posttoday

พระเกี้ยว...เกี่่ยวอะไร

28 ตุลาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*************

ในช่วงสัปดาห์ผ่านมา ข่าวที่ดังมากสำหรับนิสิตเก่าและนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงหนีไม่พ้นข่าวที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ ( อบจ.) ออกแถลงการณ์โดยอ้างว่าเป็นมติเอกฉันท์ ให้ยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี จุฬา – ธรรมศาสตร์

ผู้เขียนไม่รู้สึกแปลกใจอะไรกับแถลงการณ์ดังกล่าว เพราะสิ่งใดที่ทำแล้วจะกระทบสถาบันกษัตริย์ได้ นายกองค์การนิสิตคนนี้จะหาเรื่องทำได้ทั้งนั้น และนี่คือคงไม่ใช่กรณีสุดท้าย ต่อไปก็คงมีอีกเรื่อย ๆ

หากใครเคยดูขบวนแห่ของฟุตบอลประเพณีในปีที่ผ่าน ๆ มา นอกจากริ้วขบวนที่สวยงามของทั้งสองมหาวิทยาลัยแล้ว ขบวนของจุฬาฯ จะมีการอัญเชิญ “พระเกี้ยว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาฯ โดยมีนิสิตหญิง 1-2 คนนั่งประคองพระเกี้ยวบนเสลี่ยงที่แบกโดยนิสิตชาย ในขณะที่ธรรมศาสตร์มีขบวนนักศึกษาอัญเชิญธรรมจักรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

ทุกปีที่ผ่านมา ไม่มีใครเดือดร้อนกับขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เพิ่งจะมาปีนี้ ที่นายก อบจ.คนปัจจุบัน เกิดแสลงหูแสลงตาขึ้นมาอย่างใดไม่ทราบ เรียกร้องไม่ให้มีการอัญเชิญพระเกี้ยวในงานดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นมติเอกฉันท์ 19 ต่อ 0 ( หากอยากรู้ว่า 19 คนนี้เป็นใครบ้าง ก็ไปค้นหาเอาเอง )

ถ้าจุฬาใช้สิ่งอื่นเป็นสัญลักษณ์ นายก อบจ. คนนี้ คงไม่เดือดร้อนอะไร แต่นี่คือ “พระเกี้ยว” ซึ่งอยู่บนยอดมงกุฎของพระมหากษัตริย์ ประเด็นมันอยู่ตรงที่นายคนนี้ต้องการให้ “กระทบ” กับสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง ทั้งประเด็นและจังหวะเวลาที่สอดประสานกับวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม

ยังดีที่ อบจ.ชุดนี้ไม่ได้เรียกร้องให้นิสิตที่เป็นตัวแทนนำพวงมาลาไปถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ในหลวงรัชกาลที่ 5 เลิกพิธีไหว้และหมอบกราบ (อาจเป็นเพราะในงานนั้น มีนักศึกษาและนักเรียนจากสถาบันอื่น ได้ใช้วิธีเดียวกันนี้ด้วย )

เหตุผลที่คนผู้นี้นำมาอ้างให้ยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี เป็นไปตาม “สูตรสำเร็จรูป “ ที่ใช้กันบ่อย ๆ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเอามาเผยแพร่ซ้ำอีก เพราะสื่อต่าง ๆ ได้พูดและเขียนมามากแล้ว อีกทั้งนิสิตเก่าจุฬาและคอลัมนิสต์หลายคนได้ชี้แจงแสดงเหตุผลตอบโต้ข้อกล่าวหาทั้งหมดได้โดยสิ้นเชิง “พระเกี้ยว” ไม่ได้เป็นอะไรอ่ย่างที่พวกนี้กล่าวหา ตรงกันข้าม “พระเกี้ยว” เป็นสัญลักษณ์แห่งความเสมอภาคและเสรีภาพของคนไทยด้วยซ้ำ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องพระมหากษัตริย์ตั้งแต่เริ่มตั้งจนถึงปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นโดยพระมหากษัตริย์ ที่ต้องการสร้างบุคคลากรให้ออกไปทำงานดูแลทุกข์สุขของประชาชน หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า “รับใช้ประชาชน” จนถึงปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้ได้ผลิตบัณทิตนับแสน ๆ คน ออกไปทำงานรับใช้ประชาชนทั้งภาครัฐและเอกชน

ก่อนจะมาถึงวันนี้ หากย้อนหลังไปเมื่อสี่ปีก่อน เมื่อนายคนนี้สอบเข้าจุฬาฯได้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ทำนองที่เข้าใจได้ว่า ทีแรกตนเองก็อยากเข้าธรรมศาสตร์ แต่เห็นว่า มีคนทำงานที่นั่นอยู่แล้ว จึงเปลี่ยนมาเข้าจุฬาแทน นัยหนึ่ง เท่ากับเป็นการแยกกันเคลื่อนไหว แยกกันตี เหมือนกับนักศึกษาฝ่ายซ้ายก่อน 6 ตุลา 19

เป็นที่เข้าใจได้ว่า เป้าหมายหลักคือการยึดกุมองค์กรนิสิตให้ได้ก่อน โดยเฉพาะ อบจ. และสภานิสิต และทุกอย่างเป็นไปตามแผน ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นพฤติกรรมที่ท้าทายสถาบันกษัตริย์มากขึ้นภายในสถาบันการศึกษาแห่งนี้

เริ่มต้นจากการต่อต้านการหมอบไหว้พระบรมรูปสองกษัตริย์ที่หน้าหอประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำมาทุกปีสำหรับนิสิตใหม่ พูดกันว่าน่าจะเป็นฝีมือของคนๆนี้ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ “ผู้อาวุโส” คนหนึ่งที่ “ โหยหาลูกศิษย์” เพราะเวลานี้หานิสิตนักศึกษามาห้อมล้อมแบบก่อนไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกัน นิสิตคนดังกล่าวก็ “โหยหาอาจารย์” ที่นอกจากหาคำชี้แนะแล้ว ยังหวังให้ผู้อาวุโสคนนั้นติดต่อกับต่างชาติมาช่วยปกป้องได้

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีนิสิตบางคนพยายามดึงธงชาติที่หน้าหอประชุมลงมา เพื่อจะชักธงดำขึ้นแทน ดีแต่ว่าเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้ไปขัดขวางไว้ได้ทัน ไม่เช่นนั้น คงมีภาพถ่ายเผยแพร่กว้างขวางในสื่อโซเชียล

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคำชี้แจงจาก อบจ.และผู้บริหารของจุฬาฯ ว่า ใครเป็นผู้กระทำ และมีการลงโทษผู้กระทำหรือตักเตือน ทำทันฑ์บนอะไรบ้าง เคยเขียนไว้ก่อนนี้แล้วว่า จุฬาฯ มีจุดแข็งอย่างหนึ่งคือ สโมสรนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สนจ.) โดยเฉพาะอดีตนิสิตา ทั้งคุณพี่ คุณป้า คุณน้า คุณยายฯลฯ ทั้งหลาย นายก สนจ.คนปัจจุบันก็เป็นผู้หญิงด้วย นิสิตเก่าเหล่านี้ยัง “แอ็คตีฟ” มาก คอยติดตามความเป็นไปของจุฬาตลอดมา คนกลุ่มนี้จะเป็นแนวหน้าที่ออกมาคัดค้าน หรือต่อต้าน การกระทำใด ๆ ที่ทำให้เกียรติภูมิจุฬาเสียหาย

สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นิสิตเก่าจุฬายังคงเป็นแนวหน้าที่ออกมาประท้วง วิจารณ์การกระทำของ อบจ.ชุดนี้อย่างรุนแรงแต่ไม่หยาบคาย หากเปิดดูสื่อโซเชียล จะพบข้อเขียนของผู้หลักผู้ใหญ่เหล่านี้ในลักษณะพี่สอนน้อง ครูสอนลูกศิษย์ สุภาพสมกับความเป็นผู้ใหญ่ แต่อ่านแล้วเจ็บ โดยเฉพาะข้อเขียนของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ศิษย์เก่าจุฬาฯ คนหนึ่ง

ข้อเขียนของศิษย์เก่าจุฬาทั้งหลาย ใครยังไม่ได้อ่านก็ควรไปหาอ่านดูได้ในสื่อโซเชียล ใครอ่านแล้วก็ช่วยกันแชร์ต่อให้กว้างขวาง ส่วนสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะทำอะไร ก็ควรทำตามที่พูด และแจ้งความคืบหน้าให้ประชากรชาวจุฬา ทราบเป็นระยะ ส่วนเรื่องอะไรในอดีตที่ สนจ.เคยสอบถามไป และสำนักกิจการนิสิตฯ ยังไม่ได้ตอบ ก็ควรจัดการเสียให้เรียบร้อย

กลับมาที่ อบจ.อีกที ลูกหลานบางคนเล่าให้ฟังว่า แกนนำนักศึกษาบางคนที่ต่อต้านสถาบันที่เขาสนิทและเคยคุยด้วย เปิดเผยว่า นักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ต้องการ “ดังเร็ว” ต้องเล่นประเด็นสถาบันกษัตริย์ เพราะจะทำให้ดังเร็วกว่าประเด็นอื่น โดยเฉพาะประเด็นมาตรา 112 ทำให้ดังเร็ว นักกิจกรรมเห่ล่านี้มองว่า ช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมเพราะอยู่ในช่วงรอยต่อของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 นอกจากนั้น การทำกิจกรรมก็ทำได้ง่ายขึ้นผ่านทางสื่อโซเชียลที่สามารถกระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างไกล ไม่มีขอบเขต

นักกิจกรรมเหล่านี้เปิดเผยว่า ต้องพยายามโยงให้เกี่ยวข้องกับคำว่า “ ประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ” เข้าไว้ ทำให้เป็นเชิงวิชาการนิด ๆ เพื่อให้ดูดี และใช้เป็นเหตุผลในการชี้แจงต่อเพื่อนนักศึกษาและมวลชนทั่วไป และสามารถแสวงหาแนวร่วมกับต่างประเทศ หรือ เปิดโอกาสในการลี้ภัยไปประเทศตะวันตกได้

นักกิจกรรมเหล่านี้ยอมรับว่า แม้จะเสี่ยงต่อกฎหมาย แต่ทำแล้วคุ้ม เพราะยิ่งถูกจับยิ่งดัง ส่วนทำแล้วอาจมีเงินทองนับสิบล้านบาทไหลเข้ามาในบัญชีส่วนตัวหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนั้น เมื่อเรียนจบแล้วก็สามารถลงเล่นการเมืองต่อได้เลย

สงสารก็แต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายของคนพวกนี้ โดยเฉพาะปู่ซึ่งอพยพจากเมืองจีนมาพึ่งพระบรมโพธิ์สมภาร ทำมาหากินจนอยู่สุขสบาย แต่หลานมันกลับไม่คิดถึงบุญคุณแผ่นดินที่ให้กำเนิด ปู่ก็ตายไปแล้ว ส่วนพ่อแม่ก็ถูกสาปแช่งว่าเลี้ยงลูกอย่างไรให้อกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ทำไมลูกหลานคนอื่นที่มีบรรพบุรุษอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิ์สมภารเหมือนกัน แต่เขากลับไม่ทำชั่วแบบนี้

สงสารพ่อแม่บางคนที่อุตส่าห์ตั้งชื่อลูกให้เป็นมงคลเพราะลูกเกิดในวันสำคัญของประเทศไทย แต่ลูกกลับคิดร้ายต่อแผ่นดินเกิดซะนี่ หากพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่จะรู้สึกอย่างไร ถ้าพ่อแม่ตายไปแล้ว วิญญาณก็คงอยู่ไม่เป็นสุข (จบ )