posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (13)

24 กรกฎาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

************

“การเป็นทหารที่ดีต้องเริ่มจากการทดสอบความจงรักภักดี”

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีมุมมองส่วนตัวของท่านว่า ชีวิตของขุนแผนคือชีวิตที่ถูกทดสอบเรื่องความจงรักภักดี ตั้งแต่เด็ก ๆ ที่พ่อของขุนแผน คือขุนไกร ที่ต้องรับราชอาชญา ถูกประหารชีวิต และริบราชบาตร จนเมื่อเติบโตเข้ารับราชการก็ต้องมาถูกทดสอบว่า มีความตั้งใจจริงที่จะเป็นทหาร และมีความซื่อสัตย์รับสนองพระราชโองการต่าง ๆ ด้วยดีหรือไม่ อย่างเหตุการณ์ในชีวิตที่ต้องมาเจอ “สงครามเมีย ๆ” ที่ส่งผลกระทบต่อการทำราชการของขุนแผนเป็นอย่างมาก ดังที่จะได้อธิบายต่อไป

เมื่อขุนแผนรับพระราชโองการไปทัพครั้งแรกในชีวิตราชการทหารที่เชียงใหม่ ระหว่างที่พักทัพอยู่ในเมืองจอมทอง (ปัจจุบันคืออำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นทางขึ้นไปสู่ดอยอินทนนท์นั้น) เจ้าเมืองจอมทองก็ยกลูกสาวให้เป็น “บรรณาการ” นัยว่าเพื่อผูกมิตร และตามธรรมเนียมของระบบไพร่ก็เพื่อ “ฝากเนื้อฝากตัว”

หากขุนแผนได้เป็นใหญ่ต่อไปก็จะได้ดูแลคุ้มครองเมืองจอมทองนั้นด้วย ลูกสาวคนนั้นก็คือนางลาวทอง โดยที่ไม่ได้ถามไถ่ว่าขุนแผนมีลูกเมียอยู่แล้วหรือไม่ ซึ่งคนในสมัยนั้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไร แต่นั่นก็ทำให้ขุนแผนเข้าสู่ปัญหาใหญ่ของชีวิต โดยที่ขุนแผนก็ไม่ได้คาดการณ์มาก่อน ที่อาจจะเป็นด้วยอ่อนประสบการณ์เรื่องชีวิตครอบครัว หรือไม่คิดว่านางลาวทองจะมาสร้างปัญหาอะไรให้เกิดขึ้น จึงปล่อยเลยตามเลย ครั้นเสร็จศึกเชียงใหม่ก็พานางลาวทองลงมาอยู่ที่สุพรรณด้วย

ตอนที่ขุนแผนไปรบเชียงใหม่นั่นแหละ ที่ก็ได้เกิดเรื่องใหญ่ในชีวิตของนางพิมพิลาไลย เพราะต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็นนางวันทอง นี่ก็เป็นความเชื่อความคิดของคนไทยมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน คือการเปลี่ยนชื่อเพื่อแก้เคล็ด

กรณีนางพิมพิลาไลยก็เปลี่ยนชื่อด้วยเหตุดังกล่าว เนื่องจากป่วยหนัก นางศรีประจันต์ผู้มารดาเห็นว่าจะไม่รอด จึงไปกราบขรัวตาขอคำแนะนำ ขรัวตาก็แนะนำให้เปลี่ยนชื่อมาเป็นนางวันทอง ดังกล่าว แล้วนางพิมก็หายป่วย แต่ก็ต้องมาเจอทุกข์ที่หนักกว่า นั่นก็คือการที่สามีเอาเมียน้อยมาอยู่ด้วย ที่สุดเกิดอาละวาดระหว่างเมียเก่ากับเมียใหม่ ขุนแผน เข้าเป็นกรรมการห้ามก็ถูกลูกหลง ถูก นางวันทอง ข่วนเอา จึงเกิดน้ำโหคว้าดาบจะฟันนางวันทอง นางวันทองน้อยใจ หนีเข้าไปในเรือนจะฆ่าตัวตาย ดีว่านางสายทองมาแก้ได้ทัน

ขุนแผนพานางลาวทองไปอยู่กับนางทองประศรีผู้เป็นแม่ที่กาญจนบุรี ระหว่างนั้นก็ถูกเรียกตัวให้มาเข้าเวรที่วังหลวง เพราะต้องมาฝึกงานเป็นมหาดเล็ก คู่กันกับขุนช้าง ที่บิดาเอามาฝากเป็นมหาดเล็กไว้ด้วยเช่นกัน มาวันหนึ่งมีคนแจ้งมาจากเมืองกาญจน์ว่า นางลาวทอง ป่วย ขุนแผนจึงปรึกษาขุนช้าง ขุนช้างทำท่าเป็นมิตรอย่างเอื้อเฟื้อ รับจะช่วยดูแลเวรของขุนแผนให้ แต่ครั้นขุนแผนไปเมืองกาญจน์แล้ว ขุนช้างก็กราบทูลพระพันวษาว่าขุนแผนหนีเวร ซึ่งถือเป็นราชอาชญาร้ายแรง

แต่ขุนแผนได้เข้ามารับโทษ จึงทรงลงโทษให้ไป “ตระเวนไพร” (ถ้าภาษาทางราชการปัจจุบันน่าจะเหมือนกันกับ “ถูกพักราชการ” หรือ “ย้ายไปช่วยราชการ” อะไรทำนองนั้น โดยต้องออกตรวจตราชายแดนระหว่างเมืองกาญจน์กับพม่า และที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ “ห้ามเฝ้า” พูดภาษาชาวบ้านก็คือ “อย่ากลับมาให้กูเห็นหน้า” ไปจนกว่าจะมีพระราชโองการเป็นอย่างอื่น ส่วนนางลาวทองก็ถูกนำตัวเข้ามาถูกจำขังอยู่ในวัง ตัดขาดจากการเป็นเมียของขุนแผนเสีย

ขุนแผนแค้นใจขุนช้างมาก แต่เมื่อเป็นพระราชอาชญาก็น้อมรับ นี่ก็เป็นการแสดงความจงรักภักดีอย่างที่สุดเหมือนกัน เพราะคนที่มีวิชาอาคมมากอย่างขุนแผนย่อมจะทำอะไรก็ได้ แต่ขุนแผนก็ไม่ยอมขัดพระราชโองการ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ขุนแผนออกตระเวนไพรนี่เอง ที่ทำให้ขุนแผนยิ่งแกร่งกล้าเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะได้ไปค้นหา “ของสามสิ่ง” ที่ขุนแผนตั้งใจไว้ว่าจะต้องหามาให้ได้ในชีวิตการเป็นทหารของเขา นั่นก็คือ “ตีดาบ ซื้อม้า หากุมาร” (ที่จริงมี 4 อย่าง อีกอย่างหนึ่งคือเมีย ซึ่งขุนแผนได้หามาแล้วถึง2 คน จนเกิดปัญหาในชีวิตนี่แล) ดังคำปลอบใจตัวเองของขุนแผนตอนที่จะต้องจำรับโทษไปตระเวนไพรนั้น

“จะตีดาบซื้อม้าหากุมาร ให้เชี่ยวชาญวิชาได้ฝ่าศึก”

ถ้าสามสิ่งนี้ได้สมใจนึก จะอึกทึกมาอย่างไรก็ไม่กลัว”

นี่แหละวิสัยของ “คนจริง” แม้จะตกระกำลำบาก ต้องราชอาชญาน่าอับอาย ก็ไม่สิ้นหวังในชีวิต แต่มองกลับเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝัน อย่างขุนแผนก็มองเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้แสวงหา “สิ่งสำคัญ” ที่เขาปรารถนา โดยไม่ได้เห็นว่าเป็นเคราะห์กรรมทุกข์ทรมานแต่อย่างใด

เรื่องการตีดาบและหากุมารนั้นออกจะเป็นเรื่องน่ากลัว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองการปกครองอะไรมากนัก จึงขอไม่นำมาเล่าในรายละเอียดในที่นี้ แต่สำหรับคนที่เป็น “คอขุนช้างขุนแผน” แล้วถือว่าเป็น “หัวใจ” อีกส่วนหนึ่งของเรื่องขุนช้างขุนแผนเลยที่เดียว เพราะเวลาที่เอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ในตอนหลัง ๆ (ที่มีคุณบงกช คงมาลัย ปัจจุบันนามสกุลเบญจรงคกุล แสดงเป็นนางวันทองสุดเซ็กซี่นั่นแหละ) หรือตอนสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กชั้นมัธยมต้นเมื่อเกือบจะห้าสิบปีที่แล้ว มีภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องหนึ่งชื่อ “ขุนแผนผจญภัย” ผู้แสดงเป็นขุนแผนคือคุณไพโรจน์ ใจสิงห์ (ท่านเพิ่งจะเสียชีวิตไม่นานมานี้) ที่ผู้คนทั้งหลายติดกันงอมแงม (ส่วนผู้เขียนนอกจากจะติดตามดูทุกตอนอย่างงอมแงมแล้ว ยังตื่นเต้นมาก ๆ เพราะเป็นภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดเป็นสีเรื่องแรก ๆ ในยุคนั้น) ก็นำเอาชีวิตของขุนแผนในช่วงตระเวนไพรนี่แหละ มาแต่งเติมออกเป็นฉากการผจญภัยต่าง ๆ ของขุนแผน ออกฉายอยู่ได้เป็นปี ๆ

ทว่าในตอนที่ขุนแผนหาซื้อม้าสีหมอก ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ตีความตามบทกลอนและแสดงทัศนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศของไทยในสมัยอยุธยา ว่าไทยมีความสัมพันธ์กับนานาชาติ โดยเฉพาะ “ประเทศตะวันตก” ในยุคนั้นไว้อย่างไร ซึ่งจะขอเอามานำเสนอในสัปดาห์หน้า

ระหว่างนี้ก็อยู่กับบ้าน ระวังโควิดให้ดี ๆ และเอาใจช่วยทุก ๆ คนให้รอดพ้นภัยต่าง ๆ ไปด้วยดี แต่ไม่ต้องห่วงรัฐบาล ที่เห็นว่ากำลังจะมี “ทางไป” ในเร็ว ๆ นี้

******************************