posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (9)

26 มิถุนายน 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

************

เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองการปกครอง ก็ต้องพูดเรื่องศาสนานั้นด้วย

คนไทยนับถือศาสนาพุทธแบบง่าย ๆ คือไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้ง เพียงแต่ท่องศีล 5 และนะโมตัสสะได้ก็ถือว่าอยู่ในร่มเงาของศาสนานั้นแล้ว ในเรื่องขุนช้างขุนแผนมีเรื่องราวทางศาสนาอยู่มาก ทั้งพิธีการต่าง ๆ และหลักธรรมคำสั่งสอนมากมาย แต่ก็ประกอบอยู่ด้วยอารมณ์ของกวีผู้แต่ง ที่หลายเรื่องออกไปในแนวเฮฮา อันเป็นอารมณ์หลักของ “วัฒนธรรมไพร่” ของคนไทยแต่โบราณนั้น คือไม่ได้ยึดถืออะไรจริงจังในชีวิต เป็นวัฒนธรรมของความสนุกสนานและอยู่ไปตามธรรมชาติ ด้วยความเชื่อของบุญกรรม และการพึ่งพิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเกิดจากการครอบงำของระบอบศักดินาที่ผู้ปกครองยุคนั้นนำเอามาปกครองคนไทย การสวดมนตร์อันเป็นพุทธวัจนะทั้งหลายจึงเป็นเพียงพิธีกรรมที่จะให้นำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข ความปลอดภัย ความเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง และความสงบสุขในหมู่คณะเท่านั้น

แต่กระนั้นพระสงฆ์ก็มีอิทธิพลต่อคนไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในฐานะที่เป็น “พุทธทายาท” สืบทอดศาสนาพุทธให้ยั่งยืน และในฐานะที่เป็น “มรรคผล” คือหนทางที่จะนำผู้คนไปสู่ “ร่มบุญ” ให้บังเกิดความสุขความสำเร็จต่าง ๆ ยิ่งถ้ามองด้วยสายตาของผู้ปกครองคือกษัตริย์ด้วยแล้ว ศาสนาพุทธคือ “เครื่องมือ” ที่จะทำให้พระราชอำนาจมีความมั่นคงเข้มแข็ง พร้อมกับที่ช่วยเผยแผ่พระบรมราชนุภาพนั้นให้แผ่ไพศาล

ดังจะเห็นได้ว่าพระนามของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณจะมีความหมายเกี่ยวเนื่องด้วยศาสนาพุทธมาโดยตลอด เช่น พระมหาธรรมราชา ที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยก็มีอยู่ถึง 4 พระองค์ และในสมัยอยุธยาก็มีอีก2พระองค์ หรือพระบรมราชาธิราช ที่มีอีก 3 พระองค์ รวมถึงที่เป็นพระนามเรียกพระพุทธเจ้า อย่างเช่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือสมเด็จพระศรีสรรเพ็ชร เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นพระมหากษัตริย์ยังจะต้องเป็น “อัครนูปถัมภก” หรือได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เอาพระทัยใส่ในศาสนาพุทธอย่างโดดเด่น ทั้งการพระพฤติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างที่ดี ที่ไม่ใช่แค่บวชเรียนเป็นพระสงฆ์มาก่อนแล้ว ยังจะต้องมีความรู้และมีพระจริยวัตรอยู่ในศีลธรรมให้เพียบพร้อมอีกด้วย

ด้วยเหตุที่พระสงฆ์มีบทบาทและอิทธิพลในทางสังคมในหมู่คนไทยสูงมากดังกล่าว ทำให้ผู้ปกครองต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระสงฆ์ มองเผิน ๆ ก็คล้ายกับว่าพระสงฆ์นั้นจะมีฐานะสูงกว่าพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์ต้องกราบไหว้พระสงฆ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วพระมหากษัตริย์นั้นมีฐานะเหนือกว่าพระสงฆ์อยู่มาก เพราะสามารถที่จะแต่งตั้งและถอดถอนพระสงฆ์เข้าหรือออกจากตำแหน่งได้ รวมถึงที่ดินของวัดก็ถือว่าเป็นที่หลวงที่พระราชทานให้เป็นผาติกรรมหรือเพื่อประโยชน์ของสงฆ์ แต่ก็เหมือนพื้นที่อื่น ๆ ในราชอาณาจักรที่เป็นของ “พระเจ้าแผ่นดิน” ไปทั้งหมด รวมถึงความเป็น “เจ้าชีวิต” ที่พระมหากษัตริย์สามารถเอาผิดพระสงฆ์ เช่น จับพระสงฆ์มาเฆี่ยนตี จนกระทั่งให้สิ้นจากความเป็นสงฆ์ ที่เรียกว่า “สึกพระ” นั้นได้อีกด้วย

ตอนที่ขุนแผนไปทำศึกเชียงใหม่ เมื่อเดินทัพบุกไปถึงเมืองเชียงทอง เจ้าเมืองเชียงทองได้ส่งพระภิกษุออกไปหาขุนแผน โดยบอกว่าเป็นพระชั้น “สังฆราช” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าน่าจะเป็นตำแหน่งคล้าย ๆ กับ “หัวหน้าสงฆ์” แต่ไม่ใช่สังฆราชในความหมายปัจจุบัน ที่หมายถึงประมุขของพระสงฆ์ทั้งประเทศ นั่นก็แสดงว่าพระสงฆ์ในสมัยนั้นมีอิสระมาก และแยกการปกครองออกจากกันไปแต่ละภูมิภาค ซึ่งในสมัยโบราณก็คือเมืองในแว่นแคว้นต่าง ๆ นั่นเอง รวมถึงพระสงฆ์ในเมืองหลวงหรือในเมืองใหญ่ ๆ ก็จะมีการปกครองของพระสงฆ์แยกออกจากกันอีกด้วย โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อธิบายไว้ว่า

“ในสมัยอยุธยานั้น คำว่า สังฆราช มิได้แปลว่าประมุขสงฆ์ หรือหากว่าจะเป็นประมุขสงฆ์ ก็เป็นเฉพาะในจังหวัดหรือเมืองใดเมืองหนึ่งเท่านั้น ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการแต่งตั่งสังฆราชผู้เป็นประมุขของสงฆ์ทั้งปวงขึ้น แต่ก็ต้องเติมว่า สกลสังฆปรินายก เข้าไปข้างท้าย เพื่อให้เห็นว่าสังฆราชสมัยรัตนโกสินทร์นี้ แตกต่างกว่าสังฆราชที่เคยมีมาก่อน เพราะเป็นสกลสังฆปรินายก เป็นประมุขของสงฆ์โดยทั่วไปทั้งหมด”

กษัตริย์อยุธยาได้เข้ามาจัดระเบียบสงฆ์ให้เป็นระบบ โดยในระยะแรกแยกเป็น 2 ภูมิภาคใหญ่ ๆ คือ หนเหนือกับหนใต้ (“หน” มีความหมายเหมือนกันกับคำว่า “ทิศ” อย่างคำว่า ตำแหน่งแห่งหน หรือถนนหนทาง เป็นต้น) โดยให้สมเด็จพระวันรัตน์เป็นเจ้าคณะหนเหนือ และให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นเจ้าคณะหนใต้ ซึ่งก็คล้ายกันกับตำแหน่งขุนนางของฆราวาส ที่ให้สมุหนายกปกครองดินแดนทางภาคเหนือ และสมุหกลาโหมปกครองดินแดนทางภาคใต้ ด้วยการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและกำหนดให้พรสงฆ์มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ นี้ไปทั่วประเทศ ทำให้พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของพระมหากษัตริย์ไปทั้งหมดในที่สุด

แม้พระมหากษัตริย์จะเข้าควบคุมพระสงฆ์ไว้ในการปกครองของพระองค์ไว้ทั้งหมดทั่วประเทศแล้ว แต่ก็เป็นการควบคุมแต่ในทางกฎหมาย เพราะในความเป็นจริงพระสงฆ์ก็ยังมีอิสระอยู่มากเช่นเดิม เช่นเดียวกันกับพระราชอำนาจที่มีเหนือดินแดนแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่มีขึ้นมีลงตามพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ พระสงฆ์ก็ไม่ได้เชื่อฟังกษัตริย์อยุธยาไปเสียทั้งหมด บางยุคสมัยก็เคยมีพระสงฆ์คิดกบฏหรือไม่ยอมอยู่ใต้พระราชอำนาจ จนต้องให้ยกกองทหารไปปราบก็มี โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาในช่วงท้าย ๆ ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ 2ที่พระสงฆ์ในบางหัวเมืองคิดกระด้างกระเดื่อง อย่างเจ้าพระฝาง ที่พอพระเจ้าตากไล่พม่าออกพ้นแผ่นดินแล้ว ก็ต้องยกกำลังไปปราบ

ถ้าจะว่าไปแล้ว ศาสนาพุทธที่สถาปนาขึ้นได้อย่างมั่นคงในราชอาณาจักรไทย ก็ต้องนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาของพระมหากษัตริย์ไทยโดยแท้ เริ่มจากการปฏิรูปศาสนาพุทธครั้งแรกในสมัยพ่อขุนรามคำแหง สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยเจ้าพญาลิไทย แล้วพอมาถึงสมัยอยุธยาที่พยายามผสานศาสนาพุทธเข้ากับฮินดูและพราหมณ์ ก็เพื่อนสร้างความแข็งแกร่งและความยิ่งใหญ่ให้กับศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้ทั่วประเทศ จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรง “สังคายนา” หรือปฏิรูปสงฆ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้พรรณนาไว้อย่างน่าสนใจมาก

อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องขุนช้างขุนแผนโดยตรง แต่ก็เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครองของไทยเป็นอย่างมาก

************************