posttoday

ก่อนเกิดการทำแผนที่สยาม (15): ทำไมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ใช่ในฐานะพระราชโอรสตามสายโลหิตโดยอัตโนมัติ ?

01 กรกฎาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************

จากตอนที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเป็นจุดเริ่มต้นของ “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะไม่ได้ปรากฏในพระสุพรรณบัฏในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ก็ตาม แต่ต่อมาปรากฏในพระสุพรรณบัฏในรัชกาลสี่

อย่างไรก็ตาม การสั่งสมอำนาจบารมีทางการค้าของพระองค์ในครั้งที่ยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต้องอาศัยขุนนางผู้ใหญ่ โดยเฉพาะตระกูลบุนนาค ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผลักดันให้พระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ ดังนั้นการขึ้นเสวยราชย์ของรัชกาลที่ 3 จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาคด้วย

ดังนั้น คำว่า “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” ที่ว่านี้ จึงมิได้หมายถึงราษฎรทั่วไป แต่หมายถึงที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี และถ้าจะเจาะลงไปในที่ประชุมนี้ ก็จะพบว่ากลุ่มคนที่มีอำนาจอิทธิพลต่อการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์คือ กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค นั่นคือ ดิศ กับ ทัต บุนนาค ซึ่งขณะนั้น ดิศ ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง ส่วนทัตดำรงตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์ ทำหน้าที่จางวางพระคลังสินค้า

อาจมีผู้สงสัยว่า สองตำแหน่งที่ว่านี้เป็นตำแหน่งด้านการคลังการค้า แล้วเสนาบดีด้านการทหารสนับสนุนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯหรือไม่ ?

คำตอบคือ ผู้ทำหน้าที่ดูแลกำกับการกลาโหมในช่วงเปลี่ยนรัชกาลคือ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ผู้เป็นพระปิตุลา (อา) ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และเคยร่วมทำศึกต่อสู้กับพม่าร่วมกับพระองค์ แม้ว่าจะเป็นพระปิตุลา แต่กรมหมื่นศักดิพลเสพมีพระชนมายุมากกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเพียง 3 ปีเท่านั้น และเข้าใจว่า กรมหมื่นศักดิพลเสพก็สนับสนุนพระองค์ให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะหลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงแต่งตั้งกรมหมื่นศักดิพลเสพขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า อยู่ในฐานะพระมหาอุปราชหรือองค์รัชทายาท

การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงตั้งพระปิตุลา (อา) เป็นวังหน้านี้ ถือว่าผิดแผกแตกต่างจากที่เคยทำกันมา เพราะแต่เดิมมักพระมหากษัตริย์จะตั้งพระราชอนุชาหรือพระราชโอรส (หากเจริญพระชันษาแล้ว)

แต่การแต่งตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ หนึ่ง พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษาเท่านั้นและมิได้ประสูติในเศวตฉัตร สอง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงบัญชาการด้านกลาโหมอยู่แล้ว และทรงเป็นกำลังอุดหนุนให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ราชสมบัติ ดังนั้น การตั้งกรมหมื่นศักดิพลเสพให้ดำรงตำแหน่งวังหน้าจึงเข้าข่ายเป็นเงื่อนไขบังคับ สาม ขณะนั้นพระอนุชา เจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชอยู่และไม่ประสงค์ที่จะสึกออกมา สี่ พระองค์ไม่ประสงค์จะให้เจ้าฟ้ามงกุฎดำรงตำแหน่งที่อยู่ในสถานะที่จะสืบราชสมบัติได้ หากราชบัลลังก์ว่างลง

แม้ว่าการตั้งกรมหมื่นศักดิพลเสพให้ดำรงตำแหน่งวังหน้าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมต่อเสถียรภาพความมั่นคงในการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯในขณะนั้น แต่ต่อมาเมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพ (ต่อมาเลื่อนเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ) สวรรคต ผู้ที่อยู่ในสถานะที่คาดหวังจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวังหน้า จึงมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงพระราชอนุชาหรือพระราชโอรส แต่รวมไปถึงพระราชปิตุลาด้วย

ในปีที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพสวรรคต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เจริญพระชันษาได้ 20 ปี แต่มิได้ทรงประสูติในเศวตฉัตร ส่วนพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ทรงประสูติในเศวตฉัตร คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลำยอง ขณะนั้น พระชันษาได้ 7 ปี

ส่วนพระปิตุลาและพระอนุชา ได้แก่

พระปิตุลาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ 4 พระองค์ คือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศร ผู้เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา ทรงพระชันษา 43 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระชันษา 47 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ พระชันษา 41 ปีและเป็นพระอนุชาร่วมมารดากับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์ ทรงงานเคียงคู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และทรงงานรับใช้ราชการเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบตลอดรัชกาลที่สอง โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหลวงรักษ์รณเรศ และโปรดให้กำกับกรมวัง ทรงมีอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางทั้งในทางการตัดสินคดีความ กำกับกรมวัง ดูแลการจ่ายเบี้ยหวัดประจำปีของพระราชวงศ์และขุนนาง

พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ (ลูกของพี่สาวของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) พระชันษา 55 ปี และใน พ.ศ. 2350 ขณะมีพระชันษาได้ 30 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เสด็จไปตีเมืองเวียงจันทน์ จนได้รับชัยชนะหลายครั้ง มีความดีความชอบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น "กรมหลวงเสนีบริรักษ์"

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศเรศร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระชันษา 43 ปี

ส่วนพระราชอนุชา 3 พระองค์นอกเหนือจากเจ้าฟ้ามงกุฎที่ทรงผนวชอยู่ ได้แก่

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชอดิศร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระอนุชารัชกาลที่สาม พระชันษา 39 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระชันษา 38 ปี เป็นพระอนุชาของรัชกาลที่สาม ทรงกำกับกรมพระนครบาล ให้กำกับกรมพระคชบาลเพิ่มอีกหนึ่งกรมอีกด้วย โดยกรมทั้งสองต่างเป็นกรมสำคัญที่มีผู้คนสังกัดมากทั้งสองกรม

สมเด็จเจ้าฟ้า กรุมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือพระราชโอรสพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 5 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี แต่เป็นพระองค์ที่ 3 ที่ได้ประสูติเป็นพระองค์ พระชนมายุ 23 ปี

แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมิได้ทรงตั้งผู้ใด แม้ว่าในพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 3 อาจจะมีตัวบุคคลที่พระองค์ทรงต้องการแต่งตั้งให้เป็นวังหน้าเพื่อหวังจะให้เป็นองค์รัชทายาท ซึ่งย่อมไม่ใช่พระอนุชาของพระองค์ อันได้แก่ เจ้าฟ้ามงกุฎและสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ แต่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระองค์ คือ คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ (สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์) พระชันษา 20 ปี แต่ไม่ได้ประสูติในเศวตฉัตร ส่วนพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ที่ประสูติในเศวตฉัตร คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลำยอง มีพระชนมายุเพียง 7 พรรษา ดังที่กล่าวไปแล้ว

จากเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ฝักฝ่ายต่างๆคาดหวังที่จะได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า โดยเฉพาะพระราชปิตุลา ดังข้อความที่ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงประชวรสวรรคต “ครั้งนั้นข้าไทยเจ้าต่างกรม กรมใหญ่ๆตื่นกันว่าเจ้าของตัวจะได้เป็นที่วังหน้า บ้างก็หาเครื่องยศและผ้าสมปัก ที่อยากเป็นตำรวจก็หาหอกรัดประคดเอิกเกริกกันไปทั้งเมือง” ซึ่งตีความได้ว่า มีกลุ่มต่างๆที่มีศักดิ์สถานะอำนาจกำลังไม่ต่างกันนักต่างก็ต้องการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเคยทรงแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ พระปิตุลาให้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพสวรรคต บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเป็นพระปิตุลาที่ทรงกรมต่างคาดหวังว่า ตนจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

เมื่อไม่ทรงแต่งตั้งผู้ใด จึงได้เกิดกระแสกระด้างกระเดื่องจนเกือบเกิดการกบฏเกิดขึ้นจากพระราชปิตุลาบางพระองค์ที่คาดหวังจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า เป็นไปเงื่อนไขที่ว่า “เมื่อความคาดหวังที่เกิดขึ้นใหม่ (rising expectation) ขึ้น และไม่ได้รับการตอบสนอง มักจะนำไปสู่ปฏิกิริยาความไม่พอใจที่สามารถขยายตัวไปจนถึงการก่อการกบฏขึ้นได้” ในทฤษฎี “relative deprivation” ของนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่ชื่อ เท็ด โรเบิร์ต เกอร์ (Ted Robert Gurr)

เพราะแต่เดิมทีไม่เคยมีการแต่งตั้งพระปิตุลาเป็นวังหน้า เมื่อมีการแต่งตั้งขึ้นก็ทำให้ผู้ที่เป็นพระราชปิตุลาพระองค์อื่นเกิดความคาดหวัง และเมื่อตำแหน่งวังหน้าว่างลง แต่กลับไม่มีการตั้งวังหน้า

การไม่สนองตอบความคาดหวังโดยขาดเหตุผลอันชอบธรรมที่เป็นที่ยอมรับเข้าใจได้มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงตามมา ดังในกรณีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศที่ทรงไม่พอพระทัยและคับข้องพระทัยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงไม่ตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า ดังที่จะได้กล่าวต่อไป