posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (42)

23 พฤศจิกายน 2564

โดย...นพ.วิชัย โชควิวัฒน

*****************

ต่อมาเมื่อเรื่อง “แดง” ออกมาว่าเพาเวลล์ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เขายอมรับว่าสุนทรพจน์ของเขาครั้งนั้น มีเวลาเตรียมแค่ 4 วัน รายงานการสอบสวนของวุฒิสภาในเวลาต่อมา พบว่านักวิเคราะห์จากกระทรวงการต่างประเทศพบข้อมูลผิดๆ จำนวนมากในร่างคำปราศรัยของเพาเวลล์ บางส่วนถูกตัดออกไป แต่จำนวนมากยังคงอยู่ เพาเวลล์ทบทวนเรื่องโจ๊กที่รองประธานาธิบดีดิค เชนีย์ ล้อเขาว่า “คุณได้คะแนนนิยมสูงมาก เสียแต้มไปบ้างไม่เป็นไรหรอก”

นี่คือ “วิถี” การเมืองแบบอเมริกัน ที่ในภาวะ “หน้าสิ่วหน้าขวาน” และ “มัวเมาในอำนาจ” ก็กล้า “โกหกคำโต” แต่เมื่อถูกจับโกหกได้ก็กล้ายอมรับผิด ซึ่งมีผลเพียง “เสียแต้ม” หรือคะแนนนิยมไปบ้างเท่านั้น ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์มากไปกว่านั้น ทั้งๆ ที่ความผิดพลาดดังกล่าวทำให้ผู้คนต้องล้มตายไปมากมาย โดยมีผลกระทบยืดเยื้อเรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน รวมทั้งมีการทำลายงานศิลปะและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของอาณาบริเวณ “เมโสโปเตเมีย” ที่เป็น “แหล่งอารยธรรมแห่งแรกของมนุษยชาติ” ไปมากมาย

ในการให้สัมภาษณ์บาร์บารา วอลเตอร์ เมื่อเดือนกันยายน 2548 เพาเวลล์ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวเป็นรอยด่างในชีวิตของเขา “มันเป็นส่วนหนึ่งในประวัติชีวิตของผม มันเจ็บปวด ตอนนี้มันเจ็บปวด” พันเอกลอว์เรนซ์ วิลเคอร์สัน นายทหารคนสนิทของเพาเวลส์ในช่วง พ.ศ. 2532-2546 ยอมรับว่าเขาเลินเล่อในการเตรียมคำให้การที่ผิดพลาดให้แก่เพาเวลล์

ระบบการเมืองอเมริกัน กำหนดค่านิยม เรื่อง “การยอมรับผิด” อย่างน่าชื่นชม ทำให้นายทหารคนสนิทออกมายอมรับความบกพร่องผิดพลาดอย่าง “ลูกผู้ชาย” ซึ่งควรแก่การยกย่อง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นที่จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่ยอมรับในความโหดร้ายทารุณกรณีสังหารหมู่ที่หนานจิง

หลังซัดดัมถูกโค่น เพาเวลล์มีบทบาทในการฟื้นฟูบูรณะอิรักในฐานะผู้นำของนานาชาติ เขาให้การต่อ คณะกรรมาธิการของวุฒิสภายอมรับว่าสิ่งที่นำเสนอต่อสหประชาชาติ “ผิด” และยากที่จะพบอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงในอิรัก เขายอมรับว่าละเลยต่อคำทักท้วงของเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง และเสนอให้ปฏิรูประบบข่าวกรอง

เมื่อถูกถามถึงบทบาทด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในอดีต เช่น การสนับสนุนรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีอัลเยนเด ในชิลี เมื่อ พ.ศ. 2516 เขาตอบว่า “ผมไม่สามารถตัดสิน หรืออธิบายเหตุผลในการตัดสินใจในเวลานั้น มันคนละเวลากัน เวลานั้นมีข้อกังวลมากมายเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ที่คุกคามต่อประชาธิปไตย ในส่วนนี้ของโลก มันเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ” แต่เขายอมรับว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของอเมริกัน “ที่พวกเราภาคภูมิใจ”

ช่วงปลายสมัยบุชผู้ลูก เพาเวลล์ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเพาเวลล์ไม่มีทางเลือก ทันทีที่เขาประกาศลาออก บุชแต่งตั้งคอนโดลีซา ไร้ศ์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงเข้าดำรงตำแหน่งแทน ไร้ศ์เป็นสตรีผิวดำเช่นเดียวกับเพาเวลล์ เพาเวลล์ประกาศลาออก เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2547 ต่อมาในวันที่ 31 ธันวาคม เขาร่วมเป็นประธานในพิธีนับถอยหลังเข้าสู่วันปีใหม่ที่ ไทม์สแควร์ร่วมกับไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ค ในฐานะชาวนิวยอร์ค พิธีการดังกล่าวถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

นับเป็นความงดงามของระบบการเมืองสหรัฐ ที่ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้มีคุณงานความดีอย่างเพาเวลล์ได้มีบทบาท สหรัฐในสายตาของชาวโลก เป็น “มหาอาณาจักร” เดี่ยว แต่แท้จริงแล้ว เป็นมหาอาณาจักรที่เกิดจากการรวมตัวของ “รัฐ” หรือ “ประเทศ” 50 ประเทศ และยังมีมหานครขนาดใหญ่ที่มีความเป็นอิสระอยู่ระดับหนึ่ง การไปปรากฏตัวที่ไทม์สแควร์ในงาน “เคานท์ดาวน์” ในฐานะชาวนครแห่งนั้น จึงเป็นการให้เกียรติอย่างสูง แก่พลเมืองคนสำคัญของตน

หลังพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลบุช เพาเวลล์ยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบุชเป็นระยะ เมื่อเกิดมหาวาตภัยจากพายุเฮอริเคนคาทรินา ในเดือนกันยายน 2548 เพาเวลล์วิจารณ์ว่าประชาชนนับพันมิได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมเพราะพวกเขาเป็นคนยากจน มากกว่าเพราะเป็นคนผิวดำ

ในเดือนกันยายน 2548 เพาเวลล์ร่วมกับผู้นำรีพับลิกันสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิให้ผู้ต้องขังเพิ่มขึ้น และคัดค้านร่างกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของบุช เขาสนันสนุนวุฒิสมาชิกจอห์น วอร์เนอร์, จอห์น แมคเคน และ ลินด์เซย์ เกรแฮม ที่บอกว่าในอนาคตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองและกลาโหมสหรัฐจะเดือดร้อนจากการดำเนินการที่ผิดพลาด ที่กระทำในนามของการต่อต้านการก่อการร้าย เพาเวลล์ระบุว่า “โลกเริ่มสงสัยในหลักศีลธรรมที่พวกเราใช้อ้างเพื่อต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย”

เพาเวลล์รับเป็นปาฐกหลายงาน วิพากษ์รัฐบาลบุชอย่างเปิดเผยหลายเรื่อง และเข้าร่วมในหลายองค์กร จนเมื่อบารัค โอบามาชนะเลือกตั้ง มีการคาดการณ์ว่าเพาเวลล์จะได้รับตำแหน่งในรัฐบาลของโอบามา แต่ไม่มีการเสนอชื่อใดๆ

เพาเวลล์เป็นรีพับลิกันสายกลางตั้งแต่ปี 2538 จนถึง ปี 2564 เขาประกาศตัวเป็นอิสระหลังกรณีการโจมตีรัฐสภาโดยพวกรีพับลิกันหัวรุนแรง ซึ่งเพาเวลล์ออกมาประณามทรัมป์อย่างชัดเจนที่ยุยงฝูงชนให้กระทำการเช่นนั้น ก่อนหน้านั้น เขาได้ประกาศจะลงคะแนนเลือกโจ ไบเดน โดยเป็นหนึ่งในผู้กล่าวปราศรัยสนับสนุนไบเดน ในที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติอย่างเป็นทางการเลือกไบเดนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563

พลเอกคอลิน เพาเวลล์ ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย โดยได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดของพลเรือนถึง 2 ครั้ง คือ เหรียญเสรีภาพของประธานาธิบดี จากประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ เมื่อ พ.ศ. 2534 และอีกครั้งจากประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อ พ.ศ. 2536 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์กิตติมศักดิ์ชั้นอัศวิน จากสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2536 ชื่อของเขาได้รับเกียรติตั้งเป็นชื่อของสถาบันการศึกษาและสถาบันต่างๆ มากมาย

เขาเกือบได้รับเลือกเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ตัดสินใจไม่เข้าแข่งเพราะความห่วงกังวลของภริยาเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของเขา

***********************