posttoday

การพัฒนาหลังโควิด

10 กรกฎาคม 2564

โดย...โคทม อารียา

****************

แม้ผมจะไม่ชอบรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยมีอคติว่าเป็นฉบับ ที่คณะรัฐประหารหยิบยื่นให้ แต่ก็ยอมรับว่ามีหลักการดี ๆ เขียนไว้หลายแห่ง แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจนำมาใช้ หลักการที่ไม่เข้าท่าก็มีเหมือนกัน แต่ที่นำมาใช้บ่อยคือบทบัญญัติที่นำมาชิงไหวชิงพริบ เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง ขอยกเรื่องระบบเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในมาตรา 75 เฉพาะวรรคสี่มาเป็นตัวอย่างดังนี้

“ในการพัฒนาประเทศ รัฐพึงคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ และความอยู่เย็นเป็นสุขของประชชนประกอบกัน”

ในขณะนี้ โลกเผชิญกับไวรัสโควิด ที่ระบาดรอบแล้วรอบเล่า ล่าสุดเป็นการระบาดที่รุนแรงของสายพันธุ์เดลตา การผลิตวัคซีนใหม่มาสู้กับสายพันธุ์ใหม่ให้ทันกาลได้หรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ที่รู้คือ คนที่อยู่ในประเทศที่ขาดแคลนวัคซีน จะหวังในทานบารมี (generosity) ของประเทศที่มีวัคซีนจำนวนมากไม่ค่อยได้ นับเป็นบทเรียนสำคัญเพื่อที่จะสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็ง เพื่อจะรับมือกับวิกฤตโควิดและปัญหาหลังโควิด โดยพึ่งพาตนเองมากกว่าคอยพึ่งพาผู้อื่น แต่มิได้หมายความว่าให้ปิดตัวลง หากควรเปิดกว้างด้วยทัศนะว่า มีปัญหาก็แก้โดยอุปายโกศล (ความฉลาด) มีโอกาสก็เปิดรับด้วยปัญญา

มาตรา 75 วรรคสองที่ยกมาอ้างข้างต้น บัญญัติว่ารัฐมีหน้าที่พัฒนาจิตใจ ส่วนในมาตรา 67 เรื่องการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยการพัฒนาจิตใจไว้เช่นกัน แต่เป็นในมุมแคบ โดยบัญญัติไว้ในวรรคสองว่า

“... รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา...”

แม้มาตรา 67 จะเปิดกว้างคือ บัญญัติว่า

“รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น”

แต่พอกล่าวถึงการส่งเสริมและสนับสนุน กับระบุพระพุทธศาสนาเถรวาทเท่านั้น น่าเสียดายที่ได้ละเลยพุทธศาสนามหายาน (และศาสนาอื่น) ที่จะเป็นเส้นทางการพัฒนาจิตใจตามปณิธานของมาตรา 75 ได้อย่างดีอีกเส้นทางหนึ่ง

ในการสังคายนาครั้งที่ 3 (บางคนนับเป็นครั้งที่ 2) ซึ่งนักประวัติศาสตร์เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร แต่เห็นไม่ตรงกันว่าเกิดขึ้นเมื่อไร (ในพุทธศควรรษที่สามหรือสี่) และผลเป็นอย่างไร

ตำนานหนึ่งเล่าว่า มีพระสงฆ์รูปหนึ่งนามว่า มหาเทวะ เสนอว่าพระอรหันต์ยังมีความเป็นปุถุชนอยู่ 5 ประการคือ อาจถูกมารยั่วยวนในความฝันจนอสุจิเคลื่อนได้, ยังขจัดอวิชชาไม่หมดสิ้น, ยังมีความกังขาได้, บรรลุมรรคผลเมื่อได้รับการพยากรณ์จากผู้อื่น, และบรรลุมรรคผลเมื่อท่องมนตราระหว่างบำเพ็ญเพียร ฝ่ายสงฆ์ข้างน้อยในการสังคายนาไม่เห็นด้วยกับมหาเทวะ จึงรวมกันเป็นสถาวิระนิกายหรือนิกายของผู้สูงอายุ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นนิกายเถรวาท ส่วนฝ่ายมหาเทวะซึ่งมีจำนวนมากกว่ารวมตัวกันเป็นมหาสังฆิตานิกาย ซึ่งพัฒนาเป็นนิกายมหายานในประมาณพุทธศตวรรษที่ 5

อุดมคติของมหายานคือการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะได้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสตว์โลกได้กว้างขวาง พระโพธิสัตว์หมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่มีปณิธานที่จะไม่เข้าสู่นิพพาน หากยังอยู่ในสังสารวัฏเพราะยังต้องช่วยเหลือผู้อื่น

ฝ่ายมหายานย่อทศบารมีของฝ่ายเถรวาทลงเหลือ 6 ประการคือ ทานกับศีลซึ่งเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โลภะ ขันติกับวิริยะซึ่งเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือโทสะ และฌานกับปัญญาซึ่งเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โมหะ

ที่น่าสนใจคือคำแปลของบารมี 6 เป็นภาษาอังกฤษดังนี้ ทาน แปลว่า generosity ซึ่งมีนัยเป็นการให้ระหว่างคนที่เสมอกันในศักดิ์ศรี ไม่ใช่เพียงคนมั่งมีให้คนยากจน ศีล แปลว่า discipline ซึ่งมีนัยเป็นการปฏิบัติต่อกันด้วยดีในหมู่คณะ ไม่ใช่เพียงการควบคุมความประพฤติเพื่อสะสมบารมีส่วนบุคคล

ขันติ แปลว่า tolerance ซึ่งมีนัยเป็นการทนรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่เพียงการอดทนอดกลั้น วิริยะ แปลว่า energy ซึ่งมีนัยเป็นพลังที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างแข็งขัน ไม่ใช่เพียงความพากเพียรพยายามสู่มรรคผล ฌาน แปลว่า contemplation ซึ่งมีนัยทั้งวิปัสสนาและสมถะ และ ปัญญา แปลว่า insight ซึ่งมีนัยทั้งปรีชาญาณและญาณทัศนะ ผมคิดว่าการแปลเป็นภาษาอังกฤษช่วยเปิดมุมมองไปเป็นแบบมหายานที่กว้างขึ้น เพราะการใช้คำบาลีหรือสันสกฤตมักทำให้ติดอยู่กับการตีความหมายแบบเถรวาทที่เราคุ้นเคย

อุดมคติของพระโพธิสัตว์มี 3 ข้อใหญ่คือ

1)มหาปรัชญา คือปัญญาที่ยิ่งใหญ่เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในกองกิเลส

2)มหากรุณา คือความพร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์

3)มหาอุปาย คือวิธีการอันชาญฉลาดที่จะเข้าถึงผู้อื่นตามจริตหรืออินทรีย์ของผู้นั้น

พระสูตรแรก ๆ ที่เขียนในพุทธศตวรรษที่เจ็ดโดยประมาณนั้น เขียนขึ้นเพื่อสรุปคำสอนของฝ่ายมหายาน ส่วนหนึ่งเพื่อโต้แย้งฝ่ายสาวกวาทหรือเถรวาท พระสูตรนี้มีชื่อว่า “วิมลเกียรตินิเทสสูตร” ซึ่งเสถียร โพธินันทะ เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีนที่แปลโดยท่านกุมารชีพ ต่อมามีการค้นพบต้นฉบับภาษาสันสกฤตซึ่งสุทิน นำมาแปลให้วัดโพธิ์แมนคุณาราม ผมได้ใช้หนังสือทั้งสองเล่มในการปะติดปะต่อข้อมูลเกี่ยวกับมหายานที่นำมาเขียนในบทความนี้

ต่อมานักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีชีวิตในพุทธศตวรรษที่ 7 ชื่อคุรุนาคารชุนได้เขียนหนังสือพุทธปรัชญาเช่น มูลมาธยามาการิกา และมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ความหนากว่า 2500 หน้า เป็นต้น คุรุนาคารชุนได้วางหลักปรัชญาหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องทางสายกลาง ความว่าง ปฏิจจสมุปบาท และศูนยตาที่คล้ายกับหลักอนัตตา ฯลฯ

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 9 มีนักปราชญ์ที่เป็นพี่น้องกันสองคนชื่อ คุรุอสังคะและคุรุวสุพันธุ ผู้ให้กำเนิดปรัชญานิกายวิชญาณวาทที่อาจจัดอยู่ในฝ่ายมโนภาพนิยม (idealism) ต่อมาหลักปรัชญาเหล่านี้รวมทั้งคำสอนฝ่ายมหายานได้แพร่หลายสู่ จีน ทิเบต เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น

ขอย้อนกลับไปสู่ประเด็นในอนาคต ว่าการพัฒนาหลังโควิดควรจะเป็นอย่างไร ในหนังสือ “พุทธพัฒนา” ซึงมีชื่อรองว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาแนวพุทธ” คุณหมอประเวศ วะสีเสนอว่า ความไม่สมดุลของกายและใจหรือความไม่ลงตัวทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง คุณหมอเสนอยุทะศาสตร์ 7 ยุทธศาสตร์ดังนี้

1)การสร้างความสุขฉับพลัน (คล้ายกับเปลี่ยนใจก้ถึงฟากฝั่ง) เราไม่ต้องไปกำหนดรูปแบบการพัฒนาที่ตายตัว เพียงแต่ช่วยเพื่อนมนุษย์ให้คลายทุกข์ (นี่คออุดมคตอของมหายาน) เขาก้จะค่อย ๆ ปรับวิถีชีวิตและวิถีสังคมตามเหตุตามผล (อิทิปปัจจัยตา)

2)ส่งเสริมการเจริญสติ การเจริญสติช่วยให้สุขภาพดี ปัญญาดี

3)ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนคือระบบที่สมดุลระหว่างคนกับคนและระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ชุมชนชาวพุทธเรียกได้ว่าสังฆะ เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้แลการเกื้อกูลกัน

4)การจัดการวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดการให้วัดเป็นสัปปายะสถาน สะอาด สงบ และอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม และให้วัดทุกวัดสอนวิปัสสนากรรมฐาน

5)การวิจัยและพัฒนาแนวพุทธาการศึกษาพุทธธรรม ให้คนจำนวนมากเข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ อันเป็นหัวใจของการพัฒนาอันเป็นหัวใจของการพัฒนแนวพุทธ

6)การพัฒนาปัญญาเชิงระบบ และการจัดการ รวมทั้งนโยบายสาธารณะ พัฒนาการจัดการให้มีลักษณะบูรณาการและเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะระบบราชการให้มีระบบการจัดการเพื่อผลสัมฤทธิ์ (มิใช่เช้าชามเย็นชาม หรือรอเจ้านายสั่ง) สร้างความรู้ให้รอยต่อของระบบมีความเชื่อมโยงกันไปสู่ความสำเร็จ และเปิดกว้างสู่การมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ (เลิกเชื่อว่าผู้นำรวมศูนย์สามารถสร้างเอกภาพและประสิทธิผล)

7)พัฒนาเครือข่ายชาวพุทธ เชื่อมโยงบุคคลเป้นกลุ่ม และกลุ่มเป็ยเครือข่าย สังคมเตรือข่ายคล้ายสมอง มีการเรียนรู้สูง และอุดมปัญญา

คงมีแนวพัฒนาอื่น ๆ อีก เห็นมีหลายกกลุ่มที่พูดถึงการสร้างไทย การพัฒนาอนาคต ฯลฯ แต่เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นชาวพุทธ ที่ปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง การพัฒนาหลังโควิดควรหวนกลับมาที่ความเข็มแข็งที่เป็นทุนเดิมของสังคม และให้อุดมคติชาวุทธ โดยเฉพาะอุดมคติโพธิสัตว์ของมหายาน เพื่อเดินหน้าต่อไปด้วยกัน อย่างมีอุปายโกศล

************