posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบหก): “สงคราม: ความสุขในความเจ็บปวดและความตาย”

06 กันยายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                

********************

จากที่ผมได้นำเสนอความคิดของ “นักสู้” และ “สุภาพบุรุษ” สองตัวละครในเรื่อง “สามขี้เมาคุยการเมือง” (A Discourse by Three Drunkards on Government/ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2430)  มีท่านผู้อ่านที่ใช้ชื่อในเฟสบุ๊คว่า Tan Moving ให้ความเห็นว่า “ไม่น่าเชื่อเขียนเมื่อ 134 ปีมาแล้ว แต่เหมือนยังเป็นโจทย์ 2 โจทย์ที่ยังพลิกแพลงปะทะ ทะลุข้ามมิติ”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบหก): “สงคราม: ความสุขในความเจ็บปวดและความตาย”

โจทย์ 2 โจทย์ที่ว่านี้ก็คือ ระหว่างให้ประเทศยึดมั่นบนหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยและต่อต้านสงครามโดยใช้สันติวิธีและความอารยะเข้ารับมือกับการสงครามและการใช้กำลังความรุนแรงที่เกิดจากประเทศอื่น กับ ความเชื่อที่ว่าเราต้องยอมรับว่า ความก้าวร้าวและความต้องเอาชนะและอยู่เหนือผู้อื่นเป็นธรรมชาติของสัตว์ และมนุษย์ก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เราไม่สามารถหลีกหนีความจริงในตัวเราได้ ไม่มีประเทศใดที่มีอารยธรรมยิ่งใหญ่ที่จะไม่ทำสงครามและเป็นผู้ชนะ ที่สำคัญคือ ความก้าวหน้าทางอารยธรรมกับความก้าวหน้าทางการทหารไม่เคยแยกออกจากกันได้

จุดยืนแรกเป็นจุดยืนของ “สุภาพบุรุษ”  ส่วนอันหลังเป็นของ “นักสู้” 

“นักสู้” ได้กล่าวถึง “รัสเซีย (ในปี พ.ศ. 2430) ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลและมีกองกำลังทหารกว่าล้านคน และด้วยกองกำลังทหารขนาดนั้น รัสเซียสามารถที่จะกลืนกินตุรกี เกาหลีและเยอรมนีได้ และบดขยี้ฝรั่งเศสและพร้อมที่จะขยายอำนาจมาสู่เอเชีย  ส่วนฝรั่งเศสที่มีกำลังทหารพอฟัดพอเหวี่ยง ก็พยายามจะเอาคืนจากเยอรมนี และไม่นานมานี้ก็สามารถบุกเข้าไปถึงอันนัม (เวียดนาม)  สำหรับอังกฤษ ที่มีแสนยานุภาพกองทัพเรืออันยิ่งใหญ่ ก็มีอาณานิคมไปทั่วทั้งโลก และถ้าจะกล่าวถึงอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของเหล่าประเทศในยุโรป เราจะพบว่า ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ต่างก็จะทำสงครามแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของตนไปทั่ว พร้อมๆกับกล่าวอ้างหลักการอันประเสริฐของภูมิปัญญาสมัยใหม่ (the Enlightenment) อ้างเสรีภาพ ความเสมอภาคและเสรีประชาธิปไตย

รัสเซีย อังกฤษ เยอรมนีและฝรั่งเศสต่างพร้อมที่จะเดินหน้าขยายอำนาจทันทีเมื่อมีโอกาส  สถานการณ์แบบนี้มันอันตรายไม่ต่างจากมีลูกระเบิดที่กำลังกลิ้งไปกับพื้น  ทันที่ที่มันระเบิด ทหารนับล้านๆจะย้ำเท้าลงบนผืนแผ่นดินทั่วยุโรป และเรือรบนับพันๆจะรุกล้ำเข้าไปทางทะเลในทวีปเอเชีย

นักสู้กล่าวเตือน “สุภาพบุรุษ” ว่า การยึดติดอยู่กับความคิดแคบๆภายใต้อุดมคติเสรีภาพและความเสมอภาค หรือพยายามแสดงอารมณ์ความรู้สึกภราดรภาพที่มวลมนุษย์ทั้งโลกต่างเป็นพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์ในช่วงเวลาและสถานการณ์แบบนี้ ก็ไม่ต่างจากคำแนะนำของลูเชิฟู (Lu Xiufu) ต่อพระจักรพรรดิ ที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของราชวงศ์ซ่งของจีน

เพราะโดยแท้จริงแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนมีความสุขกับการได้เอาชนะ ไม่ว่าจะเขาจะทำอาชีพอะไร พ่อค้ามีความสุขจากการเอาชนะคู่แข่งในตลาดการค้า มีความรู้สึกกับการได้กำไร ชาวนามีความสุขกับการเอาชนะดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้  และแม้กระทั่งนักปรัชญาหรือนักวิชาการ ก็มีความสุขกับการใช้ตรรกะและการใช้เหตุผลเพื่อกำจัดความคิดที่ผิดพลาด ความคิดที่ไม่มีเหตุผล  ตรรกะและการใช้เหตุผลเปรียบได้กับอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้เพื่อชนะศึกสงครามของนักปรัชญา และนักปรัชญา/นักวิชาการจะมีความสุขกับการจัดข้อมูลให้เป็นระบบและสามารถบริหารจัดการหรือควบคุมสาระสำคัญของสิ่งที่เขาศึกษา  ซึ่งจริงๆแล้ว ก็คือ การมีความสุขกับการมีปัญญาเหนือกว่าหรือเชี่ยวชาญกว่าคนอื่นๆ  และเช่นเดียวกัน ประเทศชาติก็มีความสุขจากการได้อยู่เหนือประเทศอื่นๆ

“นักสู้” เห็นว่า “สุภาพบุรุษ” หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าสงครามเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา และวาดภาพความทุกข์ระทมของเหล่าทหารที่ต้องเผชิญกับสายฝนและอากาศที่ร้อนหนาว และเชื่อว่าทหารเหล่านั้นกำลังตกอยู่ในความทุกข์ยากแสนสาหัส คำถามคือ จริงหรือที่ทหารเหล่านั้นทุกข์ทรมาน ?

สงครามต้องการผู้กล้า ความกล้าต้องการจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ เมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น ผู้คนจะมีอาการเหมือนบ้าคลั่ง จิตวิญญาณจะถึงขีดสุดของความฮึกเหิม และพวกเขาจะมองโลกต่างจากที่เคยมอง และความรู้สึกกลัวความเจ็บปวดแทบจะไม่หลงเหลืออยู่  พวกเขาอยากที่จะออกศึกเป็นคนแรก และถ้าเขามีชีวิตรอดกลับมา เขาจะกลายเป็นคนที่กล้าหาญที่สุดในกองทัพ  และถ้าเขาตาย ชื่อของเขาก็จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และนี่ความสุขของทหาร และมันเป็นความสุขอันยิ่งใหญ่….”

ข้อความที่ว่า “รัสเซีย อังกฤษ เยอรมนีและฝรั่งเศสต่างพร้อมที่จะเดินหน้าขยายอำนาจทันทีเมื่อมีโอกาส  สถานการณ์แบบนี้อันตรายไม่ต่างจากการมีลูกระเบิดหลายลูกที่กำลังกลิ้งไปกับพื้น  ทันที่ที่มันระเบิด ทหารนับล้านๆจะย้ำเท้าลงบนผืนแผ่นดินทั่วยุโรป เรือรบนับพันๆจะรุกล้ำเข้าไปทางทะเลในทวีปเอเชีย”

“นักสู้” ได้กล่าวไว้ในปี พ.ศ. 2430 หรือ ค.ศ. 1887

และสิ่งที่เขากล่าวนี้ ก็เป็นจริง เพราะต่อมาอีก 27 ปี ยุโรปก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เขากล่าวถึง ความสุขของทหารหาญที่ฮึกเหิมที่จะเข้าสงคราม อยากจะเป็นวีรบุรุษหากเขารอดตายกลับมาบ้านได้  หรือมีความสุขที่จะเดินเข้าสู่ความตาย เพราะเขาก็จะได้เป็นวีรบุรุษที่ชื่อได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์หรือบนฐานอนุสาวรีย์  ก็ดูจะเป็นความจริงเช่นกัน ! 

เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เด็กๆและคนญี่ปุ่นต่างพากันร้องเพลงที่ชื่อว่า “Umi yukaba” (ข้าออกไปทะเล)  Umi yukaba ถือเป็นเพลงชาติที่สองของคนญี่ปุ่นในสมัยนั้นก็ว่าได้ เป็นเพลงปลุกใจรักชาติ   เนื้อเพลงมาจากร้อยกรองโบราณอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “Choka” โดยผู้แต่งคือ Otomo no Yakamochi กวีผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่แปด เขาเป็นทั้งรัฐบุรุษและกวี

ข้อความบางตอนในบทกวีได้ถูกนำมาเรียบเรียงและใส่ทำนองดนตรีสมัยใหม่ ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่อลังการ  ฮึกเหิมและเคร่งขรึมเนื้อร้องมีดังนี้

Umi yukaba / Mizuku kabane /At sea be my body water-soaked,    行かば水漬く屍 /

Yama yukaba / Kusa musu   On land be it with grass overgrown.    山行かば草生す屍 /

kabane/                              Let me die by the side of my              大君の / 辺にこそ死な

Okimi no / he ni koso shiname /Sovereign!                                  め /

Kaerimi wa seji                         Never will I look back.[3]             かえりみは / せじ

            แต่บางสำนวนก็แปลต่างกันบ้างนิดหน่อย เช่น

If I go to the sea,  I shall be a corpse washed up,

If I go away to the mountain, I shall be a corpse in the grass,

But if I die for the Emperor,

It will not be a regret.

พูดง่ายๆก็คือ คนญี่ปุ่นที่ร้องนี้ กำลังบอกตัวเองและพี่น้องร่วมชาติว่า เขาพร้อมที่จะตายในศึกสงคราม  ไม่ว่าจะเป็นทะเลหรือภูผา  แม้ร่างของเขาจะถูกทะเลกัดเซาะจนเปื่อยยุ่ย หรือจะกลายเป็นผุยผงบนดินหญ้า เขาจะไม่เสียใจเลยสักครา หากเขาได้พลีชีพเพื่อองค์จักรพรรดิ

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบหก): “สงคราม: ความสุขในความเจ็บปวดและความตาย”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบหก): “สงคราม: ความสุขในความเจ็บปวดและความตาย”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบหก): “สงคราม: ความสุขในความเจ็บปวดและความตาย”

อารมณ์คงไม่ต่างไปจากเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ของเราเท่าไรนัก เพียงแต่เนื้อเพลงของเราไม่ได้เน้นพลีชีพเพื่อองค์พระมหากษัตริย์เท่ากับพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อพี่น้องประชาชน

ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู่ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว

ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง

จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด จะรักชาติจนชีวิตเป็นผุยผง

จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา

ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา ไม่เสียดายชีวาถ้าสิ้นไป

นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง หมายผดุงยุติธรรม์อันสดใส

ถึงทนทุกข์ทรมานนานเท่าใด ยังมั่นใจรักชาติองอาจครัน

โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน

คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย

แม้ว่าเนื้อเพลงจะเน้นความรักชาติและการปกป้องพี่น้องและผืนแผ่นดินไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพลงนี้ให้ความรู้สึกผูกพันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

เพราะเพลงนี้มีที่มาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจให้แก่บรรดาข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือน มิให้ท้อถอยในการปฏิบัติหน้าที่ต่อชาติ บ้านเมือง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนคำกลอนเตือนใจแล้วพิมพ์แจกเหล่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ต่อมาทรงกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทำนองเพลง “ความฝันอันสูงสุด” จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่มีการเขียนคำร้องก่อน แล้วทรงใส่ทำนองภายหลังเพลงนี้พระราชทานให้

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบหก): “สงคราม: ความสุขในความเจ็บปวดและความตาย”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบหก): “สงคราม: ความสุขในความเจ็บปวดและความตาย”

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่ยี่สิบหก): “สงคราม: ความสุขในความเจ็บปวดและความตาย”

ขณะเดียวกัน เป้าหมายของ Umi yukaba อาจจะต่างจาก “ความฝันอันสูงสุด”

Umi yukaba ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1937  ในบริบทที่กำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกรานประเทศอื่น                                                                                                                                                                เพลง “ความฝันอันสูงสุด”  ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2514 ภายใต้บริบทสงครามเย็น ไทยอยู่ในสถานะที่จะต้องปกป้องผืนแผ่นดินมากกว่าจะไปรุกรานใคร !

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี ค.ศ. 1945   กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้ายึดครองญี่ปุ่นได้ประกาศห้ามเปิดและร้องเพลง Umi Yukaba  แต่หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ถอนกำลังออกจากญี่ปุ่น Umi Yukaba ก็ได้กลับมาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในแวดวงทหาร และมักจะมีการร้องและบรรเลงเพลงในกองกำลังปกป้องตนเองของญี่ปุ่น

ก็ให้น่าคิดเหมือนกันกับการดำรงอยู่และความนิยมของเพลง “ความฝันอันสูงสุด” กับการพลิกผันทางการเมืองของไทย ?!                                                                                                                                                                ใครจะลองฟังเพลง Umi Yukaba   ขอเชิญที่   https://www.youtube.com/watch?v=wj4eIZek3Zk