posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอน22): ทบทวนรายพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์และตำแหน่งวังหน้า

19 สิงหาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**************

ตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงรายพระนามผู้อยู่ในสถานะที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี พ.ศ. 2411 และที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีได้พร้อมใจกันเลือกเจ้าจุฬาลงกรณ์ให้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า และที่ประชุมก็ได้เห็นพ้องต้องกันที่จะให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขึ้นดำรงตำแหน่งวังหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้ากระทำโดยที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีแทนที่จะแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การชี้นำและอำนาจบารมีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ

ตามราชประเพณี ผู้ที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นวังหน้าคือ ผู้ที่เป็นพระราชโอรสหรือพระราชอนุชาหรือพระราชปิตุลาของพระมหากษัตริย์ (การแต่งตั้งพระปิตุลาเป็นวังหน้าเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่สาม) โดยในตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงพระนามพระภาดาและพระปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าไว้ ดังต่อไปนี้คือ

พระภาดา

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระชันษา 30 ปี

พระปิตุลากรมหมื่นถาวรวรยศ พระชันษา 59 ปี

กรมหลวงวรศักดาพิศาล สุพรรฒนาการสวัสดิ พระชันษา 56 ปี

กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ พระชันษา 54 ปี

กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระชันษา 52 ปี

(ที่ไม่ได้กล่าวถึงพระราชโอรสและพระราชอนุชา เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยังไม่ทรงมีพระราชโอรส ส่วนพระราชอนุชานั้นยังทรงพระเยาว์มากกว่าพระองค์)

หลังจากนั้น ท่านผู้อ่านที่ใช้นามว่า “เจ็บปวดที่งดงาม ครับ” ได้ถามว่า “ทำไม กรมพระยาบำราบปรปักษ์ถึงไม่ได้เป็นตัวเลือก ?” ซึ่งเป็นคำถามเชิงติงที่น่าสนใจมาก เพราะในบรรดารายพระนามพระปิตุลาที่ผมกล่าวไปตอนที่แล้ว ล้วนเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัยทั้งสิ้น นั่นคือ

กรมหมื่นถาวรวรยศ พระราชโอรสพระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดาพะวา

กรมหลวงวรศักดาพิศาล สุพรรฒนาการสวัสดิ พระราชโอรสพระองค์ที่ 58 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอม

กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาอัมพา

กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาอัมพา

ดังนั้น กรมขุนบำราบปรปักษ์ (พระยศในปี พ.ศ. 2411) ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย โดยประสูติแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ย่อมจะต้องอยู่ในรายพระนามผู้ที่เข้าข่ายได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งวังหน้าด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นพระปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

ผมต้องขอขอบคุณ คุณ “เจ็บปวดที่งดงาม ครับ” ไว้ ณ ทีนี้ ที่กรุณาตั้งข้อสังเกตมา และทำให้ผมพบว่า ตัวเองได้หลงรายพระนามของกรมขุนบำราบปรปักษ์ไป ซึ่งต้องขออภัยอย่างยิ่ง

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอน22): ทบทวนรายพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์และตำแหน่งวังหน้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (ต้นราชสกุล มาลากุล)

นอกจากกรมขุนบำราบปรปักษ์จะอยู่ในสถานะของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นวังหน้าแล้ว ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคตปี พ.ศ. 2408 ได้มีการคิดเรื่องรัชทายาทที่จะสืบราชสันตติวงศ์ โดยกรมพระยาดำรงราชนุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“ในเวลานั้น เจ้านายที่ฐานะอยู่ในฉายา อาจจะได้รับเลือกเป็นรัชทายาทมี 3พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชันษา13 ปี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ พระชันษา 43ปี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา (กรมขุนบำราบปรปักษ์) พระชันษา46 ปี”

ในกรณีของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์นั้น พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในเศวตฉัตร ส่วนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลาเป็นพระราชอนุชาที่มีพระยศของพระมารดาสูงกว่าพระมารดาของพระราชอนุชาพระองค์อื่นๆ โดยเจ้าฟ้ามหามาลาประสูติแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ที่มีพระยศรองจากสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

และที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีได้เห็นพ้องต้องกันเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าผู้ที่ไม่เข้าใจบริบททางการเมืองในประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ก็อาจจะเข้าใจไปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ตามหลักการสืบสายโลหิตของพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติในเศวตฉัตรโดยอัตโนมัติ ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น แต่มาจากการเลือกที่มีตัวเลือกพระองค์อื่นๆด้วย ขณะเดียวกัน จากการตั้งข้อสังเกตของ คุณ “เจ็บปวดที่งดงาม ครับ” ทำให้กรมขุนบำราบปรปักษ์อยู่ในรายพระนามของพระปิตุลาที่อยู่ในสถานะที่จะได้รับเลือกเป็นวังหน้า และย่อมจะต้องมีรายพระนามของพระปิตุลาพระองค์อื่นๆเพิ่มเติมมาด้วย อันได้แก่

กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยระนาด พระชันษา 62 ปี (ในปี พ.ศ. 2411)

กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระชันษา 60 ปี

นอกจากนี้ ก็ไม่น่าจะตกหล่นพระองค์ใดที่เป็นพระปิตุลาแล้ว เพราะพระองค์อื่นถ้าไม่ใช่พระราชธิดาก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนปี พ.ศ. 2411

การมีตัวเลือกสำหรับแต่งตั้งให้เป็นวังหน้านอกเหนือไปจากพระราชอนุชาและพระราชโอรสแล้ว ย่อมถือเป็นข้อดี เพราะทำให้มีความมั่นคงปลอดภัยที่จะมีผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าที่จะสืบราชสันตติวงศ์หากราชบัลลังก์ว่างลง หากไม่มีพระราชอนุชาหรือพระราชโอรสให้แต่งตั้งเป็นวังหน้า

แต่ข้อเสียก็มี เพราะยามที่จะแต่งตั้งตำแหน่งวังหน้า และหากมีทั้งพระราชอนุชาและพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ และมีพระปิตุลา ทุกพระองค์ย่อมคาดหวังที่จะได้รับแต่งตั้ง ก็ย่อมจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาได้

และจากที่กล่าวไปข้างต้น หากพิจารณาการเมืองในช่วงนั้นจากมุมมองทางรัฐศาสตร์ จะเห็นได้ว่า มีตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญ 3 ตัวแสดง นั่นคือ พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงพระเยาว์ (15 ชันษา) และทรงประชวร กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า) และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงรับมรดกจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯผู้เป็นพระราชบิดา ทั้งสถานะของการเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง และยุทโธปกรณ์สมัยใหม่และไพร่พลจำนวนมาก ควบคุมพลทหารราว 2,600-2,700 นาย ในขณะที่วังหลวง (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) มีทหารเพียง 1,500 นายเท่านั้น และเมื่อพิจารณาทรัพยากรดังกล่าวประกอบกับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และความนิยมชมชอบในหมู่ขุนนางแล้ว สถานะของวังหน้าถือได้ว่าน่าเกรงขามยิ่ง ประกอบกับได้รับการยอมรับในประชาคมทางการทูตด้วย

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอน22): ทบทวนรายพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์และตำแหน่งวังหน้า

               โทมัส นอกซ์                     สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์             กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างดี และมีความรู้ในวิทยาการตะวันตก สนิทสนมกับกงสุลอังกฤษที่ชื่อ โทมัส นอกซ์ (Thomas Knox) ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯโปรดเกล้าให้ทำหน้าที่เป็นครูฝึกทหารวังหน้าให้ทันสมัยตามแบบยุโรป อีกทั้ง โทมัส นอกซ์ก็สนิทสนมกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย และนอกซ์มีความปรารถนาที่จะให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เมื่อมีโอกาส

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (ตอน22): ทบทวนรายพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์และตำแหน่งวังหน้า

                                       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ปี พ.ศ. 2411

หากนับกงสุลอังกฤษ โทมัส นอกซ์ เพิ่มเข้าไปด้วยแล้ว ยุวกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางตัวแสดงทางการเมืองทั้งสามตัวแสดง ที่ต่างมีอำนาจอิทธิพลและมีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งต่อกัน

(พระราชพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2; พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินท์ รัชกาลที่ 5 พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เขียน, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย)

*****************