posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (37)

22 ตุลาคม 2564

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

***************

ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมปีนี้มีข่าวดีเรื่องสาธารณสุขทยอยออกมาเรื่อยๆ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือการที่องค์การอนามัยโลกประกาศรับรองวัคซีนมาลาเรียชนิดแรกของโลก

มาลาเรียเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วมากมาย และเป็นโรคแรกที่องค์การอนามัยโลกมุ่งมั่นจะขจัดกวาดล้างให้หมดไปจากโลก แต่ทำไม่สำเร็จ ทำให้มาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก โดยเฉพาะในประเทศยากจน

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่องค์การอนามัยโลกไม่ประสบความสำเร็จในการขจัดกวาดล้างมาลาเรียให้หมดไปจากโลกได้ ก็เพราะยังไม่ประสบความสำเร็จในการค้นหาวัคซีนมาเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้นั่นเอง

แตกต่างจากไข้ทรพิษที่มีวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญ ทำให้โรคนี้ถูกขจัดกวาดล้างได้สำเร็จ โดยเป็นเพียงโรคเดียวเท่านั้นในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ทำการขจัดกวาดล้างสำเร็จด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ข้อสำคัญ นอกจากเพราะมีวัคซีนที่ “ทรงอานุภาพ” แล้ว ยังเพราะไข้ทรพิษเป็นโรคที่เกิดกับมนุษย์เท่านั้น ไม่มี “รังโรค” อยู่ในสัตว์อื่น ขณะที่มาเลเรียมีวงจรชีวิตอยู่นอกตัวมนุษย์ ข้อสำคัญคือมียุงเป็นพาหะ

ผู้นำที่ริเริ่มผลักดันให้องค์การอนามัยโลกนำประเทศสมาชิกทั่วโลก ร่วมมือกันขจัดกวาดล้างมาลาเรีย คือ สหรัฐ จากการที่สหรัฐประสบความสำเร็จในการขจัดกวาดล้างโรคนี้จนหมดไปจากประเทศด้วยอาวุธสำคัญ คือ ดีดีที ที่สามารถพ่นฆ่ายุงได้อย่างกว้างขวาง แต่งานนี้ล้มเหลว เพราะไม่สามารถทุ่มงบประมาณฉีดดีดีทีให้ครอบคลุม “ดงแดน” มาลาเรียได้ทั่วโลก และต่อมายังพบปัญหาใหญ่ เมื่อยุงดื้อต่อดีดีที

การรณรงค์ขจัดกวาดล้างมาลาเรียขององค์การอนามัยโลก สร้างผลกระทบให้แก่ประเทศสมาชิกมากมายที่ “ให้ความร่วมมือ” อย่างเต็มที่อย่างประเทศไทย มีการระดมทรัพยากรจำนวนมากในการสร้างหน่วยควบคุมมาลาเรียอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ซึ่งในที่สุดก็ทำไม่สำเร็จ

ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันในการขจัดกวางล้างไข้ทรพิษคือนักวิทยาศาสตร์รัสเซีย ซึ่งสหรัฐก็ให้การสนับสนุนงานนี้อย่างดี ทั้งๆ ที่เป็นช่วงของการต่อสู้กันในช่วงเริ่มยุคสงครามเย็น สหรัฐมีส่วนสำคัญในการสร้าง “นวัตกรรม” คือ “เข็ม 2 แฉก” (Bifurcated needle) จากเข็มขนาดเขื่องในจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมที่ช่วยให้การปลูกฝีทำได้รวดเร็ว และ ฝี “ขึ้นดี” และยังเป็นผู้ผลักดันให้ใช้ยุทธศาสตร์ “ปิดล้อมโรค” (Containment of disease) โดยการฉีดวัคซีน คือ “ปลูกฝี” ให้แก่ประชากรในอาณาบริเวณโดยรอบของผู้ป่วย แทนการฉีดแบบ “ปูพรม”

ขณะที่โรคมาเลเรียที่ลดลงในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็น “ผล” มาจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ยุงก้นปล่องซึ่งเป็นพาหะของโรคมาลาเรียลดจำนวนลงมากเพราะยุงก้นปล่องชอบวางไข่ในป่าตามลำธารที่มี น้ำใสไหลรินขณะที่ยุงที่เป็นพาหะของโรคใหม่ คือ ไข้เลือดออก เป็นยุงลายที่ชอบวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำขังในบ้านเรือน กลายเป็นโรคติดเชื้อ “อุบัติใหม่” ที่ระบาดต่อมาอีกโรคหนึ่ง

สำหรับวัคซีนป้องกันมาลาเรีย มีความพยายามยาวนานข้ามศตวรรษมาแล้ว เพิ่งสำเร็จในครั้งนี้ วัคซีนชนิดนี้ ชื่อรหัสคือ RTS, S/AS01 ชื่อการค้าคือ มอสควิริกซ์ (Mosquirix) เป็นวัคซีนที่วิจัยและพัฒนามายาวนานหลายทศวรรษ

เริ่มจากช่วงปลายทศวรรษ 1980 โดยนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmith Kline) ชื่อย่อคือ จีเอสเค (GSK) ในเบลเยี่ยม ร่วมกับสถาบันวิจัยวอลเตอรีดของกองทัพบกสหรัฐ (Walter Reed Army Institute of Research) ที่มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา โดยทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากโครงการพัฒนาวัคซีนมาลาเรียขององค์กรแพธ (PATH Malaria Vaccine Initiative) และทุนสนับสนุนต่อมาของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์

วัคซีนนี้ได้รับอนุมัติจาก อย. ยุโรป (European Medicine Agency) หรือ อีเอ็มเอ (EMA) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 โดยมีข้อแนะนำให้ใช้กับเด็กเล็กในแอฟริกาที่มีความเสี่ยงต่อมาลาเรีย นับเป็นวัคซีนมาลาเรียชนิดแรกในโลกที่ได้รับอนุมัติโดย อย. ยุโรป ซึ่งเป็น อย.ในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว

ขณะนั้นองค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศรับรองวัคซีนนี้ ตาม “สไตล์” ขององค์กรแห่งนี้ ที่จะต้องมีข้อมูลที่หนักแน่นเพียงพอจึงจะกล้าประกาศเพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกเชื่อถือและไว้วางใจ

“มวยหลัก” คือ องค์การอนามัยโลก แทนที่จะประกาศรับรองตาม อย. ของสหภาพยุโรป ก็ได้ทำการศึกษา “วิจัยปฏิบัติการ” (Operational Research) โดยการประกาศ “โครงการนำร่อง” (Pilot Project) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ที่จะ “ปูพรม” ฉีดวัคซีนนี้ใน 3 ประเทศ ทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ได้แก่ มาลาวี, กานา และเคนยา เป้าหมายเพื่อประเมินผลว่า วัคซีนที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและได้ผล ในกลุ่มประชากรจำนวนหนึ่ง จะมีผลเพียงใดเมื่อนำไปใช้ในพื้นที่จริงๆ นอกจากนั้น โครงการนำร่องดังกล่าว ยังมุ่งประเมินผลความเป็นไปได้ (Feasibility) ของการนำวัคซีน ซึ่งต้องมีการฉีดถึง 4 เข็ม รวมทั้งดูผลกระทบว่าจะป้องกันการเสียชีวิตได้จริงมากน้อยเพียงใด ตลอดจนดูเรื่องความปลอดภัยของการนำวัคซีนไปใช้จริงในวงกว้าง

กว่าจะผ่านการพิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอนของทั้งสามประเทศ โครงการนำร่องนี้ สามารถเริ่มต้นดำเนินการได้ในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2562 โดยตั้งเป้าฉีดให้แก่เด็กจำนวน 360,000 คน ในแต่ละปี โดยเลือกพื้นที่ที่จะเกิด “ผลกระทบสูงสุด” จากวัคซีน

ถึงปี 2564 ก็ได้รายงานซึ่งมีข้อสรุปว่าการใช้วัคซีนร่วมกับยารักษามาลาเรียและมาตรการอื่นๆ เมื่อให้ในช่วงฤดูกาลที่มีการระบาดของมาลาเรียสูงสุด สามารถลดอัตราป่วยและตายลงได้ 70%

นับเป็น “ข่าวดี” จาก “งานวิจัยในพื้นที่” แต่ “มวยหลัก” อย่างองค์การอนามัยโลก ต้องมีขั้นตอนดำเนินการเพื่อความรอบคอบ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่วงวิชาการและทุกฝ่ายในประเทศไทยควรศึกษาและพิจารณา ไม่ “ตื่นตูม” แบบที่ได้ “ทดลอง” ใช้ยารักษาเอดส์ขนานหนึ่งรักษาคนไข้โควิด-19 รายหนึ่งหาย ก็เป็นข่าว “ใหญ่” ว่าแพทย์ไทยค้นพบวิธีรักษาโควิด-19 แล้ว

***************************