่นคงของตนเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อรุกรานใคร ประธานาธิบดีแซแลนสกียของยูเครน ถือโอกาสที่ประเทศของสหภาพยุโรปแสดงความเห็นอกเห็นใจยูเครน เพื่อลงนามในคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

ขณะนี้ความจำเป็นพื้นฐานของทั้งสองประเทศนั้นต่างกันมาก ดูเหมือนว่าฝ่ายหนึ่งจะเน้นข้อเท็จจริงในพื้นที่พร้อมทั้งเน้นในด้านความรู้สึก ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเน้นในเรื่องหลักการและสิทธิ ดังนั้น การที่จะเกิดกุศลกรรมคือข้อตกลงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ จึงต้องการความเพียรใหญ่/ความเพียรชอบ ในเรื่องนี้ อาจต้องการประเทศที่เป็นมิตรกับทั้งสองฝ่ายมาทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยอำนวยสะดวก

ก่อนหน้านี้ ผมเคยคิดถึงสวิสเซอร์แลนด์ที่มีความเป็นกลางระหว่างประเทศมาโดยตลอด แต่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 รัสเซียประกาศรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรหลายสิบประเทศรวมทั้งสวิสเซอร์แลนด์ด้วย เพราะได้เข้าร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ไม่รวมอีกหลายประเทศรวมทั้งไทยที่จัดอยู่ใน 141 ประเทศที่เห็นชอบกับญัตติสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติที่ประณามการรุกรานยูเครนว่าขัดกับกฎบัตรสหประชาชาติ รัสเซียคงเข้าใจว่า การเห็นชอบกับญัตติดังกล่าวเป็นในเรื่องหลักการ ไม่ใช่การแสดงความไม่เป็นมิตร จึงไม่เหมือนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

เมื่อตัดสวิสเซอร์แลนด์ออกไป ประเทศที่น่าจะเหมาะแก่การทำหน้าที่คนกลางอำนวยความสะดวกในการเจรจาสันติภาพได้แก่ตุรกี แม้จะเป็นประเทศหนึ่งที่เห็นชอบกับญัตติดังกล่าว มีพรมแดนติดกับรัสเซีย (ผ่านทะเลดำ) มิหนำซ้ำยังเป็นสมาชิกสนธิสัญญานาโต้ด้วย การที่รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนและรัสเซียมาปรึกษาหารือในวันที่ 10 มีนาคม ที่เมืองตากอากาศอันทาเลียทางตอนใต้ของตุรกีนั้น นับเป็นนิมิตหมายอันดีของความเพียรในการ make peace นั่นเอง

4.อนุรักขนาปธาน “เพียรรักษากุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งขึ้น” หากการเจรจาสันติภาพประสบผลเป็นทางออกแบบชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่ละฝ่ายได้รับหลักประกันความมั่นคงของชาติและความมั่นคงในชีวิตของฝ่ายตน พร้อมทั้งให้หลักประกันแก่อีกฝ่ายด้วย ก็จะเป็นกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่ที่จะต้องทำให้ตั้งมั่น ถ้าพูดตามภาษาองค์การสหประชาชาติอาจหมายความว่าให้ keep peace นั่นเอง แต่เท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องทำให้กุศลกรรมนั้นเจริญยิ่งขึ้นด้วย ถ้าพูดตามภาษาองค์การสหประชาชาติอาจหมายความว่าให้ build peace ถ้าพูดตามภาษาผมหมายถึงการสร้างสันติภาพเชิงบวก รวมถึงความยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน การเยียวยา การขอโทษและการให้อภัย ซึ่งจะนำไปสู่การคืนดีในที่สุด

หนทางสู่สันติอาจยาวไกลแต่ต้องเริ่ม ณ บัดนี้ คือเริ่มที่สังวรปธาน คือยับยั้งบาปจากการฆ่าฟันให้เหลือน้อยที่สุดนั่นเอง

คำถามต่อไปมีอยู่ว่า ในฐานะปัจเจกบุคคลเราสามารถทำอะไรได้บ้างไหม

ประการแรก เราอาจบริจาคเงินให้ UNHCR เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เรือนล้านคนที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ในยุโรปตะวันออกในขณะนี้

ประการที่สอง เราอาจใช้การแผ่เมตตา หรือการทำตามคำสอน “ทองเลน” ของพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ในภาษาทิเบต tong แปลว่าการส่ง และ len แปลว่าการรับ เราทำการรับและการส่งพร้อมกับการหายใจ หายใจเข้า-รับความทุกข์ของชาวยูเครนและชาวรัสเซียที่เกิดแต่สงครามเข้ามาในการตระหนักรู้ของเรา หายใจออก-ส่งความเห็นอกเห็นใจ ความกรุณา ความปรารถนาดีออกไปให้แก่ผู้ที่ทนทุกข์ทรมานทั้งหลาย หายใจเข้ารับทุกข์ หายใจออกส่งสุข โดยไม่ใช้ความคิด ไม่ตัดสิน นี่คือวิธีการที่ชาวทิเบตเรียกว่า “การแลกเปลี่ยนตัวตนของเรากับผู้อื่น”

ยูเนสโกมีข้อความฝากถึงเราว่า “ในเมื่อสงครามเริ่มในใจของมนุษย์ ในใจของเรานั่นแหละที่จะต้องสร้างการพิทักษ์สันติภาพ” แน่นอนว่าการส่งจิตส่งใจโดยอาศัยการปฏิบัติทองเลน ไม่ส่งผลโดยตรงต่อสันติภาพในยูเครน แต่เป็นวิธีการที่ทรงพลังในการสร้างสันติภาพในใจเรา