posttoday

คารวะ ศ.ดร.อรุณ ภานุพงษ์

04 พฤศจิกายน 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

************

ข้อเขียนในสัปดาห์นี้ ขอโอกาสท่านผู้อ่านและโพสต์ เขียนถึง ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่ง ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์มากมายให้กับประเทศชาติตลอดชีวิตของท่าน จนกระทั่งท่านได้ลาจากไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ด้วยโรคภัยไข้เจ็บหลังจากรักษาตัวที่โรงพยาบาลร่วมหนึ่งปี

ด้านการศึกษา ท่านจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขณะนั้น ต่อมา ได้รับทุนไปเรียนต่อจนได้ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นอาจารย์สอนปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับมอบศาสตราจารย์พิเศษ นอกจากนั้น ท่านยังเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 จนกระทั่งเสียชีวิต

ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศส ท่านได้ป่วยเป็นวัณโรค ถึงขั้นที่แพทย์ฝรั่งเศสต้องตัดปอดทิ้งไปข้างหนึ่ง และตัดซี่โครงด้านขวาออกหลายซี่ หลายคนคิดว่าท่านไม่รอดแน่ แต่ท่านก็รอดมาและอยู่ได้อีกจนอายุเกือบจะครบร้อยปี หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมคอท่านจึงเอียงไปทางขวา เวลาท่านเดิน ทำไมท่านต้องเอามือขวาล้วงกระเป๋ากางเกงตลอดเวลา ก็เพราะท่านต้องใช้มือคอยยันไหล่ขวาไม่ให้เอียงลงมามาก ท่านอยู่มาได้อีกเกือบ 70 ปี ด้วยปอดข้างเดียว

นอกจากเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงจาการ์ตาแล้ว ท่านเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงมอสโคว์ กรุงวอชิงตัน และกรุงปารีส เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นรัฐมนตรีว่าการ ) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล อ.เปรม ติณสูลานนท์ สิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้กันนัก คือ ท่านเป็นผู้แทนไทยประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก ก่อนที่จะเสนอให้คุณนรชิต สิงหเสนีย์ อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเป็นกรรมการกฤษฎีกาในคณะที่ 6 รับช่วงแทน

ประวัติของท่านเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาค้นคว้ามากซึ่งไม่เคยมีการบันทึกไว้ที่ไหนมาก่อน ผู้เขียนได้เอามาปะติดปะต่อกันจนเป็นภาพใหญ่ ไม่มีการเสริมแต่งหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมแต่อย่างใด แม้ว่าในบางช่วงเวลา ผู้เขียนอาจจำไม่ได้ทั้งหมด

เมื่อจบมัธยมศึกษา พ่อได้บอกว่า ความรู้อยู่ที่กรุงเทพฯ อยากได้ความรู้เพิ่มเติมให้ไปหาเอาที่กรุงเทพ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพ ลงจากรถไฟที่หัวลำโพง ก็เดินเรื่อยมาอย่างไม่มีจุดหมาย ไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในกรุง เดินไปเรื่อย ๆ หิวก็หิว เงินก็มีจำกัด เดินจนค่ำก็มาถึงวัดแห่งหนึ่งซึ่งทราบภายหลังคือวัดสามปลื้ม พระท่านเห็นเด็กบ้านนอกตัวดำผมหยิกเดินหน้าเหี่ยวมา ก็ถามว่า จะไปไหน จึงตอบท่านว่าไม่รู้จะไปไนเหมือนกัน เพราะมากรุงเทพเป็นครั้งแรก หิวไหม ตอบว่าหิวมาก ท่านก็ให้ญาติโยมหาข้าวให้กิน แล้วเมตตาให้พักที่วัด จึงกลายเป็นเด็กวัดตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเริ่มเป็นลูกศิษย์วัดสามปลื้ม ท่านเรียนต่อที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดสามปลื้ม หนึ่งในวิชาที่ท่านสนใจเป็นพิเศษจนท่านสามารถนำไปใช้ทำมาหากินในเวลาต่อมาได้ คือ วิชาชวเลข ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีการเรียนการสอนในเมืองไทย

จบจากโรงเรียนบพิตรพิมุข ท่านจึงไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านเล่าว่า พอพักเที่ยง ท่านหมกตัวอยู่ในห้องสมุดทั้งชั่วโมง นั่งอ่านพจนานุกรมภาษาอังกฤษ – ไทย จนท่องศัพท์คำแปลอังกฤษ – ไทย ได้ทั้งเล่ม โดยไม่ยอมกินข้าวกลางวัน จนมีเสียงร่ำ ลือกันทั่วไปว่านักศึกษาตัวดำหัวหยิกคนนี้ขยันมาก ไม่ยอมกินข้าวกลางวัน นั่งท่องจำศัพท์อังกฤษ – ไทยได้ทั้งเล่ม

ท่านเล่าว่า จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ว่าท่านขยันอะไรหรอก แต่เป็นเพราะไม่มีเงินกินข้าวกลางวัน และไม่รู้จะไปไหน จึงเข้าห้องสมุด ด้วยความสนใจภาษาอังกฤษ จึงไปเปิดอ่านพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของ สอ เศรษฐบุตร ซึ่งกำลังฮิตขณะนั้น ท่องจำไปวันละคำสองคำจนจำได้ทั้งเล่ม เวลาหิวขึ้นมาก็ไปกินน้ำก๊อกแถวนั้น

จบจากธรรมศาสตร์ ท่านทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ ( หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ) รับหน้าที่ในการแปลข่าวต่างประเทศ ท่านฟังข่าวต่างประเทศจากวิทยุคลื่นสั้นตลอดมาตั้งแต่ทำงานกรมโฆษณาการจนก่อนเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนเป็นดิจิตอลแล้ว แต่ท่านก็ยังฟังข่าวต่างประเทศจะวิทยุคลื่นสั้นที่บ้านทุกวัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ความเป็นอดีตนักการทูต ท่านจึงสนใจความเป็นไปในโลกเป็นพิเศษ

จากนั้น ท่านไปสมัครเป็นนักชวเลขประจำสภาผู้แทนราษฎร โดยทำหน้าที่ในการบันทึกการประชุมสภา ( ปัจจุบันก็ยังมีนักชวเลขประจำรัฐสภา แม้ว่าจะมีการบันทึกเสียงด้วยเครื่องมือทันสมัยต่าง ๆ แล้วก็ตาม ) ท่านเล่าว่า ในช่วงเวลานั้น ได้รู้เรื่องการเมืองไทยมากมายเพราะต้องจดชวเลขการอภิปราย การตอบโต้ของนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลับหรือเรื่องเปิดเผย ท่านกรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟังการเมืองและการอภิปรายตอบโต้กันในสภาขณะนั้นให้ฟังเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ปรากฎในแหล่งข่าวอื่น ๆ

มีช่วงเวลาหนึ่ง จำไม่ได้ว่าท่านอยู่ที่กรมโฆษณาการหรือไม่อย่างไร ท่านถูกส่งไปทำงานเป็นสต๊าฟของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นคนนำแฟ้มไปเสนอจอมพลสฤษดิ์ในทุกเช้า เวลานั้น บรรดาข้าราชการทหาร พลเรือน พยายามเอาใจท่านเพื่อให้เรื่องของหน่วยงานตนถูกจัดเข้าแฟ้มเร็วกว่าคนอื่น

เมื่อกระทรวงต่างประเทศเปิดรับสมัคร ท่านสอบได้และเข้าทำงานในกระทรวงต่างประเทศ โพสต์แรกที่ท่านถูกส่งไปประจำคือ สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ ซึ่งเวลานั้นเหตุการณ์ไม่ค่อยปกตินัก ด้วยความยังหนุ่มแน่น ท่านได้ไปหาข่าวและคลุกคลีกับคนเขมรตลอดเวลา คู่หูคนหนึ่งของท่านขณะนั้น คือ ม.ร.ว.ทักษิณาวัตร จักรพันธ์ จากกรมประมวลราชการแผ่นดิน

ท่านเคยถูกส่งไป “ปฏิบัติการพิเศษ” ในลาวอยู่ระยะหนึ่งหลังกองแลปฏิวัติ จำไม่ได้ว่าช่วงนั้นท่านทำงานอยู่ที่ใด ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เคยทำงานอยู่กับกรมข่าวทหารระยะหนึ่ง อาจเป็นช่วงนี้ก็ได้

ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานที่ไทยมีภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์นอกประเทศหลังสงครามอินโดจีน ไทยต้องใช้การทูตนำ นอกจากขอความช่วยเหลือจากจีนแล้ว อีกด้านหนึ่ง ก็ต้องติดต่อมอสโคว์เพราะมีอิทธิพลต่อเวียดนาม ทหารเวียดนาม 8 กองพันที่ประจำอยู่ชายแดนกัมพูชา – ไทย แล้วพร้อมที่จะบุกเข้าไทยทันทีที่ฮานอยได้ไฟเขียวจากมอสโคว์ เราต้องเร่งทำงานด้านการทูตกันอย่างหนักและเร่งด่วน ทั้งจีนซึ่งไม่ถูกกับเวียดนามและโซเวียต ซึ่งสนับสนุนเวียดนาม

ในขณะที่ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีต่างประเทศนำคณะผู้แทนไปเจรจากับจีน ท่านอรุณได้รับมอบหมายให้นำคณะไปเจรจากันสหภาพโซเวียตที่มอสโคว์ ในฐานะที่ท่านเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำมอสโคว์มาก่อน เป็นการแบ่งงานกันทำ โดยมี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายปิยะ จักกะพาก อธิบดีกรมประมวลข่าวกลาง ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่ทำงานสนิทกัน ไปด้วย

ท่านเล่าให้ฟังว่า การประชุมดำเนินไปสองวันหนึ่งคืนเต็ม ๆ โดยฝ่ายโซเวียตไม่ยอมให้ผู้แทนไทยพักผ่อนเลย ผู้แทนไทยทุกคนต้องตาแข็งประชุมทั้งที่ง่วงแสนง่วง จะนั่งหลับก็ไม่ได้เพราะเป็นการเสียมรรยาท ในขณะที่ฝ่ายโซเวียตสับเปลี่ยนผู้แทนทุก 3-4 ชั่วโมง ตัวท่านเองในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทน จะหลับก็ไม่ได้ ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ได้พักเพียงลุกไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น

ตอนที่รัฐบาลย้ายท่านจากมอสโคว์ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน นั้น เป็นเรื่องที่ฮือฮามาก เพราะขณะนั้นสหรัฐและสหภาพโซเวียตเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน เรื่องหนึ่งที่ท่านเล่าให้ฟัง คือ ท่านวิเคราะห์ว่า สหรัฐจะถอนทหารจากเวียดนามแน่ และได้ส่งรายงานนั้นมายังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเตือนนายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้นเตรียมรับมือ ในที่สุด สหรัฐก็ถอนทหารออกจากเวียดนามจริง ๆ

จำได้ว่า ครั้งหนึ่ง หลังการประชุมที่เยอรมันตะวันออกขณะนั้น ท่านได้พาพวกเราสามสี่คนเดินซอกซอนไปดูสถานที่ต่าง ๆ ที่เบอร์ลินตะวันออก ซึ่งระยะนั้นยังไม่เปิดประเทศ ท่านพาเดินเข้าซอยนั้นทะลุซอยนี้ ซื้อของฝากกันสนุกไปเลย แล้วท่านก็จะแนะนำให้ว่าอันนั้นดี อันนี้ไม่ดี ฯลฯ ท่านเป็นนักการทูต “ติดดิน” จริง ๆ แต่ถ้าพูดถึงกฎกติกามรรยาททางการทูตแล้ว ท่านเป็นผู้รอบรู้และอธิบายได้เป็นฉาก ๆ

กล่าวได้ว่า ท่านอรุณ เป็นผู้ “รอบรู้” และ “เชี่ยวชาญ” ไม่เพียงแต่กิจการด้านการเมืองระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ ฯลฯ แล้ว ท่านได้ให้ความรู้แก่ผู้เขียนในหลากหลายเรื่องและหลากหลายมิติ โดยเฉพาะท่านสามารถสรุปประเด็นของปัญหาของชาติบ้านเมือง ชี้แนะแนวทางในการแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ พบกับท่านทีไร เราได้ความรู้ใหม่ๆ มากมาย ติดขัดอะไรก็ไปถามท่าน ท่านจะให้คำตอบ คำชี้แนะที่เป็นประโยชน์ยิ่ง ในการพบกับท่านทุกครั้ง ผู้เขียนจะต้องเตรียมสมุดไว้จดประเด็นที่ท่านเล่าให้ฟังเพื่อไม่ให้ตกหล่น พอกลับมาถึงบ้านก็พิมพ์บันทึกเก็บไว้ทันที บ่อยครั้ง ที่นำมาเขียนเป็นบทความเสนอต่อท่านผู้อ่านพบท่านทีไร มีแต่ได้ความรู้ความคิดใหม่ๆ ติดตัวกลับมาทุกครั้ง

ท่านมีชีวิตอยู่อย่างสมถะ อยู่บ้านเล็ก ๆ แต่อบอุ่น สิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว นอกจากวิทยุคลื่นสั้นที่ใช้ฟังแล้ว อีกอย่างก็คือ แผนลูกโลกที่หมุนได้ หากว่างเมื่อไร ท่านจะเอามาหมุนดูซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจำได้หมดว่า ประเทศไหนอยู่ตรงไหน ประเทศนั้นมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร จุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลกอยู่ตรงไหน ฯลฯ

โดยทั่วไป ท่านเป็นคนรักษาสุขภาพดีมาก กินพอดี ส่วนใหญ่จะชอบอาหารประเภทปลา ออกกำลังด้วยการแกว่งแขน การเดิน สุขภาพโดยทั่วไปแข็งแรง แม้อายุจะมาก แต่ยังกระฉับกระเฉงแม้กระทั่งก่อนท่านเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย เสียใจที่ไปเยี่ยมท่านไม่ได้เพราะโรงพยาบาลห้ามเยี่ยมเนื่องจากโควิด คิดว่าพอโควิดทุเลาและหมอให้เยี่ยมได้ พวกเราสี่ห้าคนจะพากันไปเยี่ยมท่าน แต่ก็ไม่ทัน

ยังจำได้ถึงรูปของท่านในงานที่จ้องมองมายังคนดู เป็นรูปที่หล่อที่สุดรูปหนึ่ง ที่มีความเป็น “เอกลักษณ์” ของท่านอรุณ ภานุพงษ์ อย่างเต็มตัว พวกเราจะระลึกถึงท่านตลอดไป (จบ )

***************